การสวดพระอภิธรรมในงานศพสมัยก่อน
มีการสดวทำนองตามคำกาพย์ที่ท่านแต่งไว้ เรื่องที่สวดนั้นโดยมากสวดเรื่องพระมาลัย
มีทำนองแปลกๆ มีการสวดลงลูกคอว่า “ชะเอิงเงิงเงยช้า” กระทุ้งตอนท้ายด้วย
เวลานี้ยังมีการสวดตามวัดโบราณบ้านนอก เช่นที่วัดตาก้อง นครปฐม วัดสารอด
ที่เขตราษฎร์บูรณะ กรุงเทพฯ ก็ยังมีสวดอยู่ พระจอมเกล้าฯ ท่านไม่โปรด
ว่าเป็นการสวดตลกคะนอง ขาดสมณสารูป ในคณะธรรมยุตที่ท่านตั้งขึ้นใหม่จึงไม่มีการสวดอย่างนี้เลย
ท่านไม่เคยสดับตรับฟังมานานกว่า ๔๐ ปี
คราวนั้น ใน พ.ศ.
๒๔๐๘ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ สวรรคต
ที่วังหน้าจึงมีงานสวดพระอภิธรรมในวังหน้าตามธรรมเนียมเก่าของฝ่ายมหานิกาย
เป็นการสวดเพื่อเป็นเพื่อนศพและเจ้าภาพมิให้โศกเศร้า จึงมีการสวดสังคหะ
คือสวดเป็นทำนอง พระ ๘ องค์สวดกันสนุกสนาน เสียงดัง ตามแบบโบราณแท้
คืนนั้นพระจอมเกล้าเสด็จไปในงานพระบรมศพของพระปิ่นเกล้าฯ
พอรู้ว่าพระจอมเกล้าฯ เสด็จไปในวังหน้า พอเห็นพระจอมเกล้าฯ พระที่สวดพระอภิธรรม
ทำนองเสนาะอยู่ ก็พากันตกใจ เพราะทราบว่าพระจอมเกล้าฯ ไม่โปรด จึงหยุดสวด
แล้วพากันหลับหน้าเข้าไปซ่อนในม่าน พระจอมเกลาฯ ทราบว่าพระหยุดสวด
เพราะท่านเสด็จไปอย่างนั้น จึงทรงพิโรธใหญ่
มีพระอักษรถึงสมเด็จพระพุฒาจารย์โตทันทีว่า
พระเห็นพระเจ้าแผ่นดินเสด็จเข้าไปในงานพระบรมศพ กลับหลบหนีหมด
เป็นการดูหมิ่นพระเจ้าแผ่นดิน ขอให้สึกพระเหล่านี้เสีย
แล้วให้ราชบุรุษนำหนังสือพระราชหัตถเลขไปให้สมเด็จฯ เจ้าคณะผู้ปกครองสงฆ์เหล่านั้น
สมเด็จท่านอ่านแล้ว จุดธูปขึ้น เอาก้านธูปจี้ลงในกระดาษนั้น ๓ จุด
ส่งคืนให้ราชบุรุษไปถวายพระจอมเกล้าฯ
พระจอมเกล้าฯ
ทรงทอดพระเนตรแล้ว ตรัสว่า
“อ้อ ท่านสอนให้เราดับไฟกิเลส
๓ กอง คือ โทสัคคี ราคัคคี โมหัคคี ไฟโทสะ ไฟโมหะ ไฟราคะ...”
เป็นอันว่าพระ ๘
องค์นั้น ไม่ถูกจับสึก และพระทั้งหลายก็ไม่สวดสังคหะแบบโอ้เอ้วิหารรายต่อไป
ความนิยมในการสวดทำนองเสนาะแบบโบราณที่นิยมสวดมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาก็ซบเซาลง
อันที่จริงการสวดทำนองเสนาะ
หรือสวดกลอนสวดนี้มีมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา
เพราะบาทหลวงมาเผยแพร่ศาสนาคริสต์ด้วยการสวดทำนองเสนาะในโบสถ์ มีดนตรีประกอบด้วย
คือมีคนดีดเปียโนคลอ เป็นกลวิธีกล่อมใจคนให้เคลิบเคลิ้มในอารมณ์ศรัทธาพระเจ้า
พระจีนก็มีสวดกงเต๊ก มีดนตรีประกอบด้วย พระไทยสวดพระมาลัยในงานศพ
หรือสวดกลอนแบบนี้ยังเบากว่ามากนัก
น่าเสียดายที่เรามาละเลิกประเพณีสวดทำนองเสนาะนี้เสีย
กลอนสวดที่ท่านแต่งเป็นกาพย์ยานี กาพย์ฉบัง กาพย์สุรางคนางค์ กาพย์ขับไม้
จึงเสื่อมสูญไป จนเกือบไม่มีใครรู้จักกลอนสวดเหล่านี้เสียแล้ว
เนื่องจากไม่ต้องพระราชนิยม อันที่จริงกวีโบราณท่านแต่งเรื่องชาดกต่างๆ
ไว้เป็นกลอนสวดมากมาย เช่นเรื่องกาพย์สังข์ศิลปะชัย หรือสังข์ศิลปะชัยกลอนสวด
กาพย์โนราห์ หรือมโนราห์กลอนสวด เป็นต้น กวีท่านแต่งไว้ให้สวดทำนองเสนาะ
จึงเรียกว่ากลอนสวด แม้ในวังก็มีการหัดเด็กลูกจ้าวนายให้สวดกันที่ระเบียงโบสถ์วัดพระแก้ว
จึงเรียกกันว่าสวดโอ้เอ้วิหารราย แบบสอนอ่านประถม เช่นจินดามณีของพระมหาราชครู
หรือประถม ก.กาของสุนทรภู่ ที่แต่งขึ้นถวายพระเจ้าลูกเธอในรัชกาลที่ ๒
ก็คือกลอนสวดนี่เอง
น่าเสียดายที่ประเพณีการสวดกลอนสวด
ทำนองเสนาะของเราเกือบจะสูญไปแล้ว อย่างการสวดพระมาลัยในงานศพนั้น เกือบสูญไปแล้ว
ยังมีแต่บางวัดเท่านั้นที่ยังรักษาประเพณีเอาไว้ได้
(โปรดติดตามตอนต่อไป)