วันพฤหัสบดีที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

อุตตริมนุสธรรม ของ สมเด็จพระพุฒาจารย์( โต) ตอน สิ่งที่สมเด็จพุฒาจารย์ฝากไว้

สิ่งที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ฝากไว้
สมเด็จพระพุฒาจารย์ ล่วงลับดับขันธ์แล้ว ๑๒๕ ปะ แต่ยังฝากสิ่งต่างๆ แทนตัวไว้ในโลกนี้ ทั้งที่เป็นรูปธรรม และนามธรรม คือ
๑.รูปปฏิมากร ที่ลูกศิษย์หล่อไว้เคารพกราบไหว้ ประดิษฐานไว้ถึง ๓ วัด คือวัดอินทรวิหาร วัดระฆัง วัดเกศไชโย จังหวัดอ่างทอง
๒.พระเครื่องสมเด็จ คือพระปฏิมากรองค์น้อย ที่นำติดตัวไปเคารพสักการะได้ เพื่ออธิษฐานจิตยึดเอาเป็นที่พึ่งในยามมีภัยได้ทุกข์ ซึ่งย่อมประจักษ์แก่ใจคนเป็นอันมากว่าศักดิ์สิทธิ์จริง มีผู้เล่าไว้มากมาย แม้ข้าพเจ้าเองก็ประสบมาด้วยตนเองหลายครั้งหลายหน จึงไม่มีวิจิกิจฉาในเรื่องนี้
๓.พระคาถา พระปริตร พระสูตร ที่สมเด็จเคยสวด เคยภาวนา เช่น ชินบัญชร ทิพมนต์ไชยมงคล มหาไชยมงคล เป็นต้น บัดนี้มีคนเป็นอันมากเชื่อถือและนำมาสวดกันอยู่ เช่น ชินบัญชรปริตรที่กล่าวว่าพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ทอดพระเนตรลงมาจากพระนิพพานวิมานแก้วมาทางบัญชรวิมานแก้ว ลงมาคอยคุ้มครองป้องกัน อภิบาลรักษาผู้ที่เคารพบูชาอยู่
.คำเทศนาสั่งสอน ที่คนภายหลังยังจดจำกันได้ เป็นคติชีวิต แม้แต่พระราชาก็ยังต้องเชื่อฟัง
.ความประพฤติปฏิบัติ ของท่านตลอดชีวิตอันยาวนาน ย่อมเป็นแบบอย่างของพระสุปฏิปันโน ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติเหมาะ ปฏิบัติควร ปฏิบัติถูกต้องตามพระธรรมวินัยมาจนทุกวันนี้
.แบบอย่างการปฏิบัติตนของท่านที่ปรารถนาพระโพธิญาณ เป็นแบบของพระสงฆ์ฝ่ายนิกายโพธิสัตว์มาจนบัดนี้ ใครได้อ่านประวัติของสมเด็จแล้วพากันเลื่อมใสศรัทธามาก อยากปฏิบัติตามเป็นเยี่ยงอย่างความประพฤติปฏิบัติของพระสุปฏิปันโน (ปฏิบัติดี) พระอุชุปฏิปันโน (ปฏิบัติงดงามทุกอิริยาบถ) พระญายะปฏิปันโน (ปฏิบัติด้วยความรู้ตัวทั่วพร้อม) พระสามีจิปฏิปันโน (ปฏิบัติด้วยความจงรักภักดีต่อพระผู้มีพระภาคเจ้าอย่างมอบกายถวายชีวิต) อันเป็นคุณลักษณะของพระอริยสงฆ์มาจนทุกวันนี้
๗.รูปถ่าย รูปวาดจากรูปถ่าย ในท่าต่างๆ มีอยู่หลายแบบ ที่ประชาชนนิยมติดตั้งไว้บูชาตามโรงร้านบ้านเรือน วัดวาอารามต่างๆ มีมากกว่าพระเกจีอาจารย์องค์ใดๆ (เกจิ แปลว่า ยอดเยี่ยม เกจิอาจารย์ แปลว่าอาจารย์ชั้นยอดเยี่ยม)
ในสมัยปัจจุบันนี้ยังนิยมเอารูปของท่านมาทำล็อกเกตห้อยคอหรือติดตั้งไว้ในรถเก๋งส่วนบุคคล รถแท็กซี่ รถเมล์โดยสารทั่วไป บางคนก็เอารูปพระอาจารย์องค์อื่นที่มีรูปร่างคล้ายภาพถ่ายของท่านมาสมมุติเป็นรูปของท่านก็มี ตัวอย่างเช่นรูปพระอาจารย์องค์หนึ่งกำลังสอนศิษย์ ก็เอามาสมมุติว่าเป็นรูปสมเด็จกำลังสอนหนังสือพระปิยมหาราช อันที่จริงไม่ใช่ เพราะเจ้าฟ้านั้นจะต้องสวมพระเกี้ยว (ปิ่นปักพระเกศ) แต่รูปนั้นเป็นเด็กวัดธรรมดา ไม่ใช่รูปเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์
