วันเสาร์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2561

อุตคริมนุสธรรม ของ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ตอน พระพุทธรูปคือองค์พระปฎิมา

                             พระพุทธรูปคือองค์พระพุทธปฏิมา
วันหนึ่งสมเด็จฯ ท่านไปในงานบ้านช่างหล่อ มีพระพุทธรูปตั้งอยู่ห่างทางเดินประมาณ ๒ ศอก ท่านก็ยกมือขึ้นนมัสการ พระที่เดินตามก็ต้องทำตามท่านบ้าง นายเทศ จึงถามว่า “พระพุทธรูปที่พึ่งหล่อเสร็จ ยังไม่ได้ทำพิธีเปิดพระเนตร เป็นพระพุทธปฏิมากรแล้วหรือขอรับ”
สมเด็จฯ ท่านตอบว่า
“เป็นจ้ะ เป็นตั้งแต่ผู้ทำหุ่นหล่อเป็นพระพุทธรูปแล้ว เพราะเขาตั้งใจหล่อให้เป็นพระพุทธรูปปฏิมากร แทนองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า สิ่งนั้นไม่ใช่อิฐ หิน ดิน หรือทองเหลืองต่อไปแล้ว เป็นอุเทสิกเจดีย์เป็นเจดีย์ที่อุทิศถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า...”

สุนัขพระโพธิสัตว์
สมเด็จฯ ท่านเคารพสัตว์ด้วย ท่านถือว่าสัตว์นั้นคือสัตว์ชั้นต่ำ มนุษย์นั้นคือสัตว์ชั้นสูงที่มีใจสูงกว่าสัตว์ เพราะรู้ดีรู้ชั่ว รู้บาปบุญคุณโทษ เวลาท่านจะเดิน เช่นหมากำลังนอนขวางทาง หรือนอนขวางบันไดอยู่ ท่านจะบอกว่า “ขอโทษ ขอฉันไปหน่อยนะจ๊ะ”

วันจันทร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

อุตตริมนุสธรรม ของ สมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) ตอน วิญญาณอยู่ที่ไหน



วิญญาณอยู่ที่ไหน

เจ้าภาพผู้เป็นบัณฑิต สอบถามสมเด็จต่อไปอีกว่า วิญญาณ มีหรือไม่ ถ้ามีวิญญาณอยู่ที่ไหน สมเด็จตอบว่า
“วิญญาณมีอยู่ในอากาศ ล่องลอยไปมาเหมือนฝุ่น ปลิวไปในอากาศ เหมือนเม็ดแมงลักแช่น้ำมันพร้อมที่จะผุดเกิดได้ทุกเวลานาที วิญญาณตัวเดียวนี้แหละเข้าท้องคนก็เกิดเป็นคน เข้าท้องหมาก็เกิดเป็นหมา เข้าท้องควายก็เกิดเป็นควาย เข้าท้องช้างก็เกิดเป็นช้าง เข้าท้องม้าก็เกิดเป็นม้า เข้าท้องลิงก็เกิดเป็นลิง พระพุทธเจ้าเคยเกิดเป็นสัตว์ต่างๆ มาทุกชนิด พระพุทธเจ้าเคยเกิดเป็นสุนัขมาแล้ว เคยเกิดเป็นลิงเคยเกิดเป็นช้างมาแล้ว จึงทรงเบื่อหน่ายการเกิดมาตายเวียนว่ายอยู่ในวัฏสงสาร จึงพากเพียรพยายามบำเพ็ญพระบารมี เพื่อเข้านิพพานบรมสุข ไม่ต้องมาเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป”
“แล้วทรงมีพระมหากรุณาแก่สัตว์อื่น ที่เกิดมาเวียนว่ายตายเกิดไม่สิ้นสุด จึงทรงพากเพียรพยายามเทศนาสั่งสอนให้คนบำเพ็ญเพียรพ้นทุกข์ไม่ต้องมาเกิดอีก คือบรรลุธรรมวิเศษเป็นพระอรหันต์เข้านิพพานบรมสุข จึงมีผู้ปฏิบัติตามจนได้เป็นพระอรหันต์นับพันนับหมื่นองค์ในสมัยนั้นมาจนทุกวันนี้ การเป็นพระอรหันต์การบรรลุพระนิพพาน จึงเป็นจุดหมายปลายทาง เรียกว่า มรรคผลนิพพานหรือโลกุตตรธรรม แปลว่า พ้นโลก เหนือโลก ลอยอยู่ในนภากาศประดุจดังดวงจันทร์ ดวงดาวทั้งหลายในนภากาศ แสนล้านปีก็ลอยคว้างอยู่ได้ในโกฏิจักรวาล นี้มีดวงดาวนับล้านดวง เป็นสิ่งมหัศจรรย์ของจักรวาล ที่เกิดเองเป็นเอง ไม่มีพระเจ้าองค์ใดสามารถสร้างหรือจัดระบบได้เลย...”
คำปุจฉา แปลว่า ถามปัญหา และคำวิสัชนา แปลว่า คำวินิจฉัยของสมเด็จกับเจ้านายนี้ ลึกซึ้งเกินไป เหลือกำลังปัญญาของไพร่บ้านธรรมดาจะจดจำมาเล่าขานกัน เป็นธรรมที่รู้กันในหมู่บัณฑิต จึงไม่เล่ากันในหมู่ชาวบ้านทั่วไป
ถึงจะมีใครนำมาเล่า ก็ไม่เป็นที่สนใจที่จะเงี่ยโสตสดับ หรือจดจำไว้ มันเกินปัญญาบารมีของปุถุชนคนทั่วไป ด้วยเป็นเรื่องห่างไกลจากชีวิตประจำวันของชาวบ้านธรรมดา
ชนชาติไทยเรา มาอยู่ในแผ่นดินที่อุดมสมบูรณ์ ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว จึงมีนิสัยรักแต่ความสะดวกสบาย ไม่ชอบคิดเรื่องลึกซึ้ง ไม่ชอบฟังเรื่องนามธรรมที่มองเห็นยาก คนไทยเราจึงหาคนที่เป็นนักคิด นักค้นคว้า นักการศาสนา นักปรัชญา นักวิทยาศาสตร์ ไม่ค่อยพบ รู้อะไรก็รู้ตามคำเขาว่า เป็นนักคัดลอก นักลักจำเสียมาก ไม่เหมือนชาวอินเดียว ชาวจีน แม้แต่เรื่องจิตวิญญาณที่สอนอยู่ในพุทธศาสนาก็ไม่ค่อยมีคนสนใจ


