วันพฤหัสบดีที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

อุตตริมนุสสธรรม ของ สมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) ตอน ชื่อวัน เดือน ปี มาจากไหน

ชื่อวัน เดือน ปี มาจากไหน
มีคนเป็นอันมาก มีความสงสัยว่า ชื่อ วัน เดือน ปี มาจากไหน ใครเป็นคนคิดตั้งไว้แต่แรกมาแต่ยุคใด สมัยใด จึงนับคล้ายคลึงกันทั้งโลก เช่นวันมี ๗ วัน เดือนมี ๑๒ เดือน ปีมี ๑๒ ปีดังนี้ แม้ว่าจะใช้ภาษาแตกต่างกัน เรื่องนี้สมเด็จท่านเทศนาให้ฟังอย่างละเอียด เมื่อคราวเทศน์เรื่อง ๑๒ นักษัตรที่ตำหนักสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ท่านเทศน์ไว้เป็นใจความว่า
“แท้ที่จริง การตั้งชื่อวัน เดือน ปี นักปราชญ์ผู้รู้วิชาโหราศาตร์แต่ต้นปฐมกาล ก่อนพุทธกาลนานเนกาเลมาแล้ว คือท่านเอาดวงดาวในห้วงเวหา มาตั้งชื่อ วัน เดือน ปี ที่เรียกว่านักษัตร (ภาษาสันสกฤต) ภาษาบาลีใช้ว่า นักขัต ที่ท่านใช้ว่านักขัตฤกษ์ หรือนักขัตมงคล หมายถึงดาวนักขัตฤกษ์บนท้องฟ้า

๑.วัน ท่านเอาดาวนพเคราะห์มาตั้งชื่อวัน เอามาเพียง ๗ วัน คือดาวอาทิตย์ ดาวจันทร์ ดาวอังคาร ดาวพุธ ดาวพฤหัสบดี ดาวศุกร์ ดาวเสาร์ เป็นชื่อวันทั้ง ๗ วัน เป็นหนึ่งสัปดาห์
๒.เดือน ท่านเอาดาวที่รวมกลุ่มกันในท้องฟ้านภากาศไกลออกไปกว่าดาวนพเคราะห์ มาตั้งชื่อตามรูปดาวที่รวมกลุ่มกันเป็นรูปต่างๆ คือ
- ดาวรูปแพะ เดือนเมษายน
- ดาวรูปโคผู้ เดือนพฤษภาคม
- ดาวรูปคนคู่ เดือนมิถุนายน
- ดาวรูปปูป่า เดือนกรกฎาคม
- ดาวรูปราชสีห์ เดือนสิงหาคม
- ดาวรูปสตรี เดือนกันยายน
- ดาวรูปตาชั่ง เดือนตุลาคม
- ดาวรูปแมงป่อง เดือนพฤศจิกายน
- ดาวรูปธนู เดือนธันวาคม
- ดาวรูปมังกร เดือนมกราคม
- ดาวรูปหม้อ เดือนกุมภาพันธ์
- ดาวรูปปลา เดือนมีนาคม

