วันพุธที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2559

อุตตริมนุสสธรรม ของ สมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) ตอน พระอายประธาน

พระอายพระประธาน
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมติอมรพันธุ์ ประทานเล่าว่า คราวหนึ่ง มีผู้ถามสมเด็จฯ ว่าม่านสองไข ที่บังพระประธานในอุโบสถนั้น มีไว้ทำไม

สมเด็จฯ ตอบว่า มีไว้สำหรับพระภิกษุสงฆ์ลงอุโบสถ แสดงอาบัติจะได้ปิดม่านเสีย ไม่ให้พระประธานเห็น แล้วแสดงอาบัติกัน ถึงแม้ถ้อยคำที่ตอบจะเชิงตลก แต่ก็สอนว่าพระท่านก็ อายเหมือนกันที่ทำผิดพระวินัย เมื่อมานั่งปลงอาบัติกัน ก็ยังอายพระพุทธเจ้า

วันพฤหัสบดีที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2559

อุตตริมนุสสธรรม ของ สมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) ตอน ยอยกกระหม่อมฉัน

ยกยอกระหม่อมฉัน
วันหนึ่งท่านไปที่วัดมหาธาตุ ซึ่งเป็นวัดพระสังฆราช  สมัยนั้นสมเด็จมีชื่อเสียงโด่งดังทางบอกใบ้ให้หวยอยู่แล้ว จึงมีพระองค์หนึ่ง มายืนดักอยู่ที่ประตูวัดมหาธาตุตอนขากลับ พอท่านเดินมาก็ยกมือไหว้อย่างนอบน้อม สมเด็จมองหน้า ถามว่า มีธุระอะไรหรือครับ พระภิกษุรูปนั้นตอบว่า
“กิตติศัพท์ใต้เท้าเลื่องลือนัก กระผมขอหวยสักตัวขอรับ...”
“แหม พระเดชพระคุณละก้อ...ยอหม่อมฉันเสียด้วย...”
ว่าแล้วท่านก็เดินผ่านหน้าไป พระรูปนั้นนึกว่าสมเด็จไม่ยอมบอกใบ้ให้หวยตน แต่เย็นวันนั้น หวยออกตัว ย.ห้องซุน (ยอหม่อมฉัน)


วันพฤหัสบดีที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2559

อุตตริมนุสสธรรม ของ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ตอน ช้างเผือกเกิดในป่า

ช้างเผือกเกิดในป่า
เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์โต เป็นช้างเผือกที่เกิดในป่าอย่างแท้จริง ในที่สุดก็ถูกจับมาขึ้นระวางเป็นช้างทรงของพระมหากษัตริย์ ได้เป็นสมเด็จฯ เทียบเท่ายศทางอำมาตย์มนตรีที่สมเด็จเจ้าพระยาอย่างสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในสมัยรัชกาลที่ ๕  เล่ากันว่าคราวหนึ่ง ท่านได้รับนิมนต์ไปเทศน์ที่ตำหนักของสมเด็จเจ้าพระยา ผู้มีอำนาจครอบคลุมแผ่นดินอยู่ ปรากฏว่ามีพวกข้าราชหัวเมืองพากันมาหาสมเด็จเจ้าพระยาสำเร็จราชการแผ่นดินมาก พากันนั่งหมอบก้มประนมมือกันอยู่เป็นแถว จนลืมไหว้พระ สมเด็จเจ้าพระยาเจ้าของตำหนักก็นั่งอิงหมอนอิงอยู่บนตั่งกำลังรินน้ำชาดื่มอยู่ ลืมไหว้พระเหมือนกัน ในขณะที่สมเด็จพระพุฒาจารย์เดินเข้ามา
เมื่อท่านขึ้นธรรมาสน์เทศน์แล้ว ว่านะโม ๓ จบ ให้ศีล ๕ ตามธรรมเนียมแล้ว ก็เข้าบทเทศน์
“สัมมามัวรินกินน้ำชา มิจฉาหมอบก้มประนมมือ...”
สมเด็จเจ้าพระยาฯ ฟังแล้วบาดหู จึงลุกขึ้นเดินหนีเข้าเรือนไปเลย วันนั้นสมเด็จเจ้าพระยาไม่ฟังเทศน์ ส่วนสมเด็จพระพุฒาจารย์โตก็ลงจากธรรมาสน์กลับวัดระฆัง  เล่ากันว่ามึนตึงกันมานานระหว่างสมเด็จเจ้าพระยาฯ กับสมเด็จพระฯ ภายหลังจึงดีกัน นี่คือตัวอย่างของลูกป่ามาเจอกับลูกกรุง สมเด็จฯ ท่านสอนคนทุกชั้น ไม่กลัวเกรงใครเลย
(โปรดติดตามตอนต่อไป) 

