วันพฤหัสบดีที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2559

อุตตริมนุสสธรรม ของ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ตอน สุนัขพระโพธิสัตว์

สุนัขพระโพธิสัตว์

สมเด็จฯ ท่านเคารพสัตว์ด้วย ท่านถือว่าสัตว์นั้นคือสัตว์ชั้นต่ำ มนุษย์นั้นคือสัตว์ชั้นสูงที่มีใจสูงกว่าสัตว์ เพราะรู้ดีรู้ชั่ว รู้บาปบุญคุณโทษ เวลาท่านจะเดิน เช่นหมากำลังนอนขวางทาง หรือนอนขวางบันไดอยู่ ท่านจะบอกว่า “ขอโทษ ขอฉันไปหน่อยนะจ๊ะ”

มีคนถามท่านว่า  ทำไมต้องขอโทษสุนัขด้วยเล่า ท่านตอบว่า

     "ฉันไม่รู้อาจจะรู้ได้ว่า สุนัขนี้เป็นสุนัขโพธิสัตว์หรือเปล่า  เพราะพระพุทธเจ้ายังเคยเสวยพระชาติเป็นสุนัขมาแล้ว...."

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

วันพฤหัสบดีที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2559

อุตตริมนุสสธรรม ของ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ตอน พระพุทธรูปคือองค์พระปฎิมา

พระพุทธรูปคือองค์พระพุทธปฏิมา

วันหนึ่งสมเด็จฯ ท่านไปในงานบ้านช่างหล่อ มีพระพุทธรูปตั้งอยู่ห่างทางเดินประมาณ ๒ ศอก ท่านก็ยกมือขึ้นนมัสการ พระที่เดินตามก็ต้องทำตามท่านบ้าง นายเทศ จึงถามว่า “พระพุทธรูปที่พึ่งหล่อเสร็จ ยังไม่ได้ทำพิธีเปิดพระเนตร เป็นพระพุทธปฏิมากรแล้วหรือขอรับ”
สมเด็จฯ ท่านตอบว่า
“เป็นจ้ะ เป็นตั้งแต่ผู้ทำหุ่นหล่อเป็นพระพุทธรูปแล้ว เพราะเขาตั้งใจหล่อให้เป็นพระพุทธรูปปฏิมากร แทนองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า สิ่งนั้นไม่ใช่อิฐ หิน ดิน หรือทองเหลืองต่อไปแล้ว เป็นอุเทสิกเจดีย์เป็นเจดีย์ที่อุทิศถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า...”





วันพฤหัสบดีที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2559

อุตตริมนุสสธรรม ของ สมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) ตอน พระสวดโอ้เอ้วิหารราย