.ปี ท่านเอาดวงดาวในท้องฟ้าไกลออกไปอีก ที่จับกลุ่มกันอยู่เป็นรูปสัตว์มาตั้งชื่อปี คือ
- ดาวรูปหนู ปีชวด
- ดาวรูปวัวตัวผู้ ปีฉลู
- ดาวรูปเสือ ปีขาล
- ดาวรูปกระต่าย ปีเถาะ
- ดาวรูปนาค ปีมะโรง
- ดาวรูปงู ปีมะเส็ง
- ดาวรูปม้า ปีมะเมีย
- ดาวรูปแพะ ปีมะแม
- ดาวรูปลิง ปีวอก
- ดาวรูปไก่ ปีระกา
- ดาวรูปหมา ปีจอ
- ดาวรูปหมู ปีกุน
รวมดาว ๑๒ กลุ่ม ในท้องฟ้าที่ห่างไกลออกไป มองเห็นเป็นรูปสัตว์อะไร ท่านก็ตั้งชื่อตามรูปสัตว์นั้น แต่ภาษาเป็นภาษาเก่าโบราณมาก เป็นภาษาไทยเมื่อหลายพันปีมาแล้ว
๔.ดาวฤกษ์ คือเวลาตกฟากของคนที่เกิดมาแตกต่างกันไปด้วยอำนาจของดวงดาวในเวลาที่กรรมกำหนดมานั้น ท่านเอาดวงดาวในเวลาเกิดที่จับกลุ่มกัน มีดวงจันทร์ผ่านกลุ่มดาวฤกษ์นั้นไปในเวลาใด ท่านก็เอามาตั้งชื่อกลุ่มดาวนั้น บอกฤกษ์ยามในเวลาเกิด มี ๒๗ กลุ่ม เรียกชื่อตามภาษาบาลี ซึ่งเป็นภาษาโหร พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงเชี่ยวชาญในการคำนวณเวลาดาวฤกษ์อย่างละเอียดนี้ จนทรงทราบว่า พระจันทร์จะโคจรไปทับแสงพระอาทิตย์เวลาใด เห็นได้ในจุดใด จึงบอกเวลาว่า เวลา ๙ นาฬิกา จะเกิดสุริยุปราคา  (พระอาทิตย์มืด เพราะดวงจันทร์บัง) ในวันที่ ๑๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๑๑ ที่ตำบลหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นั่นคือการคำนวณฤกษ์พระจันทร์ผ่านดวงดาวในท้องฟ้าที่โหรเอามาบอกฤกษ์ยาม เป็นเรื่องละเอียดมาก คนธรรมดาไม่ได้เรียนไม่ทราบ
เรื่องนี้แสดงว่าสมเด็จท่านมีความรู้แตกฉานในคดีโลกคดีธรรม ท่านเทศน์ไว้ แต่ประชาชนชาวบ้านไม่ค่อยสนใจ หรือเกินปัญญาที่จะเรียนรู้ จึงเงียบงำไป ไม่ค่อยจดจำมาเล่ากันในเรื่องนี้เท่าไรนัก มักเล่ากันแต่เรื่องพื้นๆ ทั่วไป มิหนำซ้ำยังเรื่องตลกคะนองมาเล่ากัน จนมองว่าสมเด็จท่านเป็นพระแผลงๆ ไปเสีย เรื่องที่ดีไม่ค่อยเล่า เล่าแต่เรื่องตลกคะนอง เช่นเรื่องบอกใบ้ให้หวยนี่ชอบเล่ากันมาก
เรื่องที่ลึกซึ้งในทางวิชาการ หรือทางปรมัตถธรรม ไม่ค่อยมีคนเล่า หรือเล่าก็ไม่มีคนสนใจ เรื่องดีๆ จึงน่าจะสูญไปเสียมาก เพราะตลอดชีวิต ๘๕ ปี ที่ท่านเกิดมาบำเพ็ญบารมีในโลกนี้นั้น น่าจะมีเรื่องราวมากมาย
เล่าตามนิสัยคนเล่าคนเขียน
การเล่าเรื่องของสมเด็จนั้น มันสุดแล้วแต่คนเล่าจะมีทิฏฐิ (ความคิดเห็น) ศรัทธา (ความเชื่อถือ) ปัญญา (ความหยั่งรู้) อารมณ์ (ความรู้สึกรักชัง) นิสัย (ความเคยชิน) วิสัยทัศน์ (การมองโลกตามผลการศึกษาอบรมของคนนั้น) คงไม่เหมือนกัน การเขียนเรื่องของสมเด็จ คงแตกต่างกันด้วยจิตใจของคนเขียน)
