วันพุธที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

อุตตริมนุสธรรม ของ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ตอน บิณฑบาตในสระวัดปทุมวนาราม


บิณฑบาตในสระวัดปทุมวนาราม
เมื่อพระจอมเกล้าฯ สร้างวังปทุมวนารามและวัดปทุมวนารามเสร็จลงแล้ว โปรดให้ขุดสระใหญ่ตักน้ำจากคลองแสนแสบที่พระนั่งเกล้าฯ ทรงขุดไปเมืองฉะเชิงเทรายาวหลายกิโลเมตร เอาน้ำเข้ามาในสระแล้วปลูกบัวสวยงาม  คราวหนึ่งทรงตรัสสั่งให้นิมนต์พระเถระผู้ใหญ่ชั้นราชาคณะมารับบิณฑบาตในสระนั้น  พระต้องพายเรือบดเข้ามาในสระ เข้ารับภัตตาหารบิณฑบาต สมเด็จฯ ได้รับหมายสังฆการีให้นิมนต์มาด้วยพระเถระผู้ชราภาพ ต้องพายเรือเข้ารับบิณฑบาตในสระปทุมนั้น  สมเด็จฯ ท่านก็คิดการสั่งสอนธรรมะแก่พระราชาอีก ท่านจึงรับอาหารบิณฑบาตแล้วก็ยังพายเรือวนมาอีก มาจอดอยู่ใกล้ที่ที่ทรงบาตร เอาใบพายขึ้นบังศีรษะพระเถระเหล่านั้น แล้วพูดว่า
“ผมบังแดดให้ นะจ๊ะ”
พระจอมเกล้าฯ ทอดพระเนตรเห็นแล้ว ตรัสถามว่า
“เขาตักบาตรให้แล้ว ทำไมจึงยังไม่กลับไป...”
สมเด็จทูลตอบว่า
“อาตมากลัวว่าพระชราภาพเหล่านี้ จะมาตกน้ำตาย จึงคอยมาช่วย...”
นับแต่วันนั้นมา พระจอมเกล้าฯ จึงงดตักบาตรในสระวัดปทุมวนารามสืบต่อมา
เรื่องนี้จะเห็นว่าสมเด็จท่านเตือนสติพระราชาได้อย่างแยบคายมากนักหนา ไม่มีคนอื่นพระอื่นมีปัญญาทำได้อย่างท่าน ถึงจะมีปัญญาก็ขาดความกล้าหาญทัดทานพระราชา
(โปรดติดตามตอนต่อไป)

วันพฤหัสบดีที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

อุตตริมนุสสธรรม ของ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ตอน การวิวาห์กันในวงศ์ญาติ

การวิวาห์กันในวงศ์ญาติ
มูลเหตุการณ์เทศน์เรื่องวงศ์ของพระพุทธเจ้าวิวาห์กันในวงศ์ญาตินี้ สมเด็จฯ เทศน์ยังไม่ทันจบ ก็ถูกไล่ลงธรรมาสน์เสียก่อน จึงไม่ทราบจุดประสงค์ที่ท่านต้องการจะสอนธรรมแก่พระราชา  เราจึงควรหามูลเหตุว่าเทศน์ทำไม
ประเพณีเรื่องแต่งงานกันในวงศ์ญาตินี้ เป็นธรรมเนียมพราหมณ์ กษัตริย์วงศ์โคตมะของพระพุทธเจ้านับถือศาสนาพราหมณ์ทำก่อนจึงปฏิบัติตามมานานแล้ว เป็นธรรมเนียมที่ถือวรรณะนั้นเอง
แต่พระพุทธเจ้าทรงปฏิเสธธรรมเนียมถือวรรณะนี้แล้ว คือให้ทุกวรรณะมาบวชได้เสมอกัน วรรณะศูทรบวชก่อน วรรณะพราหมณ์ วรรณะกษัตริย์บวชทีหลัง ต้องไหว้พระในวรรณะศูทร วรรณะจัณฑาล  การวิวาห์กันในวรรณะกษัตริย์จึงผิดธรรมเนียมพุทธ และทำให้วงศ์กษัตริย์สูญวงศ์ได้ ดังวงศ์โคตมะของพระพุทธเจ้า พระเจ้าวิฑูทภะ มาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เสียหมด เพราะพระเจ้าวิฑูทภะ เป็นบุตรนางทาสีได้รับการดูหมิ่นจากวงศ์โคตมะ

