วันพฤหัสบดีที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2558

อุตตริมนุสสธรรม ของ สมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) ตอน สมเด็จบอกใบ้ให้หวย




สมเด็จบอกใบ้ให้หวย
เรื่องสมเด็จให้หวยนี้เลื่องลือกันมาก เล่ากันหลายเรื่อง คราวหนึ่งท่านรับนิมนต์ไปเทศน์ในวัง พระจอมเกล้าฯ จึงตรัสล้อว่า
“ไงขรัวโต เดี๋ยวนี้หากินทางบอกใบ้ให้หวยแล้วหรือ”
“ขอถวายพระพร อาตมาไม่เคยบอกหวยใครเลยว่า วันนี้ออก ด.กวางเหม็ง วันนี้ออก ด.กวางเหม็ง วันนี้หวยออก ด.กวางเหม็ง”
เมื่อสมเด็จออกจากวังไปแล้ว พวกนางวังพากันแทงหวย ด.กวางเหม็ง เลยถูกหวยรวยกันหลายคน
เรื่องบอกใบ้ให้หวย
เรื่องบอกใบ้ให้หวยนี้ มีเรื่องเล่าลือกันมาก  เพราะสมัยนั้นมีคนจีนมาผูกขาดออกหวยจับยี่กี ที่มีชื่อคือเจ้าสัวหง จนกระทั่งคนไทยคนจีนเล่นหวยกันอย่างหลงใหล ถึงแก่มีตำราหวย แต่งเป็นกลอนถึงตำนานหวยว่าตัวอะไรมีตำนานมาว่าอย่างไร  มีพระภิกษุสงฆ์ที่มีชื่อว่าบอกใบ้ให้หวยแม่นมากหลายองค์รวมทั้งสมเด็จพระพุฒาจารย์ด้วย
นายแจ่ม แจ่มใส เล่าไว้ว่า เป็นลูกศิษย์สมเด็จพร้อมกับขุนธารกำนัล (จ่าง แจ่มใส) พี่ชาย  ตกกลางคืนมีหน้าที่บีบนวดสมเด็จ ผลัดเปลี่ยนเวรกันนวดคนละคืน  จับแขนสมเด็จนวด พบว่าข้อมือสมเด็จมีกระดูกชิ้นเดียว ไม่มีกระดูกคู่เหมือนคนทั่วไป จึงบีบนวดอยู่ตรงนั้นด้วยความสงสัย  สมเด็จฯ ถามว่าเคยเห็นคนมีกระดูกอย่างนี้บ้างไหม เขาตอบว่าไม่เคยเห็น  สมเด็จฯ ว่า “คนมีกระดูกอย่างนี้คือพระโพธิสัตว์”
ในขณะนวดอยู่นั้น บางทีสมเด็จ ก็บอกว่าพรุ่งนี้หวยจะออกตัวนั้นตัวนี้ พอรุ่งขึ้นหวยก็ออกตรงตามที่สมเด็จบอกทุกที  จึงไปเล่าให้ผู้ใหญ่ฟัง วันหนึ่งญาติสองคนบอกว่า คืนนี้ถ้าสมเด็จฯ บอกหวยว่าออกตัวอะไรให้จดลงกระดาษแล้วทิ้งลงร่องกระดานไปให้ที เขาทั้งสองคนจะรออยู่ใต้ถุนกุฏิ  แต่ประหลาดคืนนั้นสมเด็จฯ นอนเฉย ไม่บอกหวย เขาจึงถามสมเด็จฯ ว่า พรุ่งนี้หวยจะออกตัวอะไรครับ
สมเด็จฯ ตอบว่า “วันนี้บอกไม่ได้ ฉันกลัวหวยของฉันจะลอดร่องจ้ะ”