๘.พระพุทธรูป ที่ท่านสร้างไว้ คือพระพุทธรูปปางมารวิชัย วัดพิตเพียน (วัดกุฎีทอง) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พระมหาพุทธพิมพ์ ในวิหารวัดเกศไชโย จังหวัดอ่างทอง พระศรีอารยเมตไตรย วัดอินทรวิหาร กรุงเทพฯ
๙.รูปหล่อโยมบิดา โยมมารดาของท่าน ในวัดอินทรวิหาร
๑๐.รูปลูกศิษย์ของท่านที่มีชื่อเสียง คือสมเด็จพระพุฒาจารย์ (ม.จ.ทัด เสนีย์วงศ์) หรือที่รู้จักกันแพร่หลายในนามของพระพุทธบาทปิลันธน์ พระธรรมถาวร (ช่วง จันทโชติ) พระครูธรรมานุกูล (หลวงปู่ภู) ท่านเหล่านี้พลอยมีชื่อเสียง มีรูปถ่าย แพร่หลาย เพราะเป็นลูกศิษย์ของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)
๑๑.คำเทศนาของท่านเบ็ดเตล็ด ที่มีผู้จดจำไว้ นำมาเล่ากันอยู่ในหนังสือที่มีผู้เขียนเล่ากันตามประสาชาวบ้าน ผิดบ้าง ถูกบ้าง ขาดบ้าง เกินบ้าง เปลี่ยนสำนวนไปบ้าง
๑๒.คำเทศนาของท่านที่เป็นหลักฐาน เช่นเทศนาเรื่องนักษัตรแทนเรื่องอริยสัจ ท่านกล่าวถึงเรื่องนักษัตรต่างๆ ต่อดาวนักขัตฤกษ์ในท้องฟ้า ที่โหรแต่โบราณเอามาตั้งชื่อวัน ชื่อเดือน ชื่อปี ชื่อฤกษ์ยาม แสดงว่าท่านมีความรู้อย่างดีในเรื่องนี้ อันที่จริงมีอยู่ในทิพยมนต์ที่ท่านสวด มีชื่อดาวนักขัตฤกษ์เหล่านี้อยู่ ซึ่งพระภิกษุสงฆ์ในสมัยปัจจุบัน ไม่สวดมนต์ทิพยมนต์นี้แล้ว จึงไม่รู้เรื่องนี้
๑๓.*เทศน์แหล่กลอนสวด ที่แต่งเป็นกาพย์ยานี กาพย์ฉบัง กาพย์สุรางคนางค์ ที่ท่านเรียกว่ากลอนสวด นิยมเทศน์กันในสมัยนั้น เช่นแหล่ชูชกที่ท่านแต่งขึ้นไปเทศน์ในงานทำศพอนุภรรยาของสมเด็จเจ้าพระยาบรมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ที่เรียกว่า “แหล่พระยาหายโศก” (ไม่ใช่เพลงพระยาโศกตามสมัยก่อน) แหล่นี้สมเด็จพระยาฯ หัวร่อจนลืมคิดถึงเมียน้อยคนงาม น่าเสียดายที่แหล่กลอนสวดอย่างนี้ไม่มีหลักฐานปรากฏไว้ แต่แสดงว่าพระสงฆ์ในสมัยนั้นท่านไปสวดอภิธรรมในงานศพนั้น ท่านเทศน์แหล่กลอนสวดเป็นทำนองอันเสนาะเพราะพริ้ง ตัวอย่างเช่นกลอนสวดเรื่องพระมาลัย ที่สมเด็จพระสังฆราชมี ท่านแต่งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๒ แล้วสังให้หัววัดสวดแหล่พระมาลัยต่อมา หรือกลอนสวดเรื่องสังข์ศิลปะชัย ที่พระนั่งเกล้าแต่งจากชาดก หรือกลอนสวดเรื่องพระสุธนมโนราห์ ที่พระนั่งเกล้าฯ ทรงนิพนธ์ขึ้น กลอนสวดหรือกาพย์เหล่านี้ ยังมีหลักฐานปรากฏอยู่จนทุกวันนี้ พึ่งมาเสื่อมความนิยมลงไปในสมัยรัชกาลที่ ๔ เนื่องด้วยไม่ต้องพระราชนิยม การที่พระสวดทำนองเสนาะเหมือนพระร้องเพลงนั้น ท่านว่าเสียสมณสารูป แต่สมเด็จท่านสวดจนพระยาลืมโศกมาแล้ว

