วันพฤหัสบดีที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

อุตตริมนุสสธรรม ของ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ตอน เดินถือพัดยศไปวัดระฆัง




เดินถือพัดยศไปวัดระฆัง
สมเด็จถือพัดยศ ลงเรือข้ามฟากไปวัดระฆัง  เดินถือพัดยศ ทำประทักษิณอุโบสถวัดระฆัง ๓ รอบ ประกาศว่า
“นายหลวงตั้งฉันมาเป็นเจ้าอาวาสวัดนี้นะจ๊ะ”
เดินถือพัดยศประทักษิณพระอุโบสถ ๓ รอบ  ปากก็ประกาศดังๆ ไปจนครบ ๓ รอบ
เมื่อท่านเป็นพระธรรมกิตติ และเป็นเจ้าอาวาสนั้นท่านมีอายุ ๖๔ ปี มีอายุมากแล้ว  หลายปีต่อมา ท่านจึงได้เป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ เรียกกันว่า สมเด็จเจ้าโต
สมเด็จฯ ดูเหมือนจะเกิดมาคู่บารมีของพระจอมเกล้าฯ ท่านคอยสอดส่อง คอยช่วยเหลือ คอยปกปักษ์รักษามาตลอดรัชกาล  เมื่อพระจอมเกล้าฯ เสวยราชย์เมื่อพระชนมายุมากแล้ว  พระจอมเกล้าฯ เสวยราชย์เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๔ พระชนมายุ ๔๗ พรรษาแล้ว  ไปผนวชอยู่ ๒๗ พรรษา ตั้งแต่มีพระชนมายุ ๒๐ ปี เมื่อลาสิกขามาครองราชย์สมบัตินั้น เป็นธรรมเนียมที่เจ้านายและขุนนางมักจะถวายบุตรีและหลานให้เป็นพระสนมกันมาก เพื่อหวังจะพึ่งบุญ  มีบุตรก็ถวายบุตร มีหลานก็ถวายหลาน สุดแต่จะเอาไว้เป็นพระสนมหรือเป็นเจ้าจอม มีบุตรก็เป็นเจ้าจอมมารดา มีหลานเป็นพระองค์เจ้าชายเจ้าหญิงมีเกียรติยศ มีอำนาจวาสนา เพราะพึ่งใบบุญพระเจ้าแผ่นดิน  พระจอมเกล้าฯ จึงมีพระสนมมาก มีพระราชบุตรมากมายถึง ๘๒ องค์ด้วยกัน มากกว่าพระเจ้าแผ่นดินพระองค์อื่นๆ ทั้งหมด ทั้งที่ทรงผนวชอยู่ ๒๗ ปี  มีเทวดามาจุติปฏิสนธิมาก ว่างั้นเถอะ  สมเด็จฯ ท่านก็ห่วงว่ามามีภรรยาเมื่ออายุมาก จะหลงมาตุคามาก หรือเรียกทางพระว่า มืดมนอนธการมากในทางกาม
สมเด็จฯ ท่านจึงตริตรองหาทางเตือนสติพระราชา ซึ่งไม่มีใครกล้าทำกัน  พระมหากษัตริย์แต่โบราณท่านจึงเลี้ยงตลกหลวงไว้ ให้นายตลกหลวงคนนี้พูดได้ทุกอย่างตามใจตัวไม่เลือกเวลา ไม่เลือกสถานที่ เพื่อเตือนสติพระราชา  สมเด็จฯ ท่านรู้ธรรมเนียมโบราณนี้ดี
วันหนึ่งฤกษ์งามยามดี ท่านจึงลงเรือข้ามฟากจากวัดระฆังมาขึ้นท่าราชวรดิษฐ์ เข้าวังเดินถือไต้จุดไฟลุกแดงโพลงขอเข้าเฝ้า  นายประตูเห็นท่าผิดประหลาดนัก จึงให้กราบทูลว่าสมเด็จฯ จุดไต้เข้ามาขอเฝ้า จะมีพระบรมราชานุญาตหรือไม่ประการใด  พระจอมเกล้าฯ ทรงอนุญาต สมเด็จฯ จึงถือไต้แดงโร่เข้าเฝ้า พอพบพระพักตร์พระจอมเกล้าฯ ก็พูดทันทีว่า
“เขาลือกันว่าในวังหลวงมืดมนนัก จึงต้องจุดไต้ เข้ามาทูลถามข่าวคราวว่าจริงเท็จประการใด...”
“อ้อ เขารู้แล้ว ขรัวโต ในวังนี้ไม่มืดมนดอก ขอให้กลับวัดไปนอนคลุมโปงให้สบาย...” สมเด็จฯ ก็เอาไต้ขยี้กับฝาผนังกำแพง แล้วหันหลังกลับทันที

(โปรดติดตามตอนต่อไป)  




วันพฤหัสบดีที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

อุตตริมมุสสธรรม ของ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ตอน เอาผ้าไตรจีวรทูนหัว