ญาติสองคนใต้ถุนกุฏิอดหัวร่อไม่ได้ จึงหัวร่อกัน  สมเด็จก็ชี้มือลงไปว่า
“นั่นไงจ๊ะ”
เรื่องบอกใบ้ให้หวยนี้ แสดงว่าสมเด็จท่านมิได้บอกใบ้ให้คนไปเล่นหวยกัน แต่ท่านบอกว่าวันนี้หวยจะออกตัวอะไร บอกเมื่อเลยเวลาแทงหวยแล้วหรือไปแทงไม่ทัน  อย่างเรื่องที่นายแจ่ม แจ่มใสเล่านี้ คงเป็นที่เลื่องลือมานานก่อนสมัยที่ท่านจะเป็นพระราชาคณะ  คนเล่นหวยคงจะไปนั่งคอยจับกิริยาอาการของท่าน แล้วไปตีปริศนาเอาเอง   
เรื่องนี้ข้าพเจ้าเคยพบอาจารย์วัดจุฬามณี เมืองสมุทรสงคราม ชื่อหลวงพ่อเนื่อง ท่านเคยบอกหวยให้ข้าพเจ้าเหมือนกัน  วันที่ ๑๙ มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๙  ข้าพเจ้านำรถยนต์ซื้อใหม่ไปให้ท่านเจิมเอาสิริมงคล ท่านก็เอาเครื่องเจิมแป้งกระแจะพร้อมลงมาเจิมให้  ยังถามอีกว่า ว่าจะมาตั้งแต่วาน ทำไมไม่มาล่ะ  ไม่ทราบว่าท่านทราบได้อย่างไรว่าข้าพเจ้าตั้งใจจะไปให้ท่านเจิมตั้งแต่วันที่ ๑๘ มกราคม  ท่านว่าแล้วก็ขึ้นนั่งที่คนขับ หันหน้ามาพูดว่า “ไอ้รถคาร์ดิแล็ค ๘ สูบ ๕ กิโลลิตร ให้เปล่าๆ ก็ไม่เอา...” พูดแล้วก็หัวร่อเห็นเหงือกแดง  นึกในใจว่า หลวงพ่อให้หวยแน่ๆ ตั้งใจว่าตอนขากลับจะแวะซื้อลอตเตอรี่สักสองใบ คือเลข ๘๕ ตามที่หลวงพ่อบอก  แล้วเลยลืมซื้อ พอวันรุ่งขึ้น ลอตเตอรี่ออกเลขท้าย ๘๕ ตรงเผงเลย  นี่คือวิธีบอกใบ้ให้หวยของพระที่ท่านเห็นเลขจริงๆ แต่ท่านมิได้บอกตรงๆ ท่านบอกใบ้แบบนี้
กิตติคุณของสมเด็จฯ คงกระจายขจรไปจนทราบถึงพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จะทรงแต่งตั้งท่านเป็นพระราชาคณะ  แต่จนแล้วจนรอด สมเด็จท่านก็ท่องเที่ยวธุดงค์ไป ตามตัวท่านมารับพัดยศตราตั้งไม่ได้  คือการแต่งตั้งพระราชาคณะนี้ ไม่ใช่ตั้งได้ตลอดปีตลอดเดือน ต้องมีพระราชพิธี  จึงตามตัวท่านมารับพระราชทานพัดยศตราตั้งไม่ได้ ตลอดเวลาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๖๗ ถึง พ.ศ. ๒๓๙๔  เป็นเวลานานถึง ๒๗ ปี ตลอดรัชกาลที่ ๓

(โปรดติดตามตอนต่อไป) 







วันพฤหัสบดีที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2558

อุตตริมนุสสธรรม ของ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ตอน ชาติภูมิ





ชาติภูมิ
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) เป็นชาวเหนือ เป็นชนชาติไทยเผ่าหนึ่ง ซึ่งสมัยก่อนยังเรียกว่ากันว่าลาวพุงดำ เพราะชอบสักพุงดำ  มารดาชื่อนางงุด เป็นบุตรนายชัย นางลา  สมเด็จเกิดที่ตำบลท่าอิฐ อำเภอบ้านโพธิ์  ต่อมาเป็นอำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์
ส่วนบิดาไม่ปรากฏ  เล่ากันเป็นตำนานมาว่า บิดาเป็นแม่ทัพไปรบทางเมืองเหนือ ไปพบสาวงามชื่อนางสาวงุดบุตรสาวชาวนา จึงแวะไปขอน้ำกิน  นางสาวงุดจึงตักน้ำใส่ขันมาให้ดื่ม แต่โรยเกสรบัวไว้ จึงดื่มลำบาก  ถามว่าโรยเกสรบัวไว้เพื่ออะไร นางสาวงุดตอบว่า จะได้ค่อยๆ ดื่ม ไม่สำลักน้ำที่กำลังกระหาย  ท่านแม่ทัพชอบใจ จึงขอต่อพ่อแม่ร่วมประเวณีด้วยในราตรีกาลนั้น รุ่งเช้าก็จากไป แต่ได้มอบรัดประคตไหมให้เส้นหนึ่ง (คือเข็มขัดทองท่านแม่ทัพ) สำหรับทำขวัญเป็นที่ระลึก
ต่อมานางงุดตั้งครรภ์แล้วคลอดบุตรเป็นชายจึงพาบุตรมาหาบิดาที่เมืองใต้
ตำบลไก่จ้น
พาบุตรลงมาอยู่ที่ตำบลไก่จ้น (ตำบลท่าหลวง) อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยาในขณะที่ยังแบเบาะอยู่
ตำบลไชโย
ต่อมาได้พาบุตรไปอยู่ตำบลไชโย อำเภอวิเศษไชยชาญ เมืองอ่างทอง เมื่อท่านสอนนั่งได้
ตำบลบางขุนพรหม
ต่อมาได้มาอยู่ตำบลบางขุนพรหม กรุงเทพฯ เมื่อท่านยืนได้  ตำบลบางขุนพรหมนี้เป็นที่อยู่ของชาวลาวเชลยศึกที่อพยพมาจากเวียงจันทน์ เป็นลาวผู้ดี ลาวเจ้านาย  ผิดกับลาวที่อพยพไปอยู่ตามหัวเมืองอื่นๆ เช่นที่เมืองเพชรบุรี เมืองราชบุรี เมืองนครปฐม เมืองสุพรรณบุรี เมืองกาญจนบุรี  ชาวลาวบางขุนพรหมนี้ได้ถวายบุตรธิดาเป็นเจ้าจอมมารดา มีบุตรสืบวงศ์ลงมาเป็นเจ้าในราชวงศ์จักรีมาก  ชาวลาวพวกนี้ได้สร้างวัดบางขุนพรหมขึ้นก่อน มีเจ้าคุณอรัญญิก (ด้วง) เป็นเจ้าอาวาส ซึ่งเป็นชาวลาวอพยพมาจากเวียงจันทน์ด้วย
มารดาสมเด็จซึ่งเป็นคนลาวชาวเหนือ จึงได้นำสมเด็จฝากเป็นเด็กวัดที่วัดบางขุนพรหมนี้ ให้เป็นศิษย์เจ้าคุณอรัญญิก (ด้วง)



 (โปรดติตตามตอนต่อไป) 

วันศุกร์ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2558

อุตตริมนุสสธรรมของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ตอน ดวงชะตาสมเด็จ




ดวงชะตาสมเด็จ  
โหราจารย์ คือพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ได้ผูกดวงชะตาสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ไว้ในปูมโหรของท่านว่า  สมเด็จเกิดวันที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ. ๒๓๓๑ เวลาย่ำรุ่ง ๙ บาท (๖.๔๕ นาฬิกา) เมื่อผูกดวงชะตาแล้ว จะมีรูปดวงชะตา ดังนี้