* เทศน์ทำนองเสนาะ   สรภัญญะ
(โปรดติดตามตอนต่อไป)

อุตตริมนุสสธรรม ของ สมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) ตอน ฝากไว้ในแผ่นดินแผ่นฟ้า

ฝากไว้ในแผ่นดินแผ่นฟ้า
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) แม้ว่าจะล่วงลับดับขันธ์ไปนานกว่า ๑๐๐ ปี นับแต่ พ.ศ. ๒๔๑๕ มาจนบัดนี้ พ.ศ. ๒๕๔๐ นับได้ ๑๒๕ ปี แต่ชื่อเสียงเกียรติยศ เกียรติคุณ เกียรติศักดิ์ ของท่านยังจารึกอยู่ในแผ่นดินแผ่นฟ้าแห่งเมืองสยาม ไม่ลบเลือนไปเลย ทุกวันนี้ยังมีคนเล่าคนเขียนถึงท่านอยู่

เขียนด้วยความรู้ มากบ้างน้อยบ้าง ผิดบ้าง ถูกบ้าง ขาดบ้าง เกินบ้าง มีที่พิมพ์เผยแพร่ไปแล้วมากมาย เขียนคนละแง่คนละมุมเหมือนตาบอดคลำช้าง แล้วเอามาเล่าเรื่องช้างแตกต่างกันไป สุดแต่ว่าจะคลำขาช้าง คลำงวงช้าง คลำงาช้าง คลำหางช้าง หรือแม้แต่คลำขี้ช้าง ก็เอามาเล่ากัน ล้วนแต่เกิดมาภายหลังสมเด็จท่านสิ้นชีพิตักษัยไปแล้วทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นก็คงไม่มีใครเขียนถูกต้องสมบูรณ์ไปหมด ก็เป็นแต่เขียนเล่าเรื่องพระอริยสงฆ์ พอเป็นเครื่องประเทืองใจเท่านั้น

วันพฤหัสบดีที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

อุตตริมนุสสธรรม ของ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ตอน ขอลาออกจากราชการ



