วันพฤหัสบดีที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2561

อุตตริมนสธรรม ของ สมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) ตอน กระต่ายดำ กระต่ายขาว

กระต่ายดำ กระต่ายขาว

ลูกศิษย์สมเด็จพระสังฆราชด่อน ที่ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ให้นั้น มีชื่อเสียงโด่งดังมากอยู่สององค์ องค์แรกบวชเมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๒ มีนามฉายาว่า โต พรหมรังสี องค์ที่สองบวชเมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๗ มีนามฉายาว่า วชิรญาณ คือ เจ้าฟ้ามงกุฎ พระภิกษุทั้งสององค์นี้เก่งคนละด้าน องค์แรกเก่งทางวิปัสสนา เป็นพระฝ่ายอรัญญวาสี เชี่ยวชาญทางสมถวิปัสสนา ถึงขนาดได้ญาณทัศนะเห็นได้ในที่ลี้ลับห่างไกล องค์ที่สองเก่งทางปริบัติ เก่งทางภาษาบาลี ภาษาอังกฤษ โหราศาสตร์ ดาราศาสตร์ แต่ทั้งคู่มีปฏิภาณไหวพริบเฉียบแหลม จึงต่างองค์ต่างนับถือกัน เรียกว่าปราชญ์รู้เชิงปราชญ์
เมื่อพระวชิรญาณ ตั้งคณะธรรมยุติกนิกายขึ้นเพื่อกุศโลบายอันลึกซึ้ง ๒ ประการ คือ ๑.เพื่อปฏิรูปพระพุทธศาสนาให้เรียบร้อยขึ้น ๒.เพื่อหาสมัครพรรคพวกทางการเมืองในการที่จะขึ้นครองราชสมบัติแบบพระพิมลธรรมในสมัยกรุงศรีอยุธยา ที่ขึ้นครองราชย์สมบัติเป็นพระเจ้าทรงธรรม มีคนเข้ามาถวายตัวเป็นศิษย์กันมาก เมื่อทราบว่าพระมหาโต เก่งมาก มีคนเคารพนับถือมาก จึงให้คนมานิมนต์พระมหาโตไปพบที่วัดสมอราย
“มีบุรุษสองคน เดินทางมาด้วยกัน ต่างคนต่างแบกปอมาพบผ้าไหมเข้า คนหนึ่งจึงทิ้งป่านปอที่แบกมาทอเป็นผู้นุ่งห่ม จึงทิ้งป่านปอนั้นลงเสีย เอาผ้าไหมไป อีกคนหนึ่งไม่ยอมทิ้งป่านปอ คงแบกปอต่อไป ท่านเห็นว่า คนแบกปอหรือคนแบกไหมใครฉลาดกว่า...”
พระจอมเกล้าหรือพระวชิรญาณ กล่าวเป็นปริศนาธรรม
มหาโต ฟังแล้วรู้เท่าทันว่า จะชักชวนเข้าบวชใหม่ในธรรมยุติกนิกาย จึงตอบเฉไฉว่า
“ยังมีกระต่ายสองตัว หากินอยู่ในป่าด้วยกัน ตัวหนึ่งขาว ตัวหนึ่งดำ วันหนึ่งกระต่ายขาวชักชวนกระต่ายดำว่า หญ้าฝั่งน้ำข้างโน้นมีมากกว่าฝั่งนี้ ควรว่ายน้ำข้ามฟากไปหากินฝั่งโน้นหญ้าอุดมสมบูรณ์กว่า กระต่ายดำไม่ยอมไป กระต่ายขาวจึงว่ายน้ำข้ามฝั่งไปหากินแต่ตัวเดียว ว่ายน้ำข้ามไปมาอยู่เสมอ วันหนึ่งเกิดลมพายุพัดจัด มีคลื่นลมปั่นป่วน พัดเอากระต่ายขาวจมน้ำตาย แต่กระต่ายดำยังอยู่ดี ฝ่าบาทลองทำนายดูว่ากระต่ายตัวไหนฉลาด...”
เรื่องก็จบลง ไม่มีการโต้ตอบกันไป มหาโต ก็คงอยู่ในคณะมหานิกายต่อมา ไม่ยอมเปลี่ยนนิกายจนกระทั่งมรณภาพ ในตำแหน่งพระราชาคณะชั้นสมเด็จพระพุฒาจารย์


อุตตริมนุสธรรม ของ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต ) ตอน พระนิพพานเป็นอยางไร



พระนิพพานเป็นอย่างไร

คราวหนึ่งท่านไปเทศน์ที่วังเจ้านายองค์หนึ่ง เจ้าของวังถามปัญหาว่า
“พระนิพพานนั้นเป็นอย่างไร”
สมเด็จฯ ทูลว่า อาตมภาพก็ยังไม่เคยเข้านิพพาน เหมือนคนยังไม่เคยวิวาห์ ยังไม่ทราบว่า รสข้าวใหม่ปลามันนั้นเป็นฉันใด ดังมีนิทานเล่าว่า ยังมีพี่น้องสองสาว พี่สาวแต่งงานแล้วมาเยี่ยมน้องสาว น้องสาวถามความลับว่า หลับนอนกันมันสุขสนุกอย่างไร พี่สาวตอบว่า พูดไม่ถูก บอกไม่ได้ดอก แกเข้าวิวาห์แล้วแกก็จะรู้รสด้วยตนเอง แต่แล้วแกก็บอกเล่าใครไม่ได้  พระนิพพานนี้เป็นปัจจัตตัง รู้ได้แต่พระอรหันต์เท่านั้น