ลัคนาสถิตราศีเมษ ดาวอาทิตย์กุมลัคนา ตามตำราโหรกล่าวว่า
“อาทิตย์อยู่เมษและกรกฎ จะมียศระบือขจร”
สมเด็จจึงมีสมณศักดิ์ชั้นสูงสุดถึงสมเด็จ เทียบยศฆราวาสคือสมเด็จเจ้าพระยา
มีคนที่เกิดใกล้เคียงกับสมเด็จอีกคนหนึ่งที่ท่านผูกดวงชะตาเปรียบเทียบไว้ คือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) ซึ่งเกิดก่อนสมเด็จ ๔ วัน  คือเกิดวันอาทิตย์ที่ ๑๓ เมษายน พ.ศ. ๒๓๓๑ มีดวงชะตาดังนี้




ทั้งสองท่าน มียศถาบรรดาศักดิ์สูงเสมอกัน คือเป็นสมเด็จเหมือนกัน  ท่านจึงว่า อาทิตย์อยู่เมษและกรกฎ จะมียศระบือขจร
ดวงชะตาของสมเด็จนี้ เกจิอาจารย์ (อาจารย์ชั้นยอด) ท่านเอามาจารึกไว้หลังพระสมเด็จพระเครื่อง ถือว่าขลังและเป็นศิริมงคล  ดังพระสมเด็จทองคำนพคุณที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ท่านสร้างพระสมเด็จทองคำเนื้อนพคุณ ท่านก็เอาดวงชะตาสมเด็จมาจารึกไว้หลังพระเครื่องทองคำนพคุณนั้นด้วย 


                                     (โปรดติดตามตอนต่อไป) 

วันเสาร์ที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2558

อุตตริมนุสสธรรม ของ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ตอน ดวงชะตากำเนิดของสมเด็จ




ดวงชะตากำเนิดของสมเด็จ

เรื่องดวงชะตาของสมเด็จนั้น บางแห่งวางลัคนาไว้ราศีพฤษภ บางแห่งวางลัคนาไว้ราศีเมษ  อันที่จริงตามดวงชะตาของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ท่านผูกดวงชะตาไว้แล้ว ตั้งแต่สมัยรัชการที่ ๕  คือพระบาทสมเด็จพระจุลจอมกล้าฯ ตรัสสั่งให้สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ผู้เชี่ยวชาญทางวิชาโหราศาสตร์ ผูกดวงชะตาของสมเด็จพระพุฒาจารย์ไว้  สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ เป็นผู้รู้จักกับสมเด็จพระพุฒาจารย์มาแต่ยังมีชีวิตอยู่ร่วมยุคสมัยเดียวกัน จึงได้ผูกดวงชะตาทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ครั้นแล้วพระเจ้าอยู่หัวจึงพระราชทานดวงชะตานั้นให้พระเจ้าน้องยาเธอกรมพระยาเทววงศ์วโรปการ (พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์) ไปศึกษา  สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ชาตะ วันพฤหัสบดี เดือน ๕ ขึ้น ๑๒ ค่ำ เวลาเช้าพระบิณฑบาต ย่ำรุ่ง ๙ บาท (๖.๕๔ นาฬิกา) จุลศักราช ๑๒๕๐ ปีวอก สัมฤทธิศกตรงกับสุริยคติ วันที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ. ๒๓๓๑
อาทิตย์ เป็นศรี มหาอุจจ์ กุมลัคนา บรรลุความสำเร็จสูงสุด ทั้งเกียรติยศชื่อเสียงและคุณสมบัติ
จันทร์ เป็นมูละ เป็นราชาโชค เป็นที่นิยมของมหาชน
อังคาร เป็นอุตสาหะ เป็นนิจ ส่งผลให้ประสบความสำเร็จ มีวิริยภาพแรงกล้า
พุธ เป็นมนตรี เป็นนิจ และประเกษตร เป็นกำพร้า แต่ได้พึ่งพระพุทธศาสนา
พฤหัสบดี เป็นบริวาร เป็นอุจจาวิลาศ ทรงคุณปัญญาอันบริสุทธิ์ วาสนาสูง ขั้นมหาราชครู
ศุกร์ เป็นเดช เป็นเกษตร มีอริยทรัพย์ล้นพ้น แต่โภคทรัพย์ไม่มี เพราะศุกร์เป็นวินาศตนุเศษ
เสาร์ เป็นกาลกิณี เบียดเบียน มีเท่าไร ก็บริจาคหมด
ราหู เป็นอายุ เป็นมหาอุจจ์ อายุยืน มีอารมณ์ขัน มีอารมณ์สุขุมลึกซึ้ง เป็นกวีวรรณศิลป์ การเทศนาจึงไพเราะด้วยอรรถ ด้วยธรรม ด้วยน้ำเสียง ด้วยคารมโวหาร
อาทิตย์ เป็นศรี พระราชาโปรด จะมียศระบือขจร
จันทร์ เสวย ภรณีฤกษ์ที่ ๒ ประกอบด้วยมหัทธโนแห่งฤกษ์