เอาผ้าไตรจีวรทูนหัว*
สมเด็จท่านมีลาภทานมากเสมอ แต่ท่านไม่ติดในลาภทานสักการะของท่าน ท่านแจกคนไปเรื่อยๆ
วันไหนไปเทศน์ในวัง บรรดาชาววังที่เป็นคนงาน มักจะขอเอาเงินค่ากัณฑ์เทศน์บ้าง อะไรบ้างที่สมเด็จถือออกมาเสมอ ท่านก็ให้ไปจนหมด วันหนึ่งท่านได้ไตรแพรที่พระจอมเกล้าฯ ถวายเป็นพิเศษ แต่คราวนี้ท่านเดินเอาไตรจีวรทูนหัวออกมา คนจะขอท่าน ท่านก็บอกว่า
“เชิญท่านหยิบเอาไปซีจ๊ะ”
คนขอไม่กล้าหยิบเอาของบนศีรษะพระ เพราะกลัวบาป จึงเหลือจีวรแพรมาถึงวัดระฆัง ท่านเอาไปห่มพระประธานในพระอุโบสถไว้ ท่านมิได้ใช้เอง ท่านตั้งใจถวายพระพุทธเจ้า จึงทูนศีรษะมา
(* ทูน = ยกไว้สูง เบื้องบน)

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

วันพฤหัสบดีที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

อุตตริมนุสสธรรม ของ สมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) ตอน กระทบปุ๊บติดปั๊บ




กระทบปุ๊บติดปั๊บ*
วันหนึ่งสมเด็จได้รับนิมนต์เทศน์ในวัง ซึ่งมีเทศน์ทุกวัน ผลัดเปลี่ยนเวรพระราชาคณะเข้าเทศน์ถวายธรรมตามปกติ  วันนี้จะเทศน์เรื่องอะไรมิทราบ แต่เมื่อลงธรรมาสน์มารับพระราชทานกัณฑ์เทศน์ พระจอมเกล้าฯ ทรงปรารภว่า “แตะปุ๊บ ติดปั๊บเลย”
“หินดี เหล็กดี ตีกันเข้ามันก็ติดไฟ...” สมเด็จทูลทันที

สมัยนั้นยังใช้ชุดจุดไฟ เอากระบอกนุ่นมาตีหินด้วยเหล็กก็เกิดไฟจุดฟืนได้




(โปรดติดตามตอนต่อไป)




*การเขียนเล่าเรื่องสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) นี้ ไม่ได้วางโครงการไว้ก่อนว่าจะเขียนเรื่องอะไรก่อนหลัง เป็นการเขียนเอาตามสบาย คือจำเรื่องใดได้ก่อน นึกเรื่องใดได้ก่อน ก็จะเขียนเรื่องนั้นก่อน ไม่มีลำดับก่อนหลัง  และที่จริงก็ไม่ทราบว่าเรื่องใดเกิดขึ้นก่อน เกิดตอนท่านเป็นพระธรรมกิตติ หรือท่านเป็นพระเทพกวี หรือตอนท่านเป็นสมเด็จ  เป็นการนำคำคนก่อนเก่าท่านเล่าไว้มาเขียนพรรณาการไปใหม่เท่านั้น 

วันพฤหัสบดีที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

อุตตริมนุสสธรรม ของ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ตอน เป็นพระธรรมกิตติ



เป็นพระธรรมกิตติ
ต่อมาในสมัยรัชการที่ ๔ พระจอมเกล้าฯ ทรงทราบกิตติคุณของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ดีอยู่แล้ว จากการที่ทรงผนวชมา ๒๗ พรรษา ร่วมสมัยกับสมเด็จฯ  จึงทรงให้สังฆการีไปตามตัวสมเด็จฯ มารับพัดยศ เป็น “พระธรรมกิตติ” (แปลว่า มีกิตติคุณทางธรรม) สมเด็จฯ จึงเข้าวังไปรับพระราชทานพัดยศ  พระจอมเกล้าฯ ตรัสล้อว่า
“รัชกาลก่อนทำไมหนี  รัชกาลนี้ทำไมจึงไม่หนีอีกล่ะ”
“รัชกาลก่อนเป็นแต่เจ้าแผ่นดิน  รัชกาลนี้เป็นทั้งเจ้าฟ้า เจ้าแผ่นดิน  จะหนีไปทางไหนพ้น...”
สมเด็จทูลตอบอย่างมีปฏิภาณคมคายมาก ว่าเหมือนนกบินหนีทางฟ้าก็ยังไม่พ้น  พระจอมเกล้าฯ จึงโปรดปรานมาก ยกเป็นบาปมุติ (คือพ้นจากชั่วบาปทีเดียว) คือ พระราชทานอภัยโทษให้หมด

แล้วทรงแต่งตั้งให้ไปเป็นเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม