เสกก้อนหิน ๓ ก้อน
สมเด็จพระพุฒาจารย์
ท่านเสกก้อนหิน ๓ ก้อน เขียนยันต์ ๓ อย่าง
๑.ก้อนที่หนึ่ง
เขียนยันต์มหาอุจจ์ เอาไปใส่ไว้ในสระหลังวัด
๒.ก้อนที่สอง
เขียนยันต์มหานิยม เอาไปใส่ไว้ในสระกลางวัด
๓.ก้อนที่สาม
เขียนยันต์มหาลาภ เอาไปทิ้งไว้หน้าวัด
ใครอยากมีลาภให้ไปตักน้ำหน้าวัดระฆังเวลาตักน้ำให้ตักตอนน้ำขึ้น
หันหน้าไปทางทิศอุดร
เรื่องนี้ภายหลังพระพุทธบาทปิลันธน์
(พระภิกษุหม่อมเจ้าทัด เสนีย์วงศ์)
ลูกศิษย์ก้นกุฏิของท่านได้สร้างพระรูปสมเด็จกำลังภาวนา ด้านหลังมียันต์มหาลาภนี้
และพระสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ด้านหลังมีคำว่า พูน ทวี ลาภ ผล
บางองค์เขียนยันต์ว่า มหาลาภ ใครเลื่อมใสศรัทธา อาราธนาติดตัว จะมีลาภผลเสมอ
ตามกำลังบุญวาสนา และตามศรัทธาของตน ให้อธิษฐานเอาเอง
เรื่องอำนาจของการอธิษฐานนี้
มีกำลังอันมหัศจรรย์ ทำอะไรท่านอธิษฐานเสมอว่ามีความปรารถนาสิ่งใด
อย่าทำอะไรเลื่อนลอย ให้อธิษฐานเสมอ เหมือนตั้งจิตปรารถนาไว้ ย่อมบรรลุผลตามปรารถนาเสมอ
แม้ไม่สำเร็จใน ๗ วัน ก็สำเร็จใน ๗ เดือน ไม่สำเร็จใน ๗ เดือน ก็สำเร็จใน ๗ ปี
แม้ไม่สำเร็จใน ๗ ปี ก็จะสำเร็จใน ๗ ชาติ ไม่ว่าอธิษฐานขอเป็นเศรษฐี
ขอเป็นพระราชาขอเป็นพระอรหันต์ ย่อมสำเร็จตามบุญวาสนา ตามแรงอธิษฐานนั้น แรงอธิษฐานเป็นบารมีอย่างหนึ่งในพระพุทธศาสนา
แม้พระพุทธเจ้าที่สำเร็จพระโพธิญาณเป็นพระพุทธเจ้าก็เพราะทางอธิษฐานไว้แต่ชาติปางก่อนหลายร้อยชาติมาแล้ว
พระอรหันต์ทุกองค์ล้วนแต่เคยอธิษฐานมาแล้วในชาติปางก่อนทั้งสิ้น
ไม่ใช่อยู่ๆ ก็เป็นพระอรหันต์ได้เอง ทุกผู้ทุกคนย่อมเป็นไปตามจิตปรารถนา
ไม่เร็วก็ช้าทุกคนไม่มีเว้นเลย
ตัวอย่างที่เล่ามานี้
คือเรื่องการกระทำสัจกิริยาขอถึงพระนิพพานหรือพูดตามภาษาสูงที่ไพเราะว่า
การตั้งสัตยาธิษฐานขอถึงพระนิพพาน พระพุทธเจ้าท่านทรงอธิษฐานก่อนเป็นองค์แรกเมื่อ
๔๕ ปี ก่อนพระนิพพาน การกระทำสัจกิริยาขอถึงพระนิพพาน
จึงเป็นประเพณีของชาวพุทธแต่ไหนแต่ไรมา พระอริยสาวกทุกองค์
ล้วนแต่กระทำสัจกิริยาขอถึงพระนิพพานทุกองค์
ชาวพุทธทุกคนเมื่อทำบุญทำทานสิ่งใด
มักจะกระทำสัตยาธิษฐานขอถึงพระนิพพาน อันเป็นบุญสูงสุดยอดในพระพุทธศาสนา
เมื่อทำบุญตักบาตร
พุทธศาสนิกชน จะอธิษฐานว่า
“อิทัง
ทานัง นิพพานะ ปัจจะโยโหตุ...”