อุตตริมนุสธรรมของ สมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) ตอน พระอรหันต์มีลักษณะอย่างไร


พระอรหันต์มีลักษณะอย่างไร

คราวหนึ่งสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) ไปเทศน์ที่วังเจ้านายองค์หนึ่ง เจ้านายนั้นลองภูมิสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต)ว่า  พระอรหันต์มีลักษณะ ๔ อย่าง
๑.อกัมมยตา ไม่สู้ เช่น พระอุบลวรรณา
๒.อคัมมยตา ไม่หนี เช่น พระโมคัคานะ
๓.อตัมมยตา ไม่อยู่ ไม่มาเกิดอีกในโลกนี้
๔.อมัมมยตา ไม่ตาย เมื่อไม่ตายก็ไม่เกิด

แล้วถามสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) ว่า 

“ถ้าเช่นนั้นพระอรหันต์ก็ตายสูญใช่หรือไม่...”


สมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) ตอบว่า  

“ไม่ตายสูญดอก  ไม่มีสิ่งใดในจักรวาลนี้สูญหายไปเลย พระอรหันต์ท่านอยู่ในพระนิพพาน ที่เรียกว่าโลกุตตรภูมิ ชั่วกัปกัลป์พุทธันดร เพียงแต่ท่านไม่เวียนว่ายตายเกิดเหมือนสัตว์อื่นเท่านั้น...”


วันพฤหัสบดีที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2561

อุตตริมนุสธรรมของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ตอน ภัตตาหารชาววัง


ภัตตาหารชาววัง

พระอารามหลวงสมัยนั้น มีโรงครัวของวัด วันใดได้รับอาหารบิณฑบาตน้อย หรือพระภิกษุอาพาธก็มีพระจัดภัตตาหาร เรียกว่า พระภัตตุเทศก์ (ภัตต+อุเทศก์) พระผู้แนะนำอาหาร สำหรับวัดระฆังนั้น พระจุลจอมเกล้าทรงเคารพเป็นพิเศษ จึงพระราชทานอาหารจากวังไปถวายเสมอ
วันหนึ่งสมเด็จท่านได้รับพระราชทานภัตตาหารมาจากในวัง ท่านก็ไม่ฉัน แต่เอาภัตตาหารนั้นมาใส่กระทะเอาผักบุ้งสายบัวมาหั่นใส่ลงไปให้มาก จะเรียกว่าแกงส้มก็ไม่ได้ จะเรียกว่าแกงเผ็ดก็ไม่เชิง เพราะไม่มีเนื้อหมู เนื้อปลา มีแต่ผักกับอาหารที่พระราชทานมา พอทำครัวเสร็จก็ตีกลองเพล ให้พระมารับภัตตาหารในโรงครัว สมเด็จท่านตักแจกด้วยตนเองเลย พระเณรก็มารับอาหารกันทั่วหน้า ท่านบอกว่าอาหารชาววังนะจ๊ะ ฉันได้รับพระราชทานมา จึงเอามาแบ่งให้ท่านฉันกันพอรู้รสชาติ แต่ฉันปรุงเสียใหม่นะจ๊ะ เพราะของมีน้อยเอาอาหารในวังมาเป็นเชื้อกระสาย
วันนั้นเป็นวันธรรมสวนะ พระทั้ง ๕๐ รูปก็ลงโบสถ์ตอนเย็น สมเด็จก็ไปนั่งอยู่ที่บันไดประตูโบสถ์ องค์ไหนผ่านมา ท่านก็ทักทายถามว่าอาหารมื้อนี้อร่อยมากไหม
“อร่อยมากขอรับ”
“พอฉันได้ขอรับ”
“รสชาติดีขอรับ”
“อาหารพระจะเอาอร่อยมากไม่ได้ดอกขอรับ เราฉันเพื่ออยู่ มิใช่อยู่เพื่อฉัน” ต่างองค์ต่างตอบไปคนละอย่าง
พอมาถึงหลวงตาองค์หนึ่ง ท่านตอบว่า “ไม่ไหวขอรับพระเดชพระคุณ เทให้สุนัขมันยังไม่กิน”
สมเด็จท่านยกมือไว้พระหลวงตาองค์นั้น พูดว่า “สาธุ หลวงตานี่แหละศีลบริสุทธิ์ ควรเคารพนบไหว้...”
หลังจากทำวัตรเย็นแล้ว สมเด็จก็เทศน์อบรมพระ ยกย่องหลวงตาว่าเป็นพระศีลบริสุทธิ์ แล้วอธิบายต่อไปว่า
“นี่แหละท่านเรียกว่าอาการสำรวม คือเมื่อพระเราฉันอาหาร ท่านให้สำรวม ๓ อย่าง คือ สำรวมกิริยา อย่าฉันอาหารเสียงดับจั๊บๆ อย่าซดน้ำแกงดัง สำรวมวาจา อย่าคุยกันในเวลาฉันอาหาร สามสำรวมใจ พิจารณาว่าเราฉันเพื่อมีชีวิตอยู่ปฏิบัติธรรม ไม่ติดในรสอาหาร ฉันเพียงเพื่ออิ่มไปมือหนึ่ง เมื่ออาหารลงไปในท้องแล้วเหมือนกันหมด รากออกมาก็เหม็น ถ่ายออกมาก็เหม็นเหมือนกันทุกคน อย่าลืมอาหารสำรวมของผมเสียนะ...”