ขอลาออกจากราชการ
ในสมัยก่อนพระมหากษัตริย์ท่านนับถือว่าพระอธิการ เจ้าคณะนั้นรับราชการฝ่ายธรรมจักร ช่วยปกครองพระราชอาณาจักรของฝ่ายอำมาตย์มนตรี ท่านจึงแต่งตั้งสมณศักดิ์ มีตราตั้ง มีพัดยศ มีเงินนิตยภัต มีพระฐานะนุกรม ช่วยปฏิบัติงานทางฝ่ายคณะสงฆ์ ฝ่ายอาณาจักรและฝ่ายธรรมจักร คือข้าราชการสองฝ่ายช่วยกันปกครองบ้านเมืองอาณษประชาราษฎรให้อยู่เย็นเป็นสุข พระสงฆ์เป็นฝ่ายสั่งสอนศีลธรรมจรรยาให้ราษฎรมีคุณธรรม รู้บาปบุญคุณโทษ ถ้าไม่เชื่อฟังจึงเป็นหน้าที่ของฝ่ายบ้านเมืองจัดการลงโทษตามกระบิลเมือง นอกจากตั้งให้ฝ่ายสงฆ์มีตำแหน่งปกครองกันเองตามลำดับจนถึงสมเด็จพระสังฆราชแล้ว ท่านยังมีกรมธรรมการ จัดการศึกษาพระธรรมวินัยให้แก่พระสงฆ์ มีกรมสังฆการี เป็นตำรวจพระ จับพระที่ทำผิดวินัย ผิดกฎหมายบ้านเมืองไปลงโทษ ขังคุก จับสึก และรุนแรงถึงขนาดสักหน้าหรือประหารชีวิตเสียด้วย พระมหากษัตริย์มีอำนาจสูงสุด ปกครองทั้งฝ่ายอาณาจักร และธรรมจักรด้วย ในเรื่องเกี่ยวกับพระสงฆ์แล้วท่านมอบให้สังฆการีจัดการ  ในสมัยรัชกาลที่ ๓ นั้น ทรงตั้งให้กรมหลวงรักษ์รณเรศ (พระองค์เจ้าไกรสร) เป็นเจ้ากรมสังฆการี เมื่อมีอธิกรณ์เกิดขึ้นแก่พระผู้ใหญ่ถึงขั้นปาราชิก จึงตกเป็นหน้าที่ของขุนพิเรนทรเทพ เจ้ากรมตำรวจสนม ไปจับมาสอบสวน กรมหลวงรักษ์รณเรศ เจ้ากรมสังฆการี จึงจับพระมาสึก แล้วกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (พระนั่งเกล้าฯ) เป็นลูกขุนพิจารณาโทษ เมื่อพิจารณารับเป็นสัตย์แล้ว จึงสั่งให้พระผู้ใหญ่สึกเสีย จับไปขังไว้ในตาราง
คราวนั้นเอง กรมหมื่นศรีสุเรนทร์ (พระองค์เจ้าชายคันธรส) ซึ่งเป็นศิษย์พระผู้ใหญ่องค์นั้น จึงแต่งโคลงเป็นบัตรสนเท่ห์ว่า
“ไกรสรพระเสด็จได้       สึกชี
กรมเจษฎาบดี              เร่งไม้
พิเรนทร์แม่นอเวจี          ไป่คลาด
อาจพลิกแผ่นดินได้       แม่นแม้นเมืองมารฯ”
(พระองค์เจ้าไกรสร ตำแหน่งพระเสด็จสุเรนทราธิบดี เจ้ากรมสังฆการี สั่งสึกพระ
กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ลูกขุนสั่งให้เฆี่ยนหลัง
ขุนพิเรนทรเทพ เจ้ากรมตำรวจ จับพระไปขังตาราง
ทั้งสามคนนี้จะต้องตกนรกอเวจีไม่คลาดแน่นอน)
จึงสั่งให้สอบสวนหาคนแต่งโคลงนี้ ในที่สุดได้ร่องรอยว่า กรมหมื่นศรีสุเรนทร์แต่ง จึงให้จับไปขังไว้จนสิ้นพระชนม์ในที่คุมขัง ที่จับได้เพราะใช้สำนวนโคลง ว่า “ไป่” แทนคำว่า “ไม่” ซึ่งพระผู้ใหญ่องค์นั้นท่านเป็นกวี ท่านชอบใช้คำนี้ ลูกศิษย์จึงใช้ตามอาจารย์ ความจึงแดงขึ้น

ที่นำเรื่องนี้มาเล่า เพื่อแสดงหลักฐานการปกครองคณะสงฆ์ในสมัยนั้น
สมเด็จพระพุฒาจารย์ ท่านทราบระเบียบดีว่า การปกครองสงฆ์ขึ้นตรงต่อกรมสังฆการี