ขอผลทานนี้
จงเป็นปัจจัยให้ถึงพระนิพพานในอนาคตกาลเทอญ
คำอธิษฐานนี้เราจะได้ยินชนชั้นปู่ย่าตายาย
อธิษฐานกันมามากแล้ว บางคนมักจะพูดว่า ทำบุญนิดเดียว อธิษฐานเอามากมาย
เป็นการค้ากำไรเกินควร มันมิใช่เช่นนั้นดอก
เพียงแต่ท่านปฏิบัติตามประเพณีของชาวพุทธเท่านั้น คือเป็นการสะสมบุญไว้ทีละน้อย
เหมือนสะสมเงินสลึงไว้เป็นเงินบาท สะสมเงินบาทไว้เป็นเงินร้อยบาท สะสมเงิน ๑๐๐
บาทไว้เป็นเงินพันบาท หมื่นบาท แสนบาท ล้านบาท เพราะสิ่งใหญ่มาจากสิ่งน้อย ท่านพูดว่าอย่าประมาทบุญว่าน้อย
อย่าประมาทบาปว่าเล็กน้อย อย่าประมาทไฟว่าน้อย อย่าประมาทน้ำว่าน้อย
หมั่นสะสมย่อมมากได้ เพราะจะต้องเกิดอีกนับชาติไม่ถ้วน วันหนึ่งในล้านปีข้างหน้า
เราอาจได้บรรลุพระนิพพาน การทำสัตยาธิษฐาน
จึงเป็นประเพณีของชาวพุทธ พระโพธิสัตว์
ล้วนแต่ต้องตั้งจิตปรารถนาคือกระทำสัตยาธิษฐานมาแล้วทุกองค์
จึงไม่ต้องสงสัยว่าสมเด็จพระพุฒาจารย์ จะไม่กระทำสัตยาธิษฐาน
แม้พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เมื่อบรรพชาอยู่ ก็ทรงอธิษฐานหลายครั้ง ครั้งหนึ่งทรงอธิษฐานว่า
ถ้าสมณศากยวงศ์ยังไม่สิ้นไปจากเมืองไทย ขอให้ได้พบภายใน ๓ วัน ๗ วัน
มิฉะนั้นจะถือว่าศากยวงศ์สิ้นแล้ว จะลาสิกขาออกไปถือศีล ๘ ได้พบพระสุเมธาจารย์วัดศรีสุดาราม
ซึ่งเป็นพระภิกษุชาวมอญจึงได้บวชในสำนักของพระสุเมธาจารย์ในพัทธสีมาแม่น้ำหน้าวัดราชาธิวาสตั้งคณะธรรมยุติกนิกายขึ้น
ถึงพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลมหาราช
ท่านก็ทรงอธิษฐานว่า
ข้าพเจ้าตั้งใจจะบวชในพระพุทธศาสนา
ถ้ามีบุญจะได้บวชแล้ว ขอให้พระภิกษุกรมหลวงวชิรญาณวงศ์หายประชวร
เป็นพระอุปัชฌาย์ให้ ถ้าไม่มีบุญจะได้บวช ก็จะไม่บวช ต้องการให้กรมหลวงวชิรญาณวงศ์เป็นอุปัชฌาย์ให้เพียงองค์เดียวเท่านั้น
ถ้าไม่มีกรมหลวงวชิรญาณวงศ์เป็นอุปัชฌาย์ให้ ก็จะไม่บวช ครั้นกราบพระตั้งสัตยาธิษฐานแล้ว
ก็เสด็จไปวัดบวรนิเวศ ให้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ไปทูลว่าจะเสด็จไปเยี่ยม ม.ร.ว.กฤทธิ์ ปราโมช ก็ไปหากรมหลวงวชิรญาณวงศ์
พบท่านกำลังบรรทมอยู่ จึงก้มลงทูลดังๆ ที่พระกรรณว่า “พระเจ้าอยู่หัวมา”
กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ก็ลืมพระเนตรขึ้น ตรัสว่า
“กูกำลังจะไปอยู่แล้ว...”
แล้วลุกขึ้นห่มไตรจีวรเรียบร้อย นั่งรอรับเสด็จอยู่
เมื่อพระเจ้าอยู่หัวเข้าไปนมัสการ
ทูลว่าจะบวช ขอให้เป็นพระอุปัชฌาย์ให้ด้วย กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ก็หายประชวร
แล้วเป็นพระอุปัชฌาย์ให้เรียบร้อย
อีกสองปีต่อมา
ท่านจึงสิ้นพระชนม์ นี่คือผลของการตั้งสัตยาธิษฐาน
มีผลอย่างอัศจรรย์อย่างนี้