๑.เขียนด้วยศรัทธาเลื่อมใส
๒.เขียนจากการศึกษาหาความรู้ แล้วร้อนวิชาอยากเขียนเรื่องที่ตนรู้
๓.เขียนเพื่ออวดรู้
๔.เขียนเพราะอยากดัง
๕.เขียนเพื่อขายหนังสือที่ตนเขียน
๖.เขียนเพื่อขายพระสมเด็จที่ตนมีอยู่
๗.เขียนเพื่อเผยแพร่ธรรมเป็นทาน
๘.เขียนเพื่อฝากชื่อเสียงไว้ในบรรณภพ
๙.เขียนเพราะอยากเขียน เป็นวาสนาตัดไม่ขาดของนักเขียน
คนที่เขียนเรื่องพระสมเด็จพระพุฒาจารย์ คงมีอยู่ ๙ ประการดังนี้
เรื่องสมเด็จพระพุฒาจารย์ จึงมีคนเขียนกันมาก ที่เคยอ่านคือของ “ตรียัมปวาย” นี่เขียนในแนวของคนเลื่อมใสพระสมเด็จ ของ “ฉันพิชัย” หรือคุณฉันทิชย์ กระแสร์สินธ์ นี่เขียนในเชิงประวัติ ของพระยาทิพโกศา (สอน โลหะนันท์) เขียนแบบเล่านิยาย พ.ต.ต.จำลอง มัลลิเกษตริน เขียในทางปาฏิหาริย์พระสมเด็จ น.ต.สันต์ ศุภศรี เขียนค้านดวงชะตาของกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์อาจจะไม่เคยพบดวงชะตา ปูมโหรโบราณ พระครูกัลยาณานุกูล เขียนแบบวิทยานิพนธ์ มีหลักฐานมั่นคงมากกว่าใคร
โดยเฉพาะของพระยาทิพโกศา ท่านเขียนจากรูปภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถวัดระฆังโฆสิตาราม และในอุโบสถวัดอินทรวิหาร หนังสือของท่านทำท่าว่าจะเป็นฉบับอ้างอิงได้ แต่แล้วก็เหลวไหล เพราะท่านอ้าง พ.ศ. ผิดมาก ตัวอย่างเช่น
ครั้นถึง ณ วันพุธ เดือน ๖ ปีวอก พ.ศ. ๒๓๑๙ นางงุด ปั่นป่วนครรภ์จนคลอดบุตร (คือสมเด็จ) นี่อ้างผิดอย่างฉกรรจ์ เพราะสมเด็จเพิ่งเกิดเมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ. ๒๓๓๑
“ปี พ.ศ. ๒๓๓๑ (จ.ศ. ๑๑๕๐) เด็กชายโต อายุได้ ๑๓ ขวบ  “สมควรที่จะทำการโกนจุกแล้ว” นี่อ้างผิดอีก เพราะ พ.ศ. ๒๓๓๑ นั้นสมเด็จท่านพึ่งลืมตาดูโลกอันอลวนนี้
“ปี พ.ศ. ๒๓๓๓ อายุสามเณรโตได้ ๑๕ ปี” นี่ก็อ้างผิดอีกตามเคย เพราะปี พ.ศ. ๒๓๓๓ สมเด็จท่านเพ่งอายุ ๒ ขวบเท่านั้น
นี่คือตัวอย่างที่อ้าง พ.ศ. ผิดพลาด แล้วสำนักพิมพ์แห่งหนึ่ง ไปคัดลอกเอามาทั้งดุ้น โดยมิได้สอบสวนให้แน่ ทำให้ผู้อ่านเข้าใจผิดกัน ในเรื่องที่เขียนไว้ผิดๆ นั้น จนเรื่องราวของสมเด็จพระพุฒาจารญ์โต ทำท่าจะเป็นเรื่องศรีธนญชัยไปเสีย เพียงแต่ผู้เขียนเพียรพยายามจะอ้างว่าสมเด็จเป็นพระราชบุตรของพระพุทธยอดฟ้าเท่านั้น
(โปรดติดตามตอนต่อไป)

วันพฤหัสบดีที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

อุตตริมนุสสธรรม ของ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ตอน สุนัขขัตตัง สุมังคะลัง

สุนักขัตตัง สุมังคะลัง
มีลูกศิษย์เจ้าปัญหา ถามว่าสุนักข์เป็นมงคลหรือ ได้ยินพระท่านสวดในงานมงคลว่า “สุนักขัตตัง สุมังคะลัง...”
สมเด็จตอบว่า เธอไม่รู้ภาษาบาลี ฉันจะแปลให้ฟัง ฟังเอาบุญนะจ๊ะ
“สุนักขัตตัง สุมังคะลัง (อันว่าดาวนักขัตฤกษ์ทั้งปวงในท้องฟ้านภากาศ ที่นับถือบูชาว่าเป็นมงคลนั้น ก็ดี)
สุปะภาตัง สุหุฏฐิตัง (อันว่าการบูชาไฟแด่พระเจ้าให้สว่างอยู่ ก็ดี)
สุขะโณ สุมุหุตโต จะ (อันว่าการบูชาไฟให้ลุกสว่างอยู่ทุกขณะไม่ให้ไฟดับเลยก็ดี)
สุยิฏฐัง พรัหมะจาริสุ (อันว่าการบูชาพระอรหันต์ผู้อยู่จบพรหมจรรย์ทั้งหลาย)
ปะทักขิณัง กายะกัมมัง (การกระทำประทักษิณด้วยกายกรรม คือเดินวนขวา ๓ รอบ)
วาจากัมมัง ปะทักขิณัง (การประทักษิณด้วยวาจากรรม คือการสวดพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ ไปในขณะเดินเวียนขวาก็ดี)
ปะทักขิณัง มโนกัมมัง (การกระทำประทักษิณด้วยมโนกรรมคือการส่งใจไปจดจ้องเคารพท่านก็ดี)
ปะณิธี เต ปะทักขิณา (ย่อมได้รับผลอันประณีตตามที่ตั้งจิตปรารถนาในการกระทำประทักษิณนั้น)
ปะทักขิณานิ กัตวานะ (การกระทำประทักษิณทั้ง ๓ ประการนี้)
ละภันตัตเถ ปะทักขิเณฯ” (ย่อมได้รับผลจากการกระทำประทักษิณทั้งหลายเหล่านี้)
การกระทำประทักษิณ คือการเดินวนขวา ๓ รอบ ในท่านผู้ที่เคารพแม้ในมิตรสหาย แม้ในภรรยา เช่นชูชกเดินประทักษิณนางอมิตดาเมื่อจะจากไปในป่า เพื่อขอสองกุมาร ชูชกเดินวนสามรอบนางอมิตดา ว่าจะเกิดการสวัสดีแก่ทั้งผู้อยู่และผู้จากไป
ในการเดินวนขวาสามรอบนั้น ท่านให้สำรวมกาย, สำรวมวาจา, สำรวมใจ, สังวรระวัง
ในรอบแรก ให้สวดพระพุทธคุณ ๕๖ (อิติปิโสฯ)
ในรอบที่สอง ให้สวดพระธรรมคุณ ๓๘ (สวากขาโตฯ)
ในรอบสาม ให้สวดพระสังฆคุณ ๑๔ (สุปฏิปันโนฯ)
รวมเป็นคุณพระรัตนตรัย ๑๐๘ ท่านจึงให้สวมพระประคำ ๑๐๘ ลูก หมายถึงสามพระรัตนตรัย ว่าอิติปิโส ๑๐๘ คาบ ท่านหมายถึงประทักษิณ ๓ รอบนี้เอง ท่านนิมนต์พระมาสวดพระพุทธคุณก็ต้องมีพระ ๑๐๘ องค์ นี่แบบโบราณแท้

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

วันพฤหัสบดีที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

อุตตริมนุสสธรรม ของ สมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) ตอน ชยันโต แปลว่าอะไร

ชยันโต แปลว่าอะไร
ยังมีเจ้านายองค์หนึ่งพระนามอันใดมิได้แจ้ง นิมนต์สมเด็จไปในงานมงคลที่วัง สมเด็จจึงสวดชยันโตเป็นการอวยชัยให้พร ตามธรรมเนียมที่เคยปฏิบัติมาแต่ไหนแต่ไร ไม่มีใครสงสัยสอบถามเลย แต่เมื่อจะกลับ เจ้านายองค์นั้นท่านกลับถามว่า สวดชยันโตนี่มีความหมายว่าอย่างไร สวดมาแต่สมัยพระพุทธเจ้าหรือสวดในสมัยใด มีความหมายว่าอย่างไร
สมเด็จท่านเก่งภาษาบาลีอยู่แล้ว ท่านจึงตอบทันที
“ชะยันโต โพธิยา มูเล (อันว่าชัยชนะพญามารและเสนามารของสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าที่โคนต้นโพธิ์ ในคืนวันตรัสรู้)
สักยานัง นันทิวัฑฒะโน (ทำให้กษัตริย์ศากยวงศ์ทั้งหลาย พากันยินดีปราโมทย์ทั่วหน้าแผ่กว้างไป)
เอวัง ตวัง วิชะโย โหหิ (ชัยชนะในครั้งนั้น เป็นชัยชนะที่รุ่งเรือง)
ชะยัสสุ ชะยะมังคะเล (ชัยชนะที่เกิดขึ้น เป็นชัยชนะที่เกิดมงคลมาก)
อะปะราชิตะปัลลังเก (เป็นชัยชนะบนบัลลังก์กษัตริย์ที่ไม่มีพ่ายแพ้ในภายหลัง)
สีเส ปะฐะวิโปกขะเร (เป็นชัยชนะเหนือแผ่นดินแผ่นน้ำในใต้หล้า)
อะภิเสเก สัพพะพุทธานัง (เป็นชัยชนะที่ปรมาภิเศกสัมโพธิญาณให้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า)
 อัคคัปปัตโต ปะโมทะติฯ” (อันควรแก่การอนุโมทนาและยินดีปราโมทย์อย่างยิ่ง)
เป็นพระคาถาสดุดีชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของพระพุทธเจ้า ที่พระอรหันต์ท่านกล่าวสรรเสริญชัยชนะครั้งนี้ว่า ถ้าไม่มีชัยชนะครั้งนี้แล้ว ย่อมไม่มีพระพุทธรัตนะ ไม่มีพระธรรมรัตตะ ไม่มีพระสังฆรัตนะ ไม่มีพระพุทธศาสนามาให้เราเคารพกราบไหว้เป็นที่พึ่งกันเลย ท่านจึงนำมาสวดในงานมงคลที่เจ้าภาพปรารถนาเอามิ่งมงคล มีชัยชนะอมนุษย์และมนุษย์ทั้งหลาย ไม่ต้องพ่ายแพ้ในภายหลัง
(โปรดติดตามตอนต่อไป) 


วันพฤหัสบดีที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

อุตตรืมนุสสธรรมของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ตอนพระประพรมน้ำมนต์ให้ทหารไปทำสงคราม

พระประพรมน้ำมนต์ให้ทหารไปทำสงคราม
ในสมัยรัชกาลที่ ๓ มีการส่งกองทัพไปรบกับญวนในประเทศเขมร ทางราชการนิมนต์พระสงฆ์ไปประพรมน้ำมนต์แก่ทหารที่ไปทำสงคราม พอถึงรัชกาลที่ ๕ ก็ส่งกองทัพไปปราบฮ่อ จึงมีคนเจ้าปัญหาไปปุจฉาสมเด็จพระพุฒาจารย์ว่า ผิดศีลหรือไม่ เพราะเท่ากับไปแสดงความประสงค์ที่จะให้ทหารไปฆ่าคนในสงคราม
สมเด็จฯ ท่านย้อนถามว่า ถ้าข้าศึกมารุกราน ทำลายชาติ ชาติจะตั้งอยู่ได้หรือไม่ ถ้าข้าศึกมาทำลายล้างศาสนา พระสงฆ์จะอยู่ได้หรือไม่ ทหารที่ไปทำสงคราม เพื่อป้องกันชาติ ป้องกันพระพุทธศาสนา พระสงฆ์จึงต้องเอาใจช่วยให้ทหารไปรบเพื่อป้องกันชาติ ปกป้องพระพุทธศาสนา ให้มีชาติ ให้มีพระศาสนาอยู่สืบไป พระไม่ได้ไปในกองทัพเพื่อช่วยทหารรบ ไม่ได้ถืออาวุธเข้ารบ จึงไม่ผิดศีลข้อไหนเลย พระพุทธเจ้าตรัสไม่ให้พระไปในกองทัพเกิน ๓ วันเท่านั้น การประพรมน้ำมนต์น้ำพรให้ทหาร เป็นการอวยพรให้ไปโดยสวัสดี ปลอดภัยในสงครามเท่านั้น ในการสงคราม พระราชาอาจเกณฑ์พระสงฆ์ที่ยังหนุ่มแน่นให้สึกออกมาเป็นทหารไปรบได้ด้วย
ทหารที่ไปรับถ้าถอยทัพจะถูกแม่ทัพฆ่าทันที แม่ทัพที่ไม่กล้าสั่งฆ่าคนนั้นเป็นแม่ทัพไม่ได้ เพราะกองทัพจะอ่อนแอ พ่ายแพ้แก่ข้าศึก พระมหาราชาธิราชที่สามารถรักษาพระราชอาณาจักรไว้ได้ จึงต้องเข้มแข็ง สั่งฆ่าคนได้ เพราะการสงคราม ไม่มีคำว่าบาป หรือบุญ เป็นการทำหน้าที่รักษาชาติ รักษาพระศาสนา ไม่มีเจตนาฆ่าคน แต่ทำลายข้าศึกให้พ่ายแพ้ เพื่อความอยู่รอดของชาติ ศาสนา การฆ่าคนที่ถือว่ามีบาปนั้นคือต้องมีเจตนาฆ่าเขาให้ตาย
การสวดชยันโต คือการอวยชัยให้มีชัยชนะแก่ข้าศึก ไม่ใช่การยุยงให้ทหารไปฆ่าคนให้ตาย
เมื่อกรุงเก่าแตกสลายนั้น ทหารพม่าเผาวัง เผาวัด เผาพระพุทธรูปทองลอกเอาทองไป ขนเอาพระพุทธรูป เทวรูปไปเมืองพม่ามากมาย อยากเป็นอย่างนั้นอีกหนไหมเล่า

(โปรดติดตามตอนต่อไป)