พระสวดโอ้เอ้วิหารราย
การสวดพระอภิธรรมในงานศพสมัยก่อน มีการสดวทำนองตามคำกาพย์ที่ท่านแต่งไว้ เรื่องที่สวดนั้นโดยมากสวดเรื่องพระมาลัย มีทำนองแปลกๆ มีการสวดลงลูกคอว่า “ชะเอิงเงิงเงยช้า” กระทุ้งตอนท้ายด้วย เวลานี้ยังมีการสวดตามวัดโบราณบ้านนอก เช่นที่วัดตาก้อง นครปฐม วัดสารอด ที่เขตราษฎร์บูรณะ กรุงเทพฯ ก็ยังมีสวดอยู่ พระจอมเกล้าฯ ท่านไม่โปรด ว่าเป็นการสวดตลกคะนอง ขาดสมณสารูป ในคณะธรรมยุตที่ท่านตั้งขึ้นใหม่จึงไม่มีการสวดอย่างนี้เลย ท่านไม่เคยสดับตรับฟังมานานกว่า ๔๐ ปี
คราวนั้น ใน พ.ศ. ๒๔๐๘ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ สวรรคต ที่วังหน้าจึงมีงานสวดพระอภิธรรมในวังหน้าตามธรรมเนียมเก่าของฝ่ายมหานิกาย เป็นการสวดเพื่อเป็นเพื่อนศพและเจ้าภาพมิให้โศกเศร้า จึงมีการสวดสังคหะ คือสวดเป็นทำนอง พระ ๘ องค์สวดกันสนุกสนาน เสียงดัง ตามแบบโบราณแท้
คืนนั้นพระจอมเกล้าเสด็จไปในงานพระบรมศพของพระปิ่นเกล้าฯ พอรู้ว่าพระจอมเกล้าฯ เสด็จไปในวังหน้า พอเห็นพระจอมเกล้าฯ พระที่สวดพระอภิธรรม ทำนองเสนาะอยู่ ก็พากันตกใจ เพราะทราบว่าพระจอมเกล้าฯ ไม่โปรด จึงหยุดสวด แล้วพากันหลับหน้าเข้าไปซ่อนในม่าน พระจอมเกลาฯ ทราบว่าพระหยุดสวด เพราะท่านเสด็จไปอย่างนั้น จึงทรงพิโรธใหญ่ มีพระอักษรถึงสมเด็จพระพุฒาจารย์โตทันทีว่า พระเห็นพระเจ้าแผ่นดินเสด็จเข้าไปในงานพระบรมศพ กลับหลบหนีหมด เป็นการดูหมิ่นพระเจ้าแผ่นดิน ขอให้สึกพระเหล่านี้เสีย แล้วให้ราชบุรุษนำหนังสือพระราชหัตถเลขไปให้สมเด็จฯ เจ้าคณะผู้ปกครองสงฆ์เหล่านั้น สมเด็จท่านอ่านแล้ว จุดธูปขึ้น เอาก้านธูปจี้ลงในกระดาษนั้น ๓ จุด ส่งคืนให้ราชบุรุษไปถวายพระจอมเกล้าฯ
พระจอมเกล้าฯ ทรงทอดพระเนตรแล้ว ตรัสว่า
“อ้อ ท่านสอนให้เราดับไฟกิเลส ๓ กอง คือ โทสัคคี ราคัคคี โมหัคคี ไฟโทสะ ไฟโมหะ ไฟราคะ...”
เป็นอันว่าพระ ๘ องค์นั้น ไม่ถูกจับสึก และพระทั้งหลายก็ไม่สวดสังคหะแบบโอ้เอ้วิหารรายต่อไป ความนิยมในการสวดทำนองเสนาะแบบโบราณที่นิยมสวดมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาก็ซบเซาลง
อันที่จริงการสวดทำนองเสนาะ หรือสวดกลอนสวดนี้มีมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เพราะบาทหลวงมาเผยแพร่ศาสนาคริสต์ด้วยการสวดทำนองเสนาะในโบสถ์ มีดนตรีประกอบด้วย คือมีคนดีดเปียโนคลอ เป็นกลวิธีกล่อมใจคนให้เคลิบเคลิ้มในอารมณ์ศรัทธาพระเจ้า พระจีนก็มีสวดกงเต๊ก มีดนตรีประกอบด้วย พระไทยสวดพระมาลัยในงานศพ หรือสวดกลอนแบบนี้ยังเบากว่ามากนัก น่าเสียดายที่เรามาละเลิกประเพณีสวดทำนองเสนาะนี้เสีย กลอนสวดที่ท่านแต่งเป็นกาพย์ยานี กาพย์ฉบัง กาพย์สุรางคนางค์ กาพย์ขับไม้ จึงเสื่อมสูญไป จนเกือบไม่มีใครรู้จักกลอนสวดเหล่านี้เสียแล้ว เนื่องจากไม่ต้องพระราชนิยม อันที่จริงกวีโบราณท่านแต่งเรื่องชาดกต่างๆ ไว้เป็นกลอนสวดมากมาย เช่นเรื่องกาพย์สังข์ศิลปะชัย หรือสังข์ศิลปะชัยกลอนสวด กาพย์โนราห์ หรือมโนราห์กลอนสวด เป็นต้น กวีท่านแต่งไว้ให้สวดทำนองเสนาะ จึงเรียกว่ากลอนสวด แม้ในวังก็มีการหัดเด็กลูกจ้าวนายให้สวดกันที่ระเบียงโบสถ์วัดพระแก้ว จึงเรียกกันว่าสวดโอ้เอ้วิหารราย แบบสอนอ่านประถม เช่นจินดามณีของพระมหาราชครู หรือประถม ก.กาของสุนทรภู่ ที่แต่งขึ้นถวายพระเจ้าลูกเธอในรัชกาลที่ ๒ ก็คือกลอนสวดนี่เอง
น่าเสียดายที่ประเพณีการสวดกลอนสวด ทำนองเสนาะของเราเกือบจะสูญไปแล้ว อย่างการสวดพระมาลัยในงานศพนั้น เกือบสูญไปแล้ว ยังมีแต่บางวัดเท่านั้นที่ยังรักษาประเพณีเอาไว้ได้

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

วันพฤหัสบดีที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2559

อุตตริมนุสสธรรม ของ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ตอน เรื่องของหมา คนไม่เกี่ยว

เรื่องของหมา คนไม่เกี่ยว
เล่ากันเป็นสนุกว่าคราวครั้งหนึ่งมีหมาไปติดเก้งกันอยู่บนศาลาการเปรียญ พระเณรก็ไล่ตีเสียงเอะอะ สมเด็จท่านก็เดินมาดู ร้องว่า “เรื่องของหมา คนไม่เกี่ยว”

เรื่องอย่างนี้แหละที่คนชอบเอามาเล่าไว้ในประวัติสมเด็จ มีแต่เรื่องค่อนข้างตลกคะนองเฮอาอย่างนี้ บางคนเอาเรื่องว่าสมเด็จด่าพระธรรมอุดมว่า อ้ายห่า ไอ้เปรต ไอ้ถึก บางแห่งเล่าว่าเอากระโถนปากันในระหว่างเทศน์ธรรมาสน์คู่ ว่ากระโถนโดนเสาแตกกระจาย นี่ชอบเล่ากันเป็นตลกคะนองหยาบคายอย่างนี้ แทนที่จะเป็นการสรรเสริญพระสงฆ์ที่ดี กลับไปลดค่าลงมาจากการเล่าเดาสวดของคนบางคน
(โปรดติดตามตอนต่อไป) 