วันพฤหัสบดีที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2559

อตตรมนุสสธรรมของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต ) ตอน สมเด็จโตเทศน์สิบสองนักษัตร

สมเด็จโตเทศน์สิบสองนักษัตร
คราวหนึ่ง สมเด็จเจ้าพระยาบรมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในสมัยรัชกาลที่ ๕ ภรรยาน้อยท่านถึงแก่กรรมลง ท่านมีความเศร้าโศกมาก ประสงค์จะฟังพระธรรมเทศนาเรื่องอริยสัจ จึงให้นายผลบ่าวคนหัวธรรมะธรรมโม ไปนิมนต์สมเด็จมาเทศน์เรื่องอริยสัจ นายผลคนหัวล้านจึงไปเผดียงสมเด็จว่า เจ้าคุณนิมนต์ไปเทศน์เรื่องสิบสองนักษัตร
พอถึงวันงานสมเด็จก็ลงเรือกัญญาหลังคากระแชงพร้อมด้วยพัดยศถือมาให้สมเกียรติยศของสมเด็จเจ้าพระยาผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน จับพัดยศสมเด็จขึ้นตั้ง ว่านะโม ๓ จบ แล้วเดินกัณฑ์ต่อไปว่า
“อันว่า มุสิโก ว่าปีชวด หนู อุสโภ ว่าปีฉลู วัว พยัคโฆ ว่าปีเสือ ขาล สะโส ว่าปีเถาะ กระต่าย นาโค ว่าปีมะโรง งูใหญ่ สัปโปว่าปีมะเส็ง งูเล็ก อัสโส ว่าปีมะเมีย ม้า เอฬโก ปีมะแม แพะ มักกะโฏ ว่าปีวอก ลิง กุกกุโฏ ว่าปีระกา ไก่ สุนัขโข ว่าปีจอ หมา สุกโร ว่าปีกุน หมู...”
นักษัตรสิบสองนี้ คือปีเกิดของมนุษย์สัตว์ทั้งปวง อันจะวนเวียนเกิดเวียนตายอยู่ ในปีนักษัตรทั้งสิบสองนี้ ล้วนแต่เกิดตายวนเวียนไปในสิบสองขวบปีนักษัตรนี้ เป็นสมุฏฐานแห่งกรรมของสัตว์โลก อันจะแปรไปตามกรรมคือการเวียนว่ายตายเกิด  อันว่า เกิด แก่ เจ็บ ตาย ย่อมเป็นต้นเหตุแห่งความทุกข์ทั้งปวง พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสรู้ธรรม ๔ ประการ คือทุกข์ สมุทัย เหตุแห่งความทุกข์ มรรค หนทางเดินไปในทางพ้นทุกข์ และนิโรธ การดับทุกข์เสียด้วยการไม่เกิดคือนิพพานอันบรมสุข...
สาธุชนทั้งหลายผู้มาฟังพระธรรมเทศนาเรื่องนักษัตรนี้ นับว่าเป็นกุศลอันประเสริฐ เพราะไม่เคยมีมาแต่ก่อน และจะไม่มีในอนาคต เพราะเป็นความบังเอิญที่ผู้ไปนิมนต์อาตมามาเทศน์ เขาจำเรื่องผิดไป ให้มาเทศน์เรื่องสิบสองนักษัตร
“ท่านทั้งหลายควรจะขอบใจผู้ไปนิมนต์พระมาเทศน์ ถ้าเขาจำไม่ผิดที่ไหนจะได้ฟังเทศน์เรื่องสิบสองนักษัตรดังนี้เล่า ควรจะอนุโมทนาอวยพรให้ผู้ไปนิมนต์ให้จงมาก...”
ลงท้ายสมเด็จเทศน์พรรณนาคุณผู้นิมนต์มิให้ต้องได้รับโทษจากนายของตน ธรรมเทศนาวันนั้นก็จบลงที่อริยสัจสี่ประการ ไม่เสียความหมายเลย สมเด็จเจ้าพระยาบรมหาศรีสุริยวงศ์ ก็พอใจ
นี่คือน้ำใจอันประกอบด้วยเมตตากรุณา ท่านจะพูดด้วยใจเมตตากรุณาแก่สัตว์ มิให้ใครต้องรับความทุกข์โทมนัสจากคำพูดของท่านเลย
(โปรดติดตามตอนต่อไป)