สมเด็จฯ ท่านเป็นคนหัวก้าวหน้าในทุกเรื่อง ท่านคงประสงค์จะสอนธรรมะข้อนี้แก่พระจอมเกล้าฯ แต่ว่าเทศน์ยังไม่จบใจความก็มาถูกไล่ลงจากธรรมาสน์เสียก่อน
(โปรดติดตามตอนต่อไป)

วันพฤหัสบดีที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

อุตตริมนุสสธรรม ของ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ตอน วัดเทพธิดา - วัดราชนัดดา

วัดเทพธิดา-วัดราชนัดดา
วัดเทพธิดานั้น กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ พระราชธิดาของพระนั่งเกล้าฯ กับเจ้าจอมมารดานาง ธิดาพระยาไกรโกษา (บุญมี ไกรบุญ) สร้างวัดพระเจ้าตาของพระยาไกรโกษา (บุญมี ไกรบุญ) สร้างไว้ก่อนเรียกว่าวัดสวนหลวงพระยาไกรโกษา สร้างใหม่แล้วถวายพระราชกุศล ยกเป็นพระอารามหลวง พระราชทานนามว่า วัดเทพธิดา เมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๕
ต่อมาพระองค์ชายลักขณานุคุณ พระเจ้าลูกเธอในรัชกาลที่ ๓ สิ้นพระชนม์ลง มีพระราชนัดดาอันเกิดจากพระองค์เจ้าลักขณานุคุณองค์หนึ่งชื่อ พระองค์เจ้าโสมนัส
พระนั่งเกล้าฯ จึงใช้มรดกของพระองค์เจ้าลักขณานุคุณสร้างวัดถวายไว้พระราชทานนามว่า วัดราชนัดดา  คนที่ทราบเรื่องจึงเรียกวัดทั้งสองนี้ว่า วัดอา วัดหลาน
ในสมัยนั้นสมเด็จฯ ยังไม่ได้เป็นพระราชาคณะ แต่มีชื่อเสียงดังอยู่แล้วทางสมถวิปัสสนา เมื่อฉลองวัด จึงนิมนต์มาทำพิธีพุทธาภิเษกพระเครื่อง เรียกว่า พระเครื่องวัดราชนัดดา ลงรักปิดทองติดแผงไม้ประดับหน้าบันโบสถ์  หลายปีต่อมาคนไปเอาแผงพระลงมาล้างเอารักออก ขายเป็นพระสมเด็จวัดระฆังเพราะมีรูปทรงอย่างเดียวกัน เนื้ออย่างเดียวกันกับวัดระฆัง เวลานี้เล่นกันในวงนักเลงพระเครื่องว่าสมเด็จวัดพระระฆัง สวยงามมาก
(โปรดติดตามตอนต่อไป) 

วันพฤหัสบดีที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

อุตตริมนุสสธรรม ของ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต ) ตอน วงศ์อสัญแดหวา

