วันพฤหัสบดีที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2561

อุตตริมนสธรรม ของ สมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) ตอน กระต่ายดำ กระต่ายขาว

กระต่ายดำ กระต่ายขาว

ลูกศิษย์สมเด็จพระสังฆราชด่อน ที่ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ให้นั้น มีชื่อเสียงโด่งดังมากอยู่สององค์ องค์แรกบวชเมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๒ มีนามฉายาว่า โต พรหมรังสี องค์ที่สองบวชเมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๗ มีนามฉายาว่า วชิรญาณ คือ เจ้าฟ้ามงกุฎ พระภิกษุทั้งสององค์นี้เก่งคนละด้าน องค์แรกเก่งทางวิปัสสนา เป็นพระฝ่ายอรัญญวาสี เชี่ยวชาญทางสมถวิปัสสนา ถึงขนาดได้ญาณทัศนะเห็นได้ในที่ลี้ลับห่างไกล องค์ที่สองเก่งทางปริบัติ เก่งทางภาษาบาลี ภาษาอังกฤษ โหราศาสตร์ ดาราศาสตร์ แต่ทั้งคู่มีปฏิภาณไหวพริบเฉียบแหลม จึงต่างองค์ต่างนับถือกัน เรียกว่าปราชญ์รู้เชิงปราชญ์
เมื่อพระวชิรญาณ ตั้งคณะธรรมยุติกนิกายขึ้นเพื่อกุศโลบายอันลึกซึ้ง ๒ ประการ คือ ๑.เพื่อปฏิรูปพระพุทธศาสนาให้เรียบร้อยขึ้น ๒.เพื่อหาสมัครพรรคพวกทางการเมืองในการที่จะขึ้นครองราชสมบัติแบบพระพิมลธรรมในสมัยกรุงศรีอยุธยา ที่ขึ้นครองราชย์สมบัติเป็นพระเจ้าทรงธรรม มีคนเข้ามาถวายตัวเป็นศิษย์กันมาก เมื่อทราบว่าพระมหาโต เก่งมาก มีคนเคารพนับถือมาก จึงให้คนมานิมนต์พระมหาโตไปพบที่วัดสมอราย
“มีบุรุษสองคน เดินทางมาด้วยกัน ต่างคนต่างแบกปอมาพบผ้าไหมเข้า คนหนึ่งจึงทิ้งป่านปอที่แบกมาทอเป็นผู้นุ่งห่ม จึงทิ้งป่านปอนั้นลงเสีย เอาผ้าไหมไป อีกคนหนึ่งไม่ยอมทิ้งป่านปอ คงแบกปอต่อไป ท่านเห็นว่า คนแบกปอหรือคนแบกไหมใครฉลาดกว่า...”
พระจอมเกล้าหรือพระวชิรญาณ กล่าวเป็นปริศนาธรรม
มหาโต ฟังแล้วรู้เท่าทันว่า จะชักชวนเข้าบวชใหม่ในธรรมยุติกนิกาย จึงตอบเฉไฉว่า
“ยังมีกระต่ายสองตัว หากินอยู่ในป่าด้วยกัน ตัวหนึ่งขาว ตัวหนึ่งดำ วันหนึ่งกระต่ายขาวชักชวนกระต่ายดำว่า หญ้าฝั่งน้ำข้างโน้นมีมากกว่าฝั่งนี้ ควรว่ายน้ำข้ามฟากไปหากินฝั่งโน้นหญ้าอุดมสมบูรณ์กว่า กระต่ายดำไม่ยอมไป กระต่ายขาวจึงว่ายน้ำข้ามฝั่งไปหากินแต่ตัวเดียว ว่ายน้ำข้ามไปมาอยู่เสมอ วันหนึ่งเกิดลมพายุพัดจัด มีคลื่นลมปั่นป่วน พัดเอากระต่ายขาวจมน้ำตาย แต่กระต่ายดำยังอยู่ดี ฝ่าบาทลองทำนายดูว่ากระต่ายตัวไหนฉลาด...”
เรื่องก็จบลง ไม่มีการโต้ตอบกันไป มหาโต ก็คงอยู่ในคณะมหานิกายต่อมา ไม่ยอมเปลี่ยนนิกายจนกระทั่งมรณภาพ ในตำแหน่งพระราชาคณะชั้นสมเด็จพระพุฒาจารย์


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น