วันพฤหัสบดีที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2558

อุตตริมนุสสธรรมของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ตอน สมเด็จติดแร้ว

สมเด็จติดแร้ว
เล่ากันว่าคราวหนึ่ง เจ้าประคุณสมเด็จได้รับนิมนต์ไปในงานบ้านแห่งหนึ่งที่จังหวัดสมุทรสงคราม บ้านนั้นอยู่ในคลองแควอ้อม ในระหว่างทางท่านได้แวะขึ้นบกไปตามลำพังองค์เดียว ไปพบนกกระสาตัวหนึ่งติดแร้วอยู่ ท่านจึงจับนกกระสาปล่อยไป แล้วเอาเท้าของท่านสอดเข้าไปในแร้วให้แร้วรูดติดเท้าของท่าน แล้วก็นั่งอยู่ตรงนั้น คนในเรือตามขึ้นไปพบท่านติดแร้วอยู่ จึงจะปลดแร้วออก ท่านร้องห้ามว่า
“อย่า อย่าเพิ่งแก้ เพราะขรัวโตยังต้องโทษอยู่ ต้องให้เจ้าของนกเขาอนุญาตก่อนจ้ะ...”
ครั้นเจ้าของแร้วมาถึง ท่านก็เล่าให้ฟังว่าท่านปล่อยนกกระสาไปแล้ว ขอให้กรวดน้ำทำทานแก่ท่าน แล้วท่านก็ยถาสัพพี แล้วเดินทางไปยังบ้านเจ้าของงาน
เรื่องนี้ท่านคงจะแลเห็นว่านกกระสาติดแร้วอยู่ ท่านจึงแวะขึ้นไปปล่อยนกกระสาเสีย ท่านคงเอาอย่างเรื่องที่พระพุทธเจ้าเข้าป่าไปปล่อยเนื้อออก แล้วประทับรอนายพราน เจ้าของแร้ว เมื่อนายพรานมาจะเงื้อธนูยิงท่าน ก็เงื้อค้างอยู่กับที่เคลื่อนไหวไม่ได้ ลูกชายนายพรานมาพบเข้าก็จะยิงพระพุทธเจ้า ก็ง้างสายธนูค้างอยู่ เมียนายพรานมาพบเข้าร้องว่า “อย่ายิง พ่อของข้านะ” ในที่สุดพระพุทธเจ้าก็เทศนาสั่งสอนพ่อลูกนายพรานนั้นให้ลุโสดาบัน

(โปรดติดตามต่อไป)

วันศุกร์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2558

อุตตรืมนุสสธรรมของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ตอน แจวเรือตัดหน้าฉาน


แจวเรือตัดหน้าฉาน
วันหนึ่งพระจอมเกล้าฯ เสด็จประพาสไปทางชลมารค เรือพระที่นั่งแล่นผ่านหน้าวัดระฆังขณะนั้นมีเรือแจว แจวตัดหน้าเรือพระที่นั่ง ซึ่งเป็นความผิดมหันต์โทษ ห้ามเรือตัดหน้าฉานเรือพระที่นั่งเด็ดขาด  พระจอมเกล้าฯ จึงตรัสเรียกเรือแจวนั้นมา ปรากฏว่าเป็นเรือแจวของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ท่านแจวเรือเองเสียด้วย เมื่อเรือแจวเข้ามาเทียบเรือพระที่นั่ง จึงตรัสถามว่า
“เขาให้เป็นพระสมเด็จ ทำไมมาแจวเรือให้เสียเกียรติยศ”
“สมเด็จเจ้าฟ้าเสวยเหล้า สมเด็จพระเจ้าก็ต้องแจวเรือ...”
เขาเล่ากันว่านับแต่ว่าวันนั้นมา พระจอมเกล้าฯ ก็ทรงเลิกดื่มเหล้า หรือเลิกเสวยน้ำจัณฑ์

เรื่องสมเด็จฯ แจวเรือนี้ เล่าลืออื้ออึงกันมาช้านาน เป็นที่รู้กันทั่วไปสมัยนั้นว่าเป็นเรื่องแปลกประหลาดที่สมเด็จโตแจวเรือตัดหน้าฉาน ไม่มีความผิด เป็นบาปมุติ คือไม่มีบาป ไม่มีโทษ กลับเป็นการสอนธรรมะแก่พระราชาให้อดเสวยน้ำจัณฑ์เสียอีก

(โปรดติดตามต่อไป)

วันพฤหัสบดีที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2558

อุตตริมนุสสธรรมของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ตอน สมเด็จห้ามฝน