วงศ์อสัญแดหวา
ในประเทศอินเดียสมัยโบราณนั้น แบ่งชั้นคนออกเป็น ๕ วรรณะ ตามอาชีพการงาน คือพราหมณ์ เป็นชนชั้นครูบาอาจารย์ กษัตริย์ เป็นชนชั้นนักรบ นักปกครองบ้านเมือง แพศย์ ชนชั้นช่างฝีมือ ศูทร ชนชั้นกรรมกรรับจ้าง จัณฑาล ชนชั้นต่ำสุดในสังคม  พวกพราหมณ์และกษัตริย์ จะแต่งงานกับคนชั้นต่ำไม่ได้ ถือว่าเป็นจัญไรเห็นหน้าจัณฑาลยังถือว่าซวย คนจัณฑาลมานอนตายหน้าบ้าน ถือว่าซวยไปทั้งหมู่บ้าน กษัตริย์ต้องวิวาห์กันอยู่ในวงศ์กษัตริย์เท่านั้น  ธรรมเนียมนี้นับถือติดต่อกันมาถึงเมืองไทย แต่เจ้าชายยังวิวาห์กับหญิงสาวลูกจ้าวนายขุนนางได้ ส่วนเจ้าหญิงต้องอยู่เป็นโสดไปตลอดชาติแต่งงานไม่ได้กับชนชั้นสามัญ แต่งได้แต่ในวงศ์กษัตริย์ด้วยกัน
พระพุทธเลิศหล้าฯ สมรสกับเจ้าหญิงบุญรอด ธิดาพระพี่นางของพระพุทธยอดฟ้า สมรสกับเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี ธิดาเจ้าหญิงทองสุก ธิดาพระเจ้ากรุงเวียงจันทน์ อย่างนี้เป็นต้น อย่างต่ำก็แต่งกับเจ้าจอมเรียมธิดาพระยานนทบุรี เจ้าเมืองนนทบุรี นี่คือตัวอย่าง
ตกมาถึงพระจอมเกล้าฯ ครองราชย์สมบัติ จึงมีเจ้านายขุนนางถวายบุตรธิดาเป็นพระสนมกรมในกัน คือพระญาติวงศ์ถวายพระองค์เจ้าโสมนัส พระธิดาของพระองค์เจ้าลักขณะนุคุณ เป็นพระชายา แต่มาสิ้นพระชนม์เสียเมื่อประสูติพระโอรสองค์แรก ต่อมาพระญาติวงศ์ก็ถวายพระองค์เจ้ารำเพยภมราภิรมย์ พระธิดาของกรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ เป็นพระอัครชายาองค์ที่สอง ก็มาสิ้นพระชนม์ลงอีกเมื่อวัยสาว
เมื่อพระเทพกวีเข้าไปเทศน์ในวัง ท่านคงจะเทศน์เตือนสติพระจอมเกล้าฯ จึงเทศน์ใจความว่า
วงศ์กษัตริย์ของพระพุทธเจ้า เมื่อตั้งกรุงกบิลพัสดุ์แล้ว ก็อภิเษกกันอยู่ในวงศ์ญาติตามธรรมเนียมพราหมณ์ ถือว่าอสัมภิพงศ์ วงศ์ไม่แตกแยก บริสุทธิ์ไม่เจือไพร่  ธรรมเนียมนี้ก็เผยแพร่มาถึงเมืองไทยด้วย เอาพี่เอาน้องมาอภิเษกสมรสกันเป็นธรรมเนียมต่อมา...ธรรมเนียมนี้สืบเนื่องมาจากธรรมเนียมพราหมณ์...
พระจอมเกล้าฯ ไม่พอพระทัยมาก
“ไปให้พ้นจากพระราชอาณาจักร ไม่ให้อยู่ในดินแดนของข้า ไปให้พ้น...”
ตอนนั้นสมเด็จฯ ยังเป็นพระเทพกวี อายุพรรษา ๖๕ ปี แก่กว่าสมเด็จพระจอมเกล้า ๑๖ ปี  เมื่อพระเจ้าแผ่นดินทรงพิโรธ จึงรีบออกจากพระราชวังกลับวัดระฆัง เข้าไปพำนักอยู่ในโบสถ์ ไม่ออกจากโบสถ์เลย  คนต้องไปตักบาตรในโบสถ์ เวลาจะหนักเบาก็ถ่ายลงกระโถนในโบสถ์ มีคนเอาไปเทลงแม่น้ำ
เมื่อถึงคราวเสด็จพระราชดำเนินทอดผ้าพระกฐินวัดระฆัง พระจอมเกล้าฯ พบสมเด็จนั่งจ๋องอยู่ในโบสถ์
“อ้าว ไล่แล้ว ไม่ให้อยู่ในราชอาณาจักร ทำไมยังอยู่อีกล่ะ”
“ขอถวายพระพร อาตมาไม่ได้อยู่ในราชอาณาจักรของพระองค์ อาตมาอยู่ในธรรมจักรของพระพุทธเจ้า  วิสุงคามสีมา เป็นของพุทธจักร  อาตมาไม่เคยเหยียบแผ่นดินของพระองค์...”
“ฉันข้าวที่ไหน ถ่ายที่ไหน”
“ฉันในโบสถ์ เทวดามาตักบาตร  ถ่ายในโบสถ์ลงกระโถน เทวดามาเอาไปเทในน้ำ...”
“โบสถ์นี้มิใช่อาณาจักรสยามหรือ”
“โบสถ์เป็นวิสุงคามสีมา พระราชาพระราชทานให้พระภิกษุสงฆ์สิทธิขาดเอาคืนไม่ได้...”
“ขอโทษ ขอโทษ อยู่ในราชอาณาจักรได้ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป...”
(โปรดติดตามต่อไป)