ใน พ.ศ. ๒๔๑๓ สมเด็จท่านมีอายุมากถึง ๘๒ ปีแล้ว ท่านจึงมีลิขิตถึงกรมสังฆการีว่า “จะขอพระบรมราชานุญาตลาออกจากเจ้าอาวาส ขอเป็นแต่กิตติมศักดิ์ จึงทรงอนุญาต แล้วตั้งให้พระภิกษุหม่อมเจ้าทัด พระโอรสในกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข พระองค์เจ้าชายทองอินทร์ กรมพระอนุรักษ์เทเวศร์ เป็นพระราชาคณะมีราชทินนามว่า พระพุทธบาทปิลันธน์ (ม.จ.ทัด เสนีย์วงศ์) เป็นเจ้าอาวาสแทนต่อมา สมเด็จท่านจึงปลดเปลื้องภาระปกครองสงฆ์ และเลิกเทศน์ ท่องเที่ยวไปตามวัดต่างๆ ที่ท่านเคยสร้างพระพุทธรูปไว้ เช่นวัดเกศไชโย จังหวัดอ่างทอง วัดพิตเพียน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในที่สุดท่านก็มาสร้างพระศรีอารยเมตไตรยขึ้นที่วัดอินทรวิหาร เป็นพระพุทธรูปยืนอุ้มบาตร สูงถึง ๑๖ วา อันที่จริงไม่ใช่พระพุทธรูปแทนองค์พระพุทธเจ้า แต่เป็นรูปพระศรีอารยเมตไตรย (คือเจ้าชายอชิต ราชบุตรพระเจ้าอชาตศัตรูกับพระนางกัญจนา ที่มาบวชในสมัยพระพุทธกาล แล้วพระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์ว่าจะได้ตรัสรู้เป็นพระศรีอารยเมตไตรยในอนาคตกาลอีกแสนไกล) สมเด็จท่านบำเพ็ญบารมีพระโพธิสัตว์ ท่านจึงเลื่อมใสศรัทธาพระศรีอารยเมตไตรย ท่านจึงสร้างพระรูปไว้สักการบูชา แต่ยังไม่ทันเสร็จ สร้างไว้ครึ่งองค์ ท่านก็มาดับขันธ์เสียเมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๑๕ ในสมัยรัชกาลที่ ๕

สรีกายมหาภูตรูปของท่านนอนเหยียดยาวอยู่บนศาลาใหญ่ในวัดอินทรวิหารนั้น ดูเหมือนท่านจะทราบว่าศพท่านจะมีคนมาเคารพกราบไหว้กันมาก ท่านจึงนอนเหยียดยาวอยู่บนศาลาการเปรียญนั้น พระเจ้าอยู่หัวซึ่งมีพระชนม์ยังเยาว์พระชันษาเป็นกษัตริย์หนุ่ม พระชันษา ๑๙ ปี ทรงเคารพเลื่อมใสอยู่ ทรงทราบว่าสมเด็จพระพุฒาจารย์ เป็นพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ เป็นพระสงฆ์ที่พระบรมชนกนาถยกเป็นบาปมุติ เป็นคู่บารมีมาตลอดรัชกาล จึงทรงเครื่องภูษาสีขาวเสด็จไปสรงน้ำศพ แล้วพระราชทานโกศเหลี่ยมไม้สิบสอง เป็นเกียรติยศประกอบด้วยเครื่องอภิรมชุมสาย ตามเกียรติยศของสมเด็จพระราชาคณะ แล้วโปรดเกล้าฯ ให้แห่ศพมาทางชลมารค ประกอบด้วยเรือตั้งเรือเขน เรือทรงพระธรรมนำหน้า เรือทรงศพและเรือขนานจำนวนมาก แห่มาทางน้ำตามลำน้ำเจ้าพระยา จากท่าน้ำบางขุนพรหม มาจนถึงวัดระฆังโฆสิตาราม พระอารามหลวงชั้นเอก ตั้งศพที่วัดระฆังโฆสิตาราม ให้ประชาชนไปเคารพกราบไว้ศพ มีประชาชนชาวไทย ชาวลาว ชาวมอญ ชาวเขมร มาเคารพศพกันมากมาย มีการสวดพระอภิธรรม ๗ วัน ๑๕ วัน ๑๐๐ วัน ตามลำดับ จึงพระราชทานเพลิงศพ เพราะมีคนมาเคารพกันไม่ขาดสาย  เมื่อวันพระราชทานเพลิงศพนั้น สมเด็จพระจุลจอมเกลาเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำนเนไปพระราชทานเพลิงในฐานะพระอาจารย์ พระครูปลัดสัมพิพัฒน์ หรือต่อมาคือพระครูธรรมถาวร พระฐานานุกรมของสมเด็จเป็นผู้แจกพระสมเด็จวัดระฆังแก่ทุกคนที่มาประชุมเพลิงศพ เป็นการแจกฟรีแก่ทุกคน เล่าว่าแจกไปในครั้งนั้นประมาณ ๑๕ กระถางหรือโอ่งมังกร เป็นการแจกพระสมเด็จคราวใหญ่ที่สุด นับแต่ท่านสร้างพระสมเด็จมา ดูเหมือนว่าท่านเตรียมไวในงานศพของท่าน เพราะท่านใส่ตุ่มมังกรตั้งไว้ในพระอุโบสถมาก ท่านสั่งให้โยงสายสิญจน์ไปยังโอ่งมังกรนั้น ในเวลาพระสงฆ์ลงอุโบสถ ท่านก็ให้สวดเจริญพระพุทธมนต์ หรือทำพิธีพุทธาภิเษกมาตลอด เหมือนว่าจะประกาศว่าพระสมเด็จของท่าน ได้เข้าพิธีพุทธาภิเษกแล้วหลายครั้งหลายหน เพราะในการสวดมนต์ของพระในสมัยนั้นโดยเฉพาะที่วัดระฆัง จะต้องสวดธชัคคสูตร รัตนสูตร อาฏานาฏิยสูตร ทิพมนต์ ไชยมงคล ด้วยพระสงฆ์ในสมัยนั้นสวดมนต์ยืดยาว หลายพระสูตร พระรุ่นนี้จึงมิได้บรรจุกรุในเจดีย์ ไม่เหมือนที่วัดเกศไชโย วัดอินทรวิหาร ที่สร้างแล้วบรรจุพระเจดีย์ไว้ พึ่งมาขุดพบภายหลัง จึงมีขี้ดินขี้กรุมาก บางองค์จับเกรอกรังจนมองไม่เห็นเนื้อพระ

