สมเด็จโตเทศน์สิบสองนักษัตร
คราวหนึ่ง
สมเด็จเจ้าพระยาบรมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในสมัยรัชกาลที่
๕ ภรรยาน้อยท่านถึงแก่กรรมลง ท่านมีความเศร้าโศกมาก
ประสงค์จะฟังพระธรรมเทศนาเรื่องอริยสัจ จึงให้นายผลบ่าวคนหัวธรรมะธรรมโม
ไปนิมนต์สมเด็จมาเทศน์เรื่องอริยสัจ นายผลคนหัวล้านจึงไปเผดียงสมเด็จว่า เจ้าคุณนิมนต์ไปเทศน์เรื่องสิบสองนักษัตร
พอถึงวันงานสมเด็จก็ลงเรือกัญญาหลังคากระแชงพร้อมด้วยพัดยศถือมาให้สมเกียรติยศของสมเด็จเจ้าพระยาผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน
จับพัดยศสมเด็จขึ้นตั้ง ว่านะโม ๓ จบ แล้วเดินกัณฑ์ต่อไปว่า
“อันว่า
มุสิโก ว่าปีชวด หนู อุสโภ ว่าปีฉลู วัว พยัคโฆ ว่าปีเสือ ขาล สะโส ว่าปีเถาะ
กระต่าย นาโค ว่าปีมะโรง งูใหญ่ สัปโปว่าปีมะเส็ง งูเล็ก อัสโส ว่าปีมะเมีย ม้า
เอฬโก ปีมะแม แพะ มักกะโฏ ว่าปีวอก ลิง กุกกุโฏ ว่าปีระกา ไก่ สุนัขโข ว่าปีจอ หมา
สุกโร ว่าปีกุน หมู...”
นักษัตรสิบสองนี้
คือปีเกิดของมนุษย์สัตว์ทั้งปวง อันจะวนเวียนเกิดเวียนตายอยู่
ในปีนักษัตรทั้งสิบสองนี้ ล้วนแต่เกิดตายวนเวียนไปในสิบสองขวบปีนักษัตรนี้
เป็นสมุฏฐานแห่งกรรมของสัตว์โลก อันจะแปรไปตามกรรมคือการเวียนว่ายตายเกิด อันว่า เกิด แก่ เจ็บ ตาย
ย่อมเป็นต้นเหตุแห่งความทุกข์ทั้งปวง พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสรู้ธรรม ๔ ประการ
คือทุกข์ สมุทัย เหตุแห่งความทุกข์ มรรค หนทางเดินไปในทางพ้นทุกข์ และนิโรธ
การดับทุกข์เสียด้วยการไม่เกิดคือนิพพานอันบรมสุข...
สาธุชนทั้งหลายผู้มาฟังพระธรรมเทศนาเรื่องนักษัตรนี้
นับว่าเป็นกุศลอันประเสริฐ เพราะไม่เคยมีมาแต่ก่อน และจะไม่มีในอนาคต เพราะเป็นความบังเอิญที่ผู้ไปนิมนต์อาตมามาเทศน์
เขาจำเรื่องผิดไป ให้มาเทศน์เรื่องสิบสองนักษัตร
“ท่านทั้งหลายควรจะขอบใจผู้ไปนิมนต์พระมาเทศน์
ถ้าเขาจำไม่ผิดที่ไหนจะได้ฟังเทศน์เรื่องสิบสองนักษัตรดังนี้เล่า
ควรจะอนุโมทนาอวยพรให้ผู้ไปนิมนต์ให้จงมาก...”
ลงท้ายสมเด็จเทศน์พรรณนาคุณผู้นิมนต์มิให้ต้องได้รับโทษจากนายของตน
ธรรมเทศนาวันนั้นก็จบลงที่อริยสัจสี่ประการ ไม่เสียความหมายเลย
สมเด็จเจ้าพระยาบรมหาศรีสุริยวงศ์ ก็พอใจ
นี่คือน้ำใจอันประกอบด้วยเมตตากรุณา
ท่านจะพูดด้วยใจเมตตากรุณาแก่สัตว์ มิให้ใครต้องรับความทุกข์โทมนัสจากคำพูดของท่านเลย
(โปรดติดตามตอนต่อไป)