วันพฤหัสบดีที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

อุตตริมนุสสธรรม ของ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ตอน เป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์


เป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์
พ.ศ. ๒๔๐๗ คือเป็นพระเทพกวีได้ ๑๐ ปี รัชกาลที่ ๔ ก็ทรงตั้งเป็นพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏ (จารึกนามในแผ่นทองคำ) เมื่อวันพฤหัสบดี เดือนยี่ ขึ้น ๙ ค่ำ ดังสำเนาคำประกาศพระบรมราชโองการ ดังนี้
คำประกาศพระบรมราชโองการ
สิริศุภมัสดุ พระพุทธศาสนายุกาล เป็นอดีตภาคล่วงแล้ว ๒๔๐๗ พรรษาปัจจุบันกาลสุนทรสังวัจฉรปุษยมาส ศุกลปักษ์ นวมีดิถีครุวาร ปริเฉทกาลกำหนด พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ ฯลฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่า พระเทพกวี พรรษายุกาล ประกอบด้วยรัตตัญญมหาเถรธรรมยั่งยืนมานาน และมีปฏิภาณปรีชา ตรีปิฎกเกลาโกศลและฉลาดในโวหาร นิพนธ์เทศนาปริยัติวิธีและทำกิจในสุตตะนั้นด้วยดีมิได้ย่อหย่อน อุตสาหะสั่งสอนพระภิกษุสามเณรโดยสมควร อนึ่ง ไม่เกียจคร้านในราชกิจบำรุงพระบรมศรัทธา ฉลองพระเดชพระคุณเวลานั้นๆ สมควรเป็นที่อรัญญิกมหาสมณคณาจารย์ พระราชาคณะผู้ใหญ่ มีอิสริยยศยิ่งกว่าสมณนิกร ผ่านอรัญญวาสีเป็นอธิบดีครุฐานิยพิเศษควรสักการระบูชาแห่งนานาบรรพสัช บันดาลนับถือพระบรมพุทธศาสนาได้  จึงมีพระราชโองการมานพระบัณทูรสุรสิงหนาท ดำรัสสั่งให้สถาปนาพระเทพกวีศรีวิสุทธิณายก ตรีปิฎกปรีชามหาคณิศรบวรสังฆารามคามวาสี เลื่อนที่ขึ้นเป็น สมเด็จพระพุฒาจารย์ อเนกสถานปรีชาวิสุทธิศีลจรรยาสมบัติ นิพัทธสุตคุณ สิริสุนทรพรพรหมจาริก อรัญญิกคณิศรสมณนิกรมหาปริณายก ตรีปิฎกโกศล วิมลศิลขันธ์ สถิต ณ วัดระฆังโฆสิตารามมหาวิหาร พระอารามหลวง มีนิตยภัตราคา เดือนละ ๕ ตำลึง...”
เลื่อนเงินเดือนอีก ๑ ตำลึง
พ.ศ. ๒๔๑๐ โปรดพระราชทานเพิ่มนิตยภัตอีก ๑ ตำลึง รวมเป็น ๖ ตำลึง (๒๔ บาทเงิน)

(โปรดติดตามตอนต่อไป)