วันพฤหัสบดีที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2561

อุตตริมนสธรรม ของ สมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) ตอน กระต่ายดำ กระต่ายขาว

กระต่ายดำ กระต่ายขาว

ลูกศิษย์สมเด็จพระสังฆราชด่อน ที่ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ให้นั้น มีชื่อเสียงโด่งดังมากอยู่สององค์ องค์แรกบวชเมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๒ มีนามฉายาว่า โต พรหมรังสี องค์ที่สองบวชเมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๗ มีนามฉายาว่า วชิรญาณ คือ เจ้าฟ้ามงกุฎ พระภิกษุทั้งสององค์นี้เก่งคนละด้าน องค์แรกเก่งทางวิปัสสนา เป็นพระฝ่ายอรัญญวาสี เชี่ยวชาญทางสมถวิปัสสนา ถึงขนาดได้ญาณทัศนะเห็นได้ในที่ลี้ลับห่างไกล องค์ที่สองเก่งทางปริบัติ เก่งทางภาษาบาลี ภาษาอังกฤษ โหราศาสตร์ ดาราศาสตร์ แต่ทั้งคู่มีปฏิภาณไหวพริบเฉียบแหลม จึงต่างองค์ต่างนับถือกัน เรียกว่าปราชญ์รู้เชิงปราชญ์
เมื่อพระวชิรญาณ ตั้งคณะธรรมยุติกนิกายขึ้นเพื่อกุศโลบายอันลึกซึ้ง ๒ ประการ คือ ๑.เพื่อปฏิรูปพระพุทธศาสนาให้เรียบร้อยขึ้น ๒.เพื่อหาสมัครพรรคพวกทางการเมืองในการที่จะขึ้นครองราชสมบัติแบบพระพิมลธรรมในสมัยกรุงศรีอยุธยา ที่ขึ้นครองราชย์สมบัติเป็นพระเจ้าทรงธรรม มีคนเข้ามาถวายตัวเป็นศิษย์กันมาก เมื่อทราบว่าพระมหาโต เก่งมาก มีคนเคารพนับถือมาก จึงให้คนมานิมนต์พระมหาโตไปพบที่วัดสมอราย
“มีบุรุษสองคน เดินทางมาด้วยกัน ต่างคนต่างแบกปอมาพบผ้าไหมเข้า คนหนึ่งจึงทิ้งป่านปอที่แบกมาทอเป็นผู้นุ่งห่ม จึงทิ้งป่านปอนั้นลงเสีย เอาผ้าไหมไป อีกคนหนึ่งไม่ยอมทิ้งป่านปอ คงแบกปอต่อไป ท่านเห็นว่า คนแบกปอหรือคนแบกไหมใครฉลาดกว่า...”
พระจอมเกล้าหรือพระวชิรญาณ กล่าวเป็นปริศนาธรรม
มหาโต ฟังแล้วรู้เท่าทันว่า จะชักชวนเข้าบวชใหม่ในธรรมยุติกนิกาย จึงตอบเฉไฉว่า
“ยังมีกระต่ายสองตัว หากินอยู่ในป่าด้วยกัน ตัวหนึ่งขาว ตัวหนึ่งดำ วันหนึ่งกระต่ายขาวชักชวนกระต่ายดำว่า หญ้าฝั่งน้ำข้างโน้นมีมากกว่าฝั่งนี้ ควรว่ายน้ำข้ามฟากไปหากินฝั่งโน้นหญ้าอุดมสมบูรณ์กว่า กระต่ายดำไม่ยอมไป กระต่ายขาวจึงว่ายน้ำข้ามฝั่งไปหากินแต่ตัวเดียว ว่ายน้ำข้ามไปมาอยู่เสมอ วันหนึ่งเกิดลมพายุพัดจัด มีคลื่นลมปั่นป่วน พัดเอากระต่ายขาวจมน้ำตาย แต่กระต่ายดำยังอยู่ดี ฝ่าบาทลองทำนายดูว่ากระต่ายตัวไหนฉลาด...”
เรื่องก็จบลง ไม่มีการโต้ตอบกันไป มหาโต ก็คงอยู่ในคณะมหานิกายต่อมา ไม่ยอมเปลี่ยนนิกายจนกระทั่งมรณภาพ ในตำแหน่งพระราชาคณะชั้นสมเด็จพระพุฒาจารย์