สมเด็จห้ามฝน
เมื่อคราวที่พระจอมเกล้าฯ สร้างพระราชวังพระนครคีรี ที่เขาวัง เพชรบุรี เสร็จแล้วมีการฉลอง นิมนต์สมเด็จฯ ไปเจริญพระพุทธมนต์ในคราวนั้นด้วย ท่านไปโดยเรือแจว  เมื่อเสร็จงานแล้ว ท่านก็เดินทางกลับกรุงเทพฯ ด้วยเรือแจว เผอิญมีฝนตั้งเค้ามืดทะมึนอยู่บนท้องฟ้า มีคนห้ามปรามว่าอย่าเพิ่งไปเลยฝนกำลังจะตกใหญ่แล้ว  แต่ท่านมายืนที่ริมฝั่ง ยกมือขึ้นโบกไปมา แหงนหน้ามองฟ้าเบื้องบน แล้วลงเรือให้คนแจวกลับ ข้ามทะเลปากอ่าวบางตะบูน มาขึ้นปากอ่าวแม่กลอง ไม่มีฝนตกเลย ท้องฟ้าขาวกระจ่างจนถึงวัดระฆัง  สมเด็จสำแดงฤทธิ์ห้ามฝนได้ด้วย
เรื่องนี้ไม่ต้องสงสัย อย่าว่าแต่สมเด็จเลย  แม้พระเจ้าตากสินก็เคยห้ามฝนห้ามพายุมาแล้ว เมื่อคราวท่านยกทัพเรือไปตีเมืองนครศรีธรรมราชนั้น เรือรบที่แจวไปถึงบางทะลุ เมืองเพชรบุรี ถูกพายุพัดเรือล่มเรือแตกไปหลายลำ  พระเจ้าตากสินจึงตรัสสั่งให้กองทัพเรือแวะพักพลที่บางทะลุ ให้ตั้งศาลเพียงตาขึ้นที่บนฝั่งแล้วเอาหัวหมูบายศรีมาสังเวย อ้างเอาพระบารมีแต่ชาติปางก่อนและบารมีในชาตินี้ที่จะกู้ชาติศาสานา ขอให้พายุสงบ  ทันใดนั้น พายุก็สงบลง ยกทัพเรือไปจนถึงเมืองนครศรีธรรมราช พบช้างพังผูกเครื่องรบครบ อยู่ที่ประตูเมืองจึงเสด็จขึ้นขี่ช้าง เข้าพังประตูเมืองนครศรีธรรมราชได้ชัยชนะ
อีกคราวหนึ่งไปตีเมืองเชียงใหม่ในฤดูแล้ง ไม่มีน้ำเลี้ยงไพร่พล แม่ทัพนายกองทูลว่า ทหารจะอดน้ำ ท่านตรัสว่า
“อย่าปรารมภ์เลย ค่ำคืนนี้อย่าตีฆ้องกลอง เพลา ๑๑ ทุ่ม เราจะให้ฝนตกลงมาจนได้”
แล้วตรัสสั่งให้ตั้งศาลเพียงตา เอาหัวหมูเหล้ามาสังเวย ตรัสอ้างเอาพระบารมีมาคุ้มครองไพร่พล เวลา ๑๑ ทุ่ม เกิดเมฆมืดครึ้ม แล้วฝนตกลงมามากมายหลายร้อยห่า จนน้ำเจิ่งนองในป่า ขอนไม้ลอยตามน้ำไป ทหารทั้งกองทัพไม่อดน้ำ
นี่คือ ตัวอย่างของคนมีบุญที่เรียกฝนได้
(โปรดติดตามตอนต่อไป) 

วันพฤหัสบดีที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2558

อุตตริมนุสสธรรมของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ตอน หัวล้านหัวเหลือง หัวเฟื้องสองไพ

หัวล้านหัวเหลือง หัวละเฟื้องสองไพ
หัวล้านหัวเหลือง หัวละเฟื้องสองไพ เป็นคำพังเพยโบราณ ท่านแปลว่าคนหัวล้านนี้จ้างทำงานไม่ได้ ถ้าจะจ้างก็จ้างมาไม่ได้ ต้องจ่ายแต่เฟื้องสองไพเท่านั้น เพราะใจน้อย ทำงานไม่ทน เดี๋ยวหลบหนีไป ตรงกับคำว่าคบเด็กสร้างบ้าน คบหัวล้านสร้างเมือง
วันหนึ่งพระธรรมกิตติ (โต) กับพระธรรมอุดม (ถึก) เข้าไปเทศน์ธรรมาสน์คู่ในวัง