พระพิมพ์แบบสมเด็จวัดระฆังนี้ เมื่อพ.ศ.๒๔๑๑ รัชกาลที่ ๕ ครองราชสมบัติจึงมีการสร้างพระสมเด็จเป็นพิธีหลวงครั้งสำคัญ  มีการสร้างอีกครั้งหนึ่ง  โดยใช้แบบพิมพ์วัดระฆังทังหมด  ๑๘ แบบมาสร้างใหม่  โดยให้เจ้าพระยาภาณุพงศ์ มหาโกศาธิบดีเป็นประธานฝ่ายฆราวาส  สมเด็จพระพุฒาจารย์(โต)  เป็นประธานฝ่ายสงฆ์  มีพระพุทธบาทปิลันธน์ (ม.จ. ทัต เสนีย์วงศ์)  ซึ่งต่อมาเป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดพระเชตุพน ฯ และพระเกจิอาจารย์อื่นอีก รวม ๑๐๘ รูป เป็นผู้สวดพุทธาภิเษก  เรียกสมเด็จรุ่นนี้ว่า  สมเด็จฉัพพรรณรังสี เพราะผสมสีด้วยกันถึง  ๖ สี เท่ากับรัศมีของพระผู้มีพระภาคเจ้า  แต่พระรุ่นนี้เผยแพร่อยู่ในวงการเจ้านายขุนนางชั้นสูงเท่านั้น  นอกจากนั้น สมเด็จพระพุฒาจารย์(ม.จ.ทัต เสนีย์วงศ์)  ท่านยังไ้ด้สร้างพระสมเด็จทองนพคุณขึ้นถวายอาจารย์ของท่านคือ สมเด็จพระพุฒาจารย์(โต)  สร้างด้วยทองคำเนื้อเก้าที่เรียกว่า ทองนพคุณ  จากเมืองกำเนิดนพคุณ ที่ตำบลบางสะพาน  เมืองประจวบคีรีขันธ์  อีกจำนวนหนึ่ง  พระสมเด็จทองคำนพคุณนี้ไม่ค่อยแพร่หลายเป็นที่รู้จัก  แต่เป็นของดีมีค่ามาก   เท่าเทียมพระสมเด็จวัดระฆัง รุ่นที่แจกในงานศพของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)   ในปี พ.ศ. ๒๔๒๕ นั้น 

     พระสมเด็จที่สร้างไว้เป็นหลักฐาน  มีอยู่  ๕ รุ่น คือ 

    ๑. พระสมเด็จวัดระฆัง  ที่แจกในงานศฑสมเด็จปี พ.ศ.ฦ ๒๔๑๕ เรียก สมเด็จวัดระฆัง

     ๒. พระสมเด็จวัดพระแก้ว  สร้างปีพ.ศ. ๒๔๑๑ ในพระอุโบสถวัดพระแก้ว ในงานฉลองรัชกาลที่ ๕ เสวยราชย์

     ๓. พระสมเด็จเนื้อทองนพคุณ  ที่สมเด็จพระพุฒาจารย์( ม.จ.ทัต เสนีย์วงศ์)  สร้างถวายอาจารย์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๑๑ 

     ๔. พระสมเด็จวัดอินทรวิหาร สร้างคราวที่สร้างพระศรีอารยเมตไตรย  บรรจุเจดีย์ 

     ๕. สมเด็จวัดเกศไชโย  สร้างคราวสร้างพระพุทธไสยาสน์ ที่ัวัดเกศไชโย  ซึ่งเจ้าพระยานิกรบดี (โต กัลยาณมิตร )  ไปช่วยสร้าง ในสมัยรัชกาลที่ ๔

(โปรดติดตามตอนต่อไป)  

วันศุกร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

อุตตริมนุสสธรรม ของ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ตอน เรื่องเขาเล่าว่า


เรื่องเขาเล่าว่า

          เรื่องต่อไปนี้เป็นเรื่องเขาเล่าว่า  เป็นเรื่องเล่าของเจ้านายขุนนาง คนวงใน เท็จจริงอย่างไรไม่มีหลักฐานยืนยัน

          เมื่อจัดงานพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต)แล้ว  ลูกศิษย์ก็เข้าไปจัดการที่นอนของท่านที่วัดระฆัง  ซึ่งไม่มีใครกล้าเข้าไปจัดการสมัยท่านยังมีชีวิตอยู่   ท่านมักนอนบนพื้นมีเสื่อปูนอน  มีผ้าปูทับอีกชั้นหนึ่ง  ไม่มีเตียงมีแต่หมอนใบหนึ่ง 
          เมื่อเปิดห้องทำความสะอาด  ยกหมอนขึ้นก็พบกระดาษชิ้นหนึ่ง กระดาษน้ันเขียนด้วยลายมื่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)  มีใจความว่า

                  ๑๐  แผ่นดิน

           แผ่นดิน ๑         มหากาฬ
          แผ่นดิน ๒         พาลยักษ์
          แผ่นดิน ๓         รักบัณฑิต
          แผ่นดิน ๔         สนิทธรรม
          แผ่นดิน ๕         จำแขนขาด
          แผ่นดิน ๖          ราชโจร
          แผ่นดิน ๗         ชนร้องทุกข์
          แผ่นดิน ๘         ยุคทมิฬ
          แผ่นดิน   ๙       ถิ่นกาขาว
          แผ่นดิน ๑๐       ชาวสิวิไลย

          เมื่อคนรู้เรื่องนี้ก็นำมาวิพากย์วิจารณ์กันไปต่างๆนานา นักปราชญ์ราชบัณฑิตวิจารณ์ว่า  สมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) ท่านได้ "โสฬส" คือ ญาณหยั่งรู้ ๑๖ ประการ  รู้อดีตกาลล่วงแล้วมา รู้เหตุการณ์ปัจจุบันได้รอบข้าง  รู้เหตุการณ์อนาคตได้ล่วงหน้า  ท่านทำรูปลงเป็นคำพยากรณ์ ๑๐ แผ่นดินได้ด้วยถ้อยคำสั้นๆๆ  ดังนั้นใครที่รู้พงศาวดารนี้ก็จะอัศจรรย์ใจว่า สมเด็จพระพุฒาจารย์(โต พรหมรังสี)  ท่านรู้ได้แจ่มแจ้งลึกซึ้งนักหนาในเหตุการณ์ของบ้านเมืองในแผ่นดินล่วงมาแล้ว แผ่นดินปัจจุบันและแผ่นดินหน้าอีก ๕ แผ่นดิน

          นี่คือ  อุตรริมนุสสธรรมของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)  พระอริยสงฆ์ที่มีชื่อเสียงที่สุดในกรุงสยาม  
       
โสฬสญาณ

          เมื่อกล่าวถึงโสฬสญาณ  ก็สมควรกล่าวว่าโสฬสญาณ คือ ญาณ ๑๖ ได้แก่

          ๑. นามรูปปริจเฉทญาณ                    ญาณแยกรูปและนาม
          ๒. ปัจจัยปริคหญาณ                         ญาณรู้ปัจจัยของรูปนาม
          ๓. สัีมมสนญาณ                               ญาณรู้ทักขัง  อนิจจัง อนัตตา
          ๔. อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ           ญาณหยั่งรู้การเกิดการดับของรูปนาม
          ๕. ภังคานุปัสสนาญาณ                    ญาณหยั่งรู้การดับไปของรูปนาม
           ๖. ภยตูปัฎฐานญาณ                       ญาณหยั่งรู้ว่ารูปนามเป็นสิ่งที่น่า่กลัว
           ๗. อาทีนาวานุปัสสนาญาณ            ญาณหยั่งรู้ว่ารูปนามมีแต่โทษ
           ๘. นิพพิทานุปัสสนาญาณ              ญาณเบื่อหน่ายรูปนาม
           ๙.บุญจิตุกัมยตาญาณ                     ญาณหยั่งรู้ว่ารูปนามตกอยู่ในอำนาจของสังขาร
           ๑๐.ปฎิสังขารนุปัสสนาญาณ           ญาณหยั่งรู่้ว่ารูปนามตกอยู่ในอำนาจของไตรลักษณ์
           ๑๑.สังขารุเปกขาญาณ                   ญาณหยั่งรู้รูปนามด้วยการวางเฉย
           ๑๒.อนุโลมญาณ                            ญาณพิจารณารูปนามว่า เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
           ๑๓.โคตรภูญาณ                             ญาณข้ามเขตปุถุชนไปสู่อริยชน สลัดโลกียะเข้าสู่โลกุตตระ
           ๑๔.มัคคญาณ                                ญาณทำลายกิเลสตีจากไปเข้าสู่นิพพาน
            ๑๕.ผลญาณ                                 ญาณทรงพลังท้าวสู่นิพพาน
            ๑๖.ปัจจเวกขณญาณ                    ญาณย้อนหลังไปพิจารณามรรคผลนิพพาน
            
            ผู้ได้โสฬสญาณ                           คือพระอรหัตมรรค  เข้าสู่ภาวะพระอรหันต์
                                                                รู้จบญาณ ๑๖ หรือโสฬสญาณ  จะไม่กลับมาเกิดอีก 
                                           
                        (โปรดติดตามตอนต่อไป)
             

        

อุตตริมนุสสธรรม ของ สมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) ตอน พระธรรมไตรโลก (รอด)

พระธรรมไตรโลก (รอด)

ต่อมาใน พ.ศ. ๒๓๙๗ นั้น พระธรรมไตรโลกฯ วัดท้ายตลาดไปเทศน์ในวัง ขึ้นธรรมาสน์เทศน์เอาอย่างพระธรรมกิตติ ว่านะโมจบแล้ว เทศน์ว่า “พระธรรมทั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ มหาบพิตรก็ทรงทราบแจ่มแจ้งอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องเทศน์อีก เอวังก็มี ด้วยประการฉะนี้”
พระจอมเกล้าฯ ทรงพระพิโรธทันที ตรัสว่า “เหมือนขรัวโตหรือ จะมาเอาอย่าง ยกให้แต่ขรัวโตองค์เดียวเท่านั้น” เมื่อกลับวัดแล้ว ได้มีหนังสือกราบทูลฎีกาขอพระราชอภัยโทษยืดยาวว่า

“อาตมภาพพระธรรมไตรโลก ขอพระราชทานทำคำสารภาพผิดถวายในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแต่โดยความสัตย์จริง ด้วยอาตมภาพถวายพระธรรมเทศนาจบเร็วนัก ทำให้เสียกิริยาไป ไม่สมกับที่ทรงพระราชศรัทธาจะทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวายในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสนั้น ด้วยรับพระราชทานเรียงความมาน้อยแต่เพียงนั้น
(โปรดติดตามตอนต่อไป)