วันอังคารที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

อตตริมนุสสธรรม ของ สมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) ตอน พระจับเงินไม่ได้ หรือ รับเงินทองมิได้

พระจับเงินไม่ได้ หรือรับเงินทองมิได้
มีบัญญัติไว้ใน ศีล ๑๐ ของสามเณร ซึ่งพระที่อุปสมบทต้องรับศีล ๑๐ ข้อนี้ก่อน เรียกว่ามัชฌิมศีล คือ ศีลระดับกลาง มีบัญญัติไว้ว่า ชาตะรูปะระชะตะ ปะฏิคคะหะณา เวระมะณี สิกขาปะทัง แปลว่า ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบทว่า เมื่อรู้ว่าเป็นเงินที่เขาถวายจะไม่รับเอามาเป็นของตนเป็นสิกขาบทข้อที่ ๑๐ เพราะสมณะนั้น ไม่ต้องเก็บเงินไว้เลี้ยงชีพ อาชีพของสมณะคือบิณฑบาตมาฉันเพียงชั่วมื้อเท่านั้น เงินจึงไม่จำเป็นต้องใช้
แต่สิกขาบทข้อนี้ มีแต่พระฝ่ายอรัญญวาสีเท่านั้นที่ถือได้เคร่งครัดจริงๆ เพราะตามป่าเขานั้นมีเงินก็หาซื้อสิ่งของอะไรไม่ได้ และพระภิกษุในสมัยพุทธกาลนั้น ก็ไม่มีความจำเป็นต้องเก็บเงินไว้เป็นสมบัติ แต่พระฝ่ายคามวาสี มักจะถือลำบาก คือถือเคร่งครัดไม่ได้ เพียงแต่ว่าพยายามหลีกเลี่ยงการรับเงินและพยายามหลีกเลี่ยงไม่เก็บเงินไว้เป็นส่วนตัว ต้องฝากไว้กับไวยาวัจกร ต้องการใช้อะไรก็ให้ไวยาวัจกรไปจัดซื้อให้ รู้แต่จำนวนเงินและเงินที่เหลืออยู่ตามบัญชีเท่านั้น แต่ไวยาวัจกรนั้นก็ไว้ใจไม่ได้ มักจะโกงพระเสียมาก ที่ว่ากันว่าทอดกฐินทอดผ้าป่ากรรมการครึ่งวัดครึ่ง พระมักจะรับมาใช้จ่ายตามความจำเป็นและเก็บเงินไว้ใช้เอง ไม่มีใครว่าอะไรกัน ชาวบ้านทายกทายิกาก็มักถวายเงินพระเสมอ  เมื่อพระจอมเกล้าฯ ทรงตั้งคณะธรรมยุติกนิกายขึ้น จึงมีธรรมเนียมปฏิบัติว่า ให้ถวายเงินใส่ซอง การรับเงินก็รับถวายในซอง โดยให้ไวยาวัจกรรับเอาเงินมา พระไม่รับถวายเงิน หรือเม็ดเงินจากทายกทายิกา พอถึงวัดท่านก็ถามหาเงินว่าอยู่ที่ไหน มีเท่าไร
คราวหนึ่งสมเด็จฯ ท่านเข้าไปสวดมนต์ในวัง พระจอมเกล้าฯ ก็ถวายเงินองค์ละ ๒๐ บาท เป็นเงินเหรียญบาท ๒๐ บาท สมเด็จฯ ท่านก็ทำดีใจว่าวันนี้ลาภใหญ่แล้ว รีบรวบเงิน ๒๐ ใส่ย่ามทันที
พระจอมเกล้าฯ ตรัสว่า
“อ้าว พระรับเงินได้หรือ”
สมเด็จฯ ทูลว่า
“มหาบพิตร มีพระราชศรัทธา อาตมาจะขัดพระราชศรัทธาได้อย่างไร...”
เมื่อออกจากวังแล้ว ท่านก็พูดว่า วันนี้รวยใหญ่ วันนี้รวยใหญ่ พวกมหาดเล็กก็มารุม ท่านก็ควักเงินในย่ามแจกไปจนหมดเกลี้ยง
พระอย่างนี้มไม่ประพฤติผิดศีลสิกขาบทเลย  แต่พระที่รับเองซองเงินมาแล้วทวงเงินมาเก็บไว้นั้น  ย่อมผิดศีลข้อ โกสิยาวรรคที่ ๒ ข้อ ๘ ทีบัญญัติไว้ว่า

"ภิกษุรับเองก็ดี ให้ผู้อื่นรับก็ดี ซื่งเงินทอง หรือยินดีในเงินทอง ที่เขาเก็บไว้เพื่อตน ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์  (แปลว่า ไฟเผาลนจิตให้ร้อนรน)  มีโทษคือพระทำสมถวิปัสสนาไม่บรรลุเอกัคคตารมณ์  คือไม่บรรลุโสดาบัน)  ไม่ได้โสดาปัตติผล  เพราะเป็นห่วงทรัพย์็นั้น เพราะฉน้ันพระภิกษุที่ไม่มุ่งโสดาบันเป็นพระอริยบุคคล จึงไม่ถือเคร่งครัดในศีลปาจิตตีย์" 
   นิสสัคคิยปาจิตตีย์ แปลความหมายว่า  เมื่อผิดศีลในข้อนี้แล้ว  เหมือนไฟเผาไหม้จิตใจอยู่เป็นนิตย์จนต้องส่งใจไปที่อื่น  จิตใจไม่สงบรวมลงเป็นหนึ่ง จึงไม่อาจจะบรรลุธรรม เป็นพระอริยบุคคลได้ 

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

วันพฤหัสบดีที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

อตตริมนุสสธรรม ของ สมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) ตอน ไม่ไปร่วมสังคายนาพระไตรปิฎก

ไม่ไปร่วมสังคายนาพระไตรปิฎก

ในสมัยพระจอมเกล้าฯ ขึ้นครองราชย์สมบัตินั้น ทรงพระราชดำริจะให้มีการทำสังคายนาพระไตรปิฎกใหม่ จึงให้อารธนาพระหลายองค์มาสังคายนาพระไตรปิฎก ในจำนวนนี้มีพระธรรมกิตติ (โต) ด้วยองค์หนึ่ง แต่ท่านดื้อเสีย ไม่ยอมไปร่วมประชุมด้วย จึงโปรดให้สอบถาม เหตุขัดขืนพระบรมราชโองการ จะทรงสอบถามเอง หรือให้สังฆการีไปสอบถามก็ไม่แน่ชัด
พระธรรมกิตติ (โต) ตอบว่า

“พระไตรปิฎกนี้ พระอรหันต์แต่โบราณกาลที่ทำสังคายนาไว้แล้ว ขรัวโตเกิดมาภายหลัง ยังไม่สำเร็จพระอรหันต์ จะให้ไปแก้ไขถ้อยคำในพระไตรปิฎก ขรัวโตกลัวตกนรก”

อันที่จริงพระไตรปิฎก พระอรหันต์ ๕๐๐ องค์ท่านประชุมทำสังคายนาหลังจากนิพพานแล้ว ๓ เดือน ทำอีกคร้ังหนึ่งหลังจากนิพพานแล้ว ๑๐๐ ปี ล้วนแต่ทำสังคายนาหลังจากพระพุทธเจ้านิพพานแล้วทั้งสิ้น  แต่พระอรหันต์ท่านมีจิตบริสุทธิ์  ทรงจำพระธรรมได้หมด แบ่งกันกล่าวเป็นหมวดๆ พระองค์อื่นน่ั่งฟัง  ลงมติวา่ถูกต้องแล้ว  จึงให้จดจารไว้ในใบลาน  พระสูตรน้ันพระอานนท์ ท่องพระธรรมให้ที่ประชุมพระอรหันต์ฟัง  พระวินัยและพระอภิธรรมนั้น พระอุบาลีท่องให้ฟัง   ท่านทำเป็นหลักเป็นฐานมาก 

คำในพระไตรปิฎกมีอยู่  ๔ คำ
๑.อกัมมยตา แปลว่า ไม่สู้่
๒.อคัมมยตา แปลว่า ไม่หนี
๓.อตัมมยตา แปลว่า ไม่อยู่ ไม่เกิด
๔.อมัมมยตา แปลว่า  ไม่ตาย  (คือไม่เกิดมาตายอีก)

(โปรดติดตามตอนต่อไป) 

วันพฤหัสบดีที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

อตตริมนุสสธรรม ของ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ตอน ใครตีใครก่อน

ใครตีใครก่อน
สมัยหนึ่ง ท่านไปครองวัดระฆังใหม่ๆ มีพระภิกษุองค์หนึ่งตีศีรษะพระอีกองค์หนึ่งแตก (คือมีบาดแผลไม่ใช่กะโหลกศีรษะแตก) จึงไปฟ้องพระธรรมกิตติ (โต) ให้ตัดสินความ
“คุณตีเขาก่อนนี่จ๊ะ” ท่านว่า
พระองค์นั้นก็เถียงว่าไม่ได้ตี ท่านก็ยืนยันว่า คุณตีเขาก่อน พระนั้นจึงไปหาสมเด็จพระวันรัต (เซ่ง) วัดอรุณราชวราราม สมเด็จพระวันรัตจึงเรียกพระธรรมกิตติ (โต) ไปสอบถามว่าทำไมจึงว่าพระองค์นั้นตีก่อน
พระธรรมกิตติ (โต) ตอบว่า

“พระพุทธเจ้าตรัสว่า นะ หิ เวรานิ วูปะสะมันติ... เวรย่อมไม่ระงับด้วยการจองเวร เวรนี้อาจจะติดตามจองเวรกันมานานแล้ว ต้องระงับดับเวรเสียในคราวนี้...”

(โปรดติดตามตอนต่อไป)