วันพฤหัสบดีที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2559

อุตตริมนุสสธรรม ของ สมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) ตอน ชายชาตรี

ชายชาตรี
คำว่าชายชาตรี เป็นคำไทยผูกขึ้นใหม่ ไม่ใช่ภาษาบาลีเดิม ชา แปลว่า รู้ ตรี แปลว่า สาม ชายชาตรี แปลว่า ชายที่รู้สามอย่าง ถามว่ารู้อะไร
ตอบว่า
๑.รู้ สู้ เมื่อเห็นว่าสู้ได้
๒.รู้หนี เมื่อเห็นว่า ไม่มีทางสู้
๓.รู้นิ่ง เมื่อเห็นว่า สู้ก็ไม่ชนะ หนีก็หนีไม่พ้น
ชายชาตรี คือชายที่รู้ ๓ อย่างนี้ จึงรอดตัวรอดหัว รอดชั่วมาได้

สมเด็จท่านอธิบายแก่ลูกศิษย์ว่าชายชาตรีต้องรู้ ๓ อย่างนี้


วันพฤหัสบดีที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2559

อุตตริมนุสสธรรม ของ สมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) ตอน ฉ้อศก ฉอศก ฉศก

ฉ้อศก ฉอศก ฉศก

เดิมไทยเรานิยมใช้จุลศักราช มักอ่านกันเน้นที่ตัวอักษรขระท้ายศก เช่นจุลศักราช ๑๒๒๖ อ่านว่า ฉ้อศก เลข ๖ อ่านว่าฉ้อศก เพราะหกแปลว่าโกหกในภาษาพูด ที่ใช้คำว่าขี้ฉก

คราวหนึ่งสมเด็จท่านไปเทศน์ในวัง พอดีตรงกับจุลศักราชที่ลงท้ายด้วยเลข ๖ ท่านก็ย้ำว่า ฉศก ฉศก ฉศก พระจอมเกล้าฯ ท่านเป็นนักอักษรศาสตร์ ได้สดับเช่นนั้นจึงตรัสว่า ดีๆ ถูกๆ ต่อมาจึงมีประกาศว่า ต่อไปนี้ให้อ่านว่า ฉศก ห้ามอ่านว่าฉ้อศก ฉะนั้นคำว่า ฉศก จึงมาจากคำของสมเด็จในคราวนั้น แม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อย ก็เป็นเรื่องที่แสดงว่า ท่านเป็นคนชอบเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ผิดให้ถูกต้องเสมอ

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

วันพฤหัสบดีที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2559

อุตตริมนุสสธรรม ของ สมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) ตอน ต้นแบบถวายอดิเรก

ต้นแบบถวายอดิเรก (ถวายพระพรเพิ่มเติม)
ในการพระราชพิธีที่พระเจ้าอยู่หัวเสด็จเป็นประธาน หรือพระราชทานให้พระบรมวงศ์เสด็จแทนพระองค์ เมื่อพระภิกษุสงฆ์ยถาสัพพีถวายอนุโมทนาแล้ว ก่อนจะลากลับ พระสงฆ์หัวหน้า จะต้องจับพัดยศมาตั้ง แล้วกล่าวถวายอดิเรก (ซึ่งแปลว่า ถวายพระพรเพิ่มเติมก่อนลากลับ) เป็นการว่าเดี่ยว
ที่พระราชาคณะถือปฏิบัติกันมาจนถึงปัจจุบันนี้นั้น สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ท่านเริ่มต้นแบบอย่างไว้ในสมัยรัชกาลที่ ๔ คือคราวหนึ่งท่านเป็นหัวหน้าไปสวดพระพุทธมนต์ในพระบรมมหาราชวัง ก่อนจะกลับท่านจับพัดยศขึ้นตั้ง แล้ว สวดเดี่ยวว่า
“อะติเรกวัสสสะตัง ชีวตุ อะติเรกวัสสสะตัง ชีวตุ อะติเรกวัสสสะตัง ชีวตุ
ทีฆายุโก โหตุ อะโรโค โหตุ
ทีฆายุโก โหตุ อะโรโค โหตุ
สุขิโต โหตุ มหาราชา
สิทธิกิจจัง สิทธิกัมมัง สิทธิลาโภ ชโย นิจจัง
มหาราชัสสะ ภวตะสัพพทา ขอถวายพระพร...”
พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงฟังภาษาบาลีออกว่าแปลว่าอะไร จึงโปรดปรานมาก ตรัสว่า
“แก้ลัด ตัด เติม จะได้บ้างไหม...”
สมเด็จทูลทันทีว่า
“ขอถวายพระพร อาตมาภาพได้เปยยาลไว้ สำหรับมหาบพิตรพระราชสมภารเจ้า ได้ทรงตรองลงตามพระราชอัธยาศัยแล้ว
พระจอมเกล้าฯ จึงทรงแทรกลงอีกว่า
“ปรเมนทรมหาราชวรัสสะ” แทนคำว่ามหาราชัสสะ
แล้วทรงมีพระราชบัญญัติ บัญชาการให้หัววัดที่มีพระราชาคณะ ถวายอดิเรก ตามแบบของพระธรรมกิตติ (โต พรหมรังสี) นับแต่นั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน  สมเด็จฯ จึงเป็นต้นแบบถวายอดิเรกมาจนบัดนี้
เล่ากันว่า คราวหนึ่งท่านได้รับนิมนต์ไปในงานพระราชพิธีโสกัณฑ์ สมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ท่านไปไม่ทันเวลาฤกษ์ พระจอมเกล้าพิโรธมาก ตรัสว่าไม่ได้ราชการ ให้ถอดจากสมณศักดิ์ ให้เรียกพัดยศคืน คราวนั้นเมื่อจะถวายพระพรลา สมเด็จท่านนิ่งเฉยเสีย ไม่ถวายอดิเรก  พระจอมเกล้าฯ ตรัสถามว่าทำไมไม่ถวายอดิเรก สมเด็จทูลว่า “เป็นพระลูกวัดแล้ว ไม่ใช่พระราชาคณะ ถวายอดิเรกไม่ได้” พระจอมเกล้าฯ ตรัสว่า จะตั้งให้ใหม่ ท่านก็ยังไม่ถวายอดิเรก  พอเลิกงานพระราชพิธีแล้ว ท่านก็กลับวัดโดยไม่หยิบพัดยศไปด้วย พระจอมเกล้าฯ ตรัสสั่งให้สังฆการีเอาไปถวายกลางทาง ที่เดินกลับวัด สมเด็จหันมาถามว่า “พ่อเป็นอะไรจ๊ะ จะมาตั้งพระราชาคณะกลางห้วยกลางทาง”
สังฆการีตอบว่า มีรับสั่งให้ เอามาถวาย สมเด็จจึงหันหลังกลับไปในวัง
พระจอมเกล้าฯ ต้องมีพระบรมราชโองการให้เขียนใบแต่งตั้งใหม่ในวันนั้น
ในสมัยนั้น คำตรัสของพระเจ้าแผ่นดิน จะตั้ง จะถอดยศใครมีเท่าไร ย่อมเป็นผลบังคับทันที แม้จะตั้งใครในกองทัพ ให้มียศถาบรรดาศักดิ์อย่างใดย่อมเป็นทันทีนั้น  ตัวอย่างคือเมื่อนายแสง มหาดเล็กไปทำสงครามในเมืองทวาย มีความกล้าหาญ มีความชอบ พระพุทธยอดฟ้า จึงตั้งให้นายแสง มหาดเล็ก เป็น หมื่นสะท้านมณเฑียรในสนามรบนั้น ก็เป็นหมื่นสะท้านมณเฑียรในกองทัพนั้นเอง  สมเด็จท่านเข้าใจดีว่าสั่งถอดถอนท่านด้วยวาจา ท่านก็เป็นลูกวัดแล้วทันที ท่านจึงออกจากวังโดยไม่เอาพัดยศมาด้วย ท่านมิได้ทำงานอะไร พอพระราชาตั้งท่านใหม่ ท่านก็เป็นใหม่ ถวายอดิเรกได้ใหม่ ไม่ตั้งท่าน ท่านก็ไม่ยอมถวายอดิเรก  นี่คือท่านถือธรรมเนียมราชการ ท่านถือว่าท่านรับราชการทางฝ่ายธรรมจักร ท่านเป็นข้าราชการของพระเจ้าแผ่นดิน ที่ท่านรับพัดยศ รับตราตั้ง รับนิตยภัตนั้น คือท่านยอมเป็นข้าราชการในฝ่ายธรรมจักร ท่านต้องยอมตาม เพราะอยู่ในพระราชอาณาจักรของพระราชา
(โปรดติดตามตอนต่อไป)

วันพฤหัสบดีที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2559

อุตตริมนุสสธรรม ของ สมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) ตอน อันวา สัตถา พระสัตถา

อันว่า สัตถา พระสัตถา
เล่ากันว่า สมเด็จท่านเลิกสอบเอาเปรียญเอก เพราะท่านขัดใจพระผู้ใหญ่ที่สอบ เล่ากันว่าคราวหนึ่งท่านเข้าสอบพระบาลี ถึงคำว่า *สัตถา ท่านก็แปลว่า สัตถา แปลว่า อันว่าพระสัตถา  พระผู้ใหญ่ท้วงว่าไม่ถูก ท่านก็ย้ำว่า สัตถา อันว่าพระสัตถา สัตถาเทวมนุสสานัง แปลว่า พระสัตถาแห่งเทวดาและมนุษย์  พระผู้ใหญ่ก็ว่าผิด ท่านก็ไม่ยอมเปลี่ยนคำแปล จึงเลิกสอบไล่เอาเปรียญ
อันที่จริง “สัตถา” เป็นภาษาบาลี ตรงกับภาษาสันสกฤตว่า ศาสดา  สัตถาเทวมนุสสานัง แปลว่า ศาสดาของเทวดาและมนุษย์  ท่านไม่ยอมแปลคำในภาษาบาลีเป็นภาษาสันสกฤต

อันที่จริงนักเปรียญแปลคำบาลีผิดมาก่อนก็มี เช่นคำว่า นะสิยา โลกะวัฑฒะโน แปลกันมานานว่า อย่าเป็นคนรกโลก  อันที่จริงแปลว่า อย่าอยู่เจริญทางโลก ให้เจริญทางธรรม คือเป็นมหาเศรษฐีหรือเป็นพระมหากษัตริย์ก็ไม่ดีเท่าบวชหาความหลุดพ้นทางโลก
(โปรดติดตามตอนต่อไป) 

วันพฤหัสบดีที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2559

อุตตริมนุสสธรรม ของ สมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) ตอน ฉันไม่ชอบคนรวย

ฉันไม่ชอบคนรวย
พระอาจารย์ขวัญ วิสิฏโฐ เล่าว่า มีหญิงคนหนึ่งชื่อจันทร์ รู้จักคุ้นเคยกับสมเด็จมาแต่ยังสาว ต่อมานางจันทร์ได้ย้ายมาประกอบอาชีพทางค้าขายอยู่ที่เมืองนนทบุรี  เดิมอยู่ที่เมืองอ่างทอง รู้จักสมเด็จตั้งแต่อยู่เมืองอ่างทอง เมื่อมาอยู่เมืองนนท์แล้วยากจนลง เพราะการค้าขายขาดทุน  นางจันทร์ได้ยินกิตติศัพท์ของสมเด็จว่ามีวาจาสิทธิ์ จึงเดินทางมาหาที่วัดระฆัง นางจันทร์ได้บอกว่า เวลานี้อีฉันยากจนมาก ไม่มีอะไรมาทำบุญ
สมเด็จตอบว่า
“มาที่นี่ไม่ยากจนดอกแม่จันทร์”
แล้วท่านก็หยิบพระประจำวันให้นางจันทร์ ๑ องค์ สั่งว่า
“เอาไปแช่ทำน้ำมนต์ อธิษฐานเอาตามความปรารถนา...”
“ดิฉันร่ำรวยแล้วจะมาทำบุญที่วัดนี้...”
“ถ้าแม่จันทร์ร่ำรวยแล้ว อย่ามาหาฉันอีกนะจ๊ะ”
“เป็นอย่างไรเจ้าคะ”
“ฉันไม่ชอบคนรวย ฉันชอบคนจนจ้ะ”
ต่อมานางจันทร์ตั้งตัวได้ร่ำรวยขึ้น มีคนถามว่า ทำไมไม่ไปหาสมเด็จโตอีก นางจันทร์ตอบว่า
“เพราะหลวงพี่โต สั่งไว้ว่า ถ้าร่ำรวยแล้ว ไม่ให้ไปหาท่านอีก  หลวงพี่โตนี้แหละศักดิ์สิทธิ์นัก พูดคำไหนต้องเป็นคำนั้น...”
(โปรดติดตามตอนต่อไป)