วันพฤหัสบดีที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2559

อุตตริมนุสสธรรม ของ สมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) ตอน โอมพิจารณา มหาพิจารณา


โอมพิจารณา มหาพิจารณา
ในสมัยรัชกาลที่ ๔ สมเด็จพระพุฒาจารย์ ก็ประพฤติเป็นเทวทูตเตือนใจพระจอมเกล้าฯ มาแล้วหลายครั้งหลายหน พอตกมาถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นใหญ่ในแผ่นดิน มีอิทธิพลครอบคลุมแผ่นดินอยู่ จนเจ้านายขุนนางเกรงกลัวกันทั่วบ้านทั่วเมือง ไม่มีใครกล้าทัดทานได้ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ท่านก็กระทำตัวเป็นอินแปลงมาแสดงตัวเตือนสมเด็จเจ้าพระยาผู้สำเร็จราชการแผ่นดินอยู่เนืองๆ ท่านคอยปกป้องคุ้มครองราชย์บัลลังก์มาโดยตลอด เช่นการจุดไต้กลางวันแสกๆ ไปที่ตำหนักของผู้สำเร็จราชการ แล้วกล่าวว่า
“เขาเลื่องลือกันอื้ออึงนักว่า บ้านเมืองมืดมน จะมีผู้คิดร้ายต่อแผ่นดิน จึงมาถามท่านเจ้าคุณว่าข้อเท็จจริงประการใด ถ้าจริงก็ขอบิณฑบาตรเขาเสีย...”
สมเด็จเจ้าพระยาท่านก็เป็นคนฉลาดมาก มีสติปัญญาสูง เรียกว่าปราชญ์ย่อมรู้เชิงปราชญ์ จึงตอบว่า
“ตราบใดที่กระผมยังอยู่ จะไม่ยอมให้บ้านเมืองมืดมนเป็นอันขาด ขอให้เจ้าคุณเบาใจได้...”
“เมื่อเจ้าคุณรับรองดังนี้แล้ว อาตมาก็เชื่อ จึงขอลากลับไปก่อน”
การกระทำของสมเด็จพระพุฒจารย์โตคราวนี้ได้ผลอย่างไพศาล
๑.ทำให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ปฏิญาณตนกับพระ ว่าจะไม่คิดร้ายต่อแผ่นดิน ถ้าท่านเสียสัจวาจาก็จะเสียคนไปเลย
๒.เป็นการให้คำรับรองว่า ท่านมีความซื่อสัตย์จงรักภักดีต่อพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕
๓.เป็นการระงับข่าวลือข่าวร้ายลงเสียได้ บรรดาเจ้านายขุนนางก็สบายใจว่าจะไม่มีการผลัดแผ่นดิน ไม่เกิดฆ่ากันในบ้านเมือง
คราวหนึ่ง สมเด็จเจ้าพระยา ท่านนิมนต์สมเด็จพระพุฒาจารย์ไปเทศน์ ขอให้เทศน์เรื่องการประพฤติของผู้เป็นใหญ่ในบ้านเมือง ว่าสมควรจะยึดถืออะไรเป็นหลักใหญ่ที่สุด
สมเด็จฯ ท่านก็เทศน์ว่า
“โอมพิจารณา มหาพิจารณา” ท่านว่าย้ำซ้ำอยู่อย่างนั้น
สมเด็จเจ้าพระยาฯ จึงพูดว่า ขอให้อธิบายขยายความต่อไปให้แจ่มแจ้งด้วย
“การของบ้านเมืองก็ดี การของโลกก็ดี การของพระศาสนาก็ดี การของชาติก็ดี ที่จะกระทำให้เกิดผลดีในปัจจุบัน เกิดผลดีในอนาคต สำเร็จเรียบร้อยดีงามแก่ผู้คนพลเมือง ให้ได้รับความร่มเย็นเป็นสุขแก่ปวงชนทั่วหน้า จะต้องพิจารณาเป็นขั้นเป็นตอน ทั้งิจการน้อยใหญ่ทั้งปวง พิจารณาขั้นต้น พิจารณาขั้นกลาง พิจารณาขั้นสุดท้าย ก่อนจะทำลงไปว่าจะเกิดผลอย่างไร จะแก้ไขอย่างไร พิจารณาให้ละเอียดถี่ถ้วนลึกซึ้ง รอบคอบ รอบด้าน อย่าคิดดีดลูกคิดรางแก้วเอาแต่ผลได้ฝ่ายเดียว ต้องคิดถึงผลเสียที่จะเกิดตามมาด้วย เหมือนเดินหมากรุก จะกินม้า ต้องดูตาเรือ จะกินเรือ ต้องดูตาขุน ที่ท่านว่าต้องดูตาม้าตาเรือจึงจะชนะ ถ้าเดินผิด จะต้องเสียม้า เสียเรือ เสียขุนไป...”

(โปรดติดตามตอนต่อไป) 

วันพฤหัสบดีที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2559

อุตตริมนุสสธรรมของ สมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) ตอน ผู้ไหว้ย่อมได้รับไหว้ตอบ


ผู้ไหว้ย่อมได้รับไหว้ตอบ
ธรรมวินัยในพระภิกษุสงฆ์นั้น ผู้เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา ไม่ได้ถือชาติตระกูล ไม่ให้ถืออายุ ไม่ให้ถือคุณวุฒิ ซึ่งเป็นสิ่งภายใน มิปรากฏภายนอก ใครเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา เสมอเหมือนกันหมด แต่ให้ถือพรรษา คือแต่ก่อนวันเวลาบวชก่อนหลังกัน เมื่อพบกันให้ถามพรรษากัน ผู้อ่อนพรรษากว่าจะต้องไหว้ผู้มีพรรษาแก่กว่า ถ้าบวชพรรษาเดียวกัน ก็ต้องถามเดือนที่บวชว่าใครบวชก่อนเดือนกว่า ถ้าเดือนเดียวกันให้ถามกันว่าใครบวชก่อนกี่วัน ถ้าบวชวันเดียวกัน ก็ให้ถือว่าใครรับศีลสิกขาก่อนกัน เรื่องนี้จึงมีเรื่องเมื่อพระพุทธเลิศหล้าฯ ทรงผนวชพร้อมด้วยบุตรพระเจ้าพี่นางกรมพระยาเทพสุดาวดี พระพุทธยอดฟ้าฯ ทรงให้พระพุทธเลศหล้าฯ รับศีลสิกขาบทก่อน สมเด็จพระพี่นางก็เอ็ดตะโรอยู่ในม่านว่า จะให้น้องบวชก่อนพี่ได้อย่างไร พระพุทธยอดฟ้าจึงยินยอมให้บุตรพระพี่นางบวชก่อน ตรัสว่า เรามาเป็นเจ้านายเมื่อแก่แล้ว อย่าถือธรรมเนียมเจ้านายเลย ให้ถือธรรมเนียมไพร่เถิด
เล่ากันว่าคราวหนึ่ง พระอุปัชฌาย์เดช มาแต่เมืองสิงห์บุรี มาหาท่านสมเด็จที่วัดระฆัง มาถึงก็กราบสมเด็จก่อน โดยมิได้ถามอายุพรรษา สมเด็จท่านก็ก้มลงกราบมั่ง
พระอุปัชฌาย์เดช จึงถามว่า ทำไมท่านมาทำอย่างนี้
สมเด็จตอบว่า วันทะโก ปะฏิวันทะนัง ผู้ไหว้ท่านย่อมได้รับการไหว้ตอบ ผู้กราบท่านย่อมต้องได้รับกราบตอบ

(โปรดติดตามตอนต่อไป)