วันพฤหัสบดีที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2559

อุตตริมนุสสธรรม ของ สมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) ตอน วิญญาณอยู่ที่ไหน

วิญญาณอยู่ที่ไหน

เจ้าภาพผู้เป็นบัณฑิต สอบถามสมเด็จต่อไปอีกว่า วิญญาณ มีหรือไม่ ถ้ามีวิญญาณอยู่ที่ไหน สมเด็จตอบว่า
“วิญญาณมีอยู่ในอากาศ ล่องลอยไปมาเหมือนฝุ่น ปลิวไปในอากาศ เหมือนเม็ดแมงลักแช่น้ำมันพร้อมที่จะผุดเกิดได้ทุกเวลานาที วิญญาณตัวเดียวนี้แหละเข้าท้องคนก็เกิดเป็นคน เข้าท้องหมาก็เกิดเป็นหมา เข้าท้องควายก็เกิดเป็นควาย เข้าท้องช้างก็เกิดเป็นช้าง เข้าท้องม้าก็เกิดเป็นม้า เข้าท้องลิงก็เกิดเป็นลิง พระพุทธเจ้าเคยเกิดเป็นสัตว์ต่างๆ มาทุกชนิด พระพุทธเจ้าเคยเกิดเป็นสุนัขมาแล้ว เคยเกิดเป็นลิงเคยเกิดเป็นช้างมาแล้ว จึงทรงเบื่อหน่ายการเกิดมาตายเวียนว่ายอยู่ในวัฏสงสาร จึงพากเพียรพยายามบำเพ็ญพระบารมี เพื่อเข้านิพพานบรมสุข ไม่ต้องมาเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป”
“แล้วทรงมีพระมหากรุณาแก่สัตว์อื่น ที่เกิดมาเวียนว่ายตายเกิดไม่สิ้นสุด จึงทรงพากเพียรพยายามเทศนาสั่งสอนให้คนบำเพ็ญเพียรพ้นทุกข์ไม่ต้องมาเกิดอีก คือบรรลุธรรมวิเศษเป็นพระอรหันต์เข้านิพพานบรมสุข จึงมีผู้ปฏิบัติตามจนได้เป็นพระอรหันต์นับพันนับหมื่นองค์ในสมัยนั้นมาจนทุกวันนี้ การเป็นพระอรหันต์การบรรลุพระนิพพาน จึงเป็นจุดหมายปลายทาง เรียกว่า มรรคผลนิพพานหรือโลกุตตรธรรม แปลว่า พ้นโลก เหนือโลก ลอยอยู่ในนภากาศประดุจดังดวงจันทร์ ดวงดาวทั้งหลายในนภากาศ แสนล้านปีก็ลอยคว้างอยู่ได้ในโกฏิจักรวาล นี้มีดวงดาวนับล้านดวง เป็นสิ่งมหัศจรรย์ของจักรวาล ที่เกิดเองเป็นเอง ไม่มีพระเจ้าองค์ใดสามารถสร้างหรือจัดระบบได้เลย...”
คำปุจฉา แปลว่า ถามปัญหา และคำวิสัชนา แปลว่า คำวินิจฉัยของสมเด็จกับเจ้านายนี้ ลึกซึ้งเกินไป เหลือกำลังปัญญาของไพร่บ้านธรรมดาจะจดจำมาเล่าขานกัน เป็นธรรมที่รู้กันในหมู่บัณฑิต จึงไม่เล่ากันในหมู่ชาวบ้านทั่วไป
ถึงจะมีใครนำมาเล่า ก็ไม่เป็นที่สนใจที่จะเงี่ยโสตสดับ หรือจดจำไว้ มันเกินปัญญาบารมีของปุถุชนคนทั่วไป ด้วยเป็นเรื่องห่างไกลจากชีวิตประจำวันของชาวบ้านธรรมดา
ชนชาติไทยเรา มาอยู่ในแผ่นดินที่อุดมสมบูรณ์ ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว จึงมีนิสัยรักแต่ความสะดวกสบาย ไม่ชอบคิดเรื่องลึกซึ้ง ไม่ชอบฟังเรื่องนามธรรมที่มองเห็นยาก คนไทยเราจึงหาคนที่เป็นนักคิด นักค้นคว้า นักการศาสนา นักปรัชญา นักวิทยาศาสตร์ ไม่ค่อยพบ รู้อะไรก็รู้ตามคำเขาว่า เป็นนักคัดลอก นักลักจำเสียมาก ไม่เหมือนชาวอินเดียว ชาวจีน แม้แต่เรื่องจิตวิญญาณที่สอนอยู่ในพุทธศาสนาก็ไม่ค่อยมีคนสนใจ

(โปรดติดตามตอนต่อไป)