ก่อนหน้านี้ คือเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๓ เมษายน พ.ศ. ๒๓๓๑  มีมหาบุรุษคนหนึ่งถือกำเนิดมาในโลกคือสมเด็จพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) ดวงชะตาใกล้เคียงกันมาก และรุ่งเรืองด้วยอำนาจราชศักดิ์เสมอกันด้วย  ดูเหมือนว่าจะเป็นคู่ปรับ คู่บารมีของพระราชาด้วยกันทั้ง ๓ แผ่นดินด้วย  ขอให้ลองเปรียบเทียบดวงชะตาของท่าน  และทำให้น่าเชื่อว่ากรรมในชาติปางก่อนของท่านทั้งสองนี้น่าจะสร้างมาละม้ายกัน  ขอให้ท่านที่มีความรู้ทางวิชาโหราศาสตร์พิจารณาดูด้วย


                                      

(โปรดติดตามตอนต่อไป) 

วันพฤหัสบดีที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2558




อุตตริมนุสสธรรม 

ของ 

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต)




โดย เทพ สุนทรศารทูล





คำนำ

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) มีประวัติชีวิตที่พิสดารโด่งดังมากที่สุด ท่านทำอะไรแปลกกว่าคนอื่น  ใครไม่รู้ว่านั่นคือ อุตตริมนุสสธรรม ของท่าน 
คำว่า "อุตตริมนุสสธรรม" แปลว่า "สิ่งที่เหนือคนธรรมดาสามัญชน"  ซึ่งมีอยู่ในพระอริยะที่บรรลุฌานสมาบัติจนได้มโนมยิทธิ (มีฤทธิ์ทางจิต) และอิทธิวิธี (แสดงฤทธิ์ได้ต่างๆ)
ประวัติชีวิตพิสดารของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ที่จะเขียนเล่าต่อไปนี้  คือ "อุตตริมนุสสธรรม" (สิ่งที่เหนือมนุษย์) ของท่าน  อย่าได้สงสัยแปลกใจ หรือมีวิจิกิจฉา (ยุ่งยากหัวใจ) อะไรเลย 
การแสดงอิทธิฤทธิ์ปาฎิหาริย์ เหนือมนุษย์  เรียกว่า อวดอุตตริมนุสสธรรม  พระพุทธเจ้าห้ามแสดงอวดแก่อนุปสัมปัน คือ คนที่ยังไม่ได้บวช และห้ามแสดงหลอกลวงในสิ่งที่ตนไม่มีจริง  ๒ อย่างนี้เท่านั้น ที่ห้ามแสดงนอกจากนี้ไม่ห้าม

        สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)  วัดระฆังโฆสิตาราม  เป็นพระสงฆ์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดในกรุงสยาม ไม่มีใครเทียบเท่า  มีผู้เขียนประวัติของท่านไว้หลายครั้ง พิมพ์แพร่หลายไปมากแล้ว ต่างคนต่างเขียนไปคนละแนว  บางท่านก็เขียนไปในเชิงนวนิยาย ว่าท่านเป็นราชบุตรลับของเจ้าพระยาจักรี เมื่อสมัยไปรบพม่าทางเหนือ  ซึ่งนักพงศาวดารยอมรับไม่ได้  เพราะสมเด็จท่านเกิดในสมัยรัชกาลที่ ๑  เมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ. ๒๓๓๑  สมัยเมื่อพระพุทธยอดฟ้าฯ ท่านไปเป็นแม่ทัพรบอแซหวุ่นกี้นั้น เป็นปีพ.ศ. ๒๓๑๘  ในสมัยกรุงธนบุรี   อีก ๒๓ ปีต่อมาสมเด็จท่านจึงเกิด  ท่านจะเป็นราชบุตรของเจ้าพระยาจักรี หรือพระพุทธยอดฟ้าไม่ได้เลย

ที่เกิดสับสนกัน ถึงแก่สมมุติเอาว่าท่านมีเชื้อสายเจ้านายในราชวงศ์จักรี เพราะกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ท่านใช้ราชาศัพท์เมื่อสมเด็จพระพุฒาจารย์โตดับขันธ์ว่า  สมเด็จพระพุฒาจารย์โต สิ้นชีพิตักษัย   คำราชาศัพท์ว่า สิ้นชีพิตักษัย ใช้กับหม่อมเจ้า ทำให้คนเข้าใจผิดว่าท่านต้องเป็นชั้นหม่อมเจ้า  อันที่จริงพระราชาคณะชั้นสมเด็จ ท่านเทียบเท่าชั้นหม่อมเจ้า  กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์  ท่านจึงใช้ราชาศัพท์ว่า สิ้นชีพิตักษัย
ในการเขียนเรื่องสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) คราวนี้  จึงเขียนแต่เรื่องที่น่าเชื่อถือเท่านั้น และได้เพิ่มเรื่องบางเรื่องที่ไม่มีคนเขียนถึงไว้ด้วย คือ
๑. สุภาษิตสอนเด็ก ที่ท่านแต่งขึ้นในสมัยเป็นพระราชาคณะที่พระเทพกวี  ท่านจึงแต่งสุภาษิตคำกลอนขึ้นเพื่อให้สมกับสมณศักดิ์ของท่าน  แต่เรื่องนี้ไม่มีคนเขียนถึง จึงนำมาเขียนไว้  และนำเอาสุภาษิตคำกลอนสำนวนของท่านมาลงไว้ในหนังสือนี้ เพื่อให้ประวัติของท่านสมบูรณ์ขึ้น
๒. พระเครื่องสมเด็จมณีรัตน์ *(ข้อมูลไม่เผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ทตามหมายเหตุด้านล่าง)                                                    

                                                                                 

เทพ  สุนทรศารทูล 



(หมายเหตุผู้ทำบล็อก : 



เนื่องจากข้อมูลเกี่ยวพระเครื่องสมเด็จ ทั้งการสร้างและรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับองค์พระทุกรุ่น  อาจถูกนำไปใช้โดยไม่สุจริต และมิชอบด้วยเจตนารมณ์ของท่านผู้เขียน ที่ต้องการบอกกล่าวข้อมูลไว้เพื่อการศึกษาเท่านั้น  


จึงขอเว้นการเผยแพร่ข้อมูลทางอินเตอร์เน็ทในส่วนที่เกี่ยวกับเรื่องพระเครื่องสมเด็จทุกรุ่นที่เคยลงในหนังสือไว้ ...โดยผู้สนใจศึกษาจริง สามารถค้นคว้าอ่านได้จากหนังสือเล่มต้นฉบับสมบูรณ์ ที่หอสมุดแห่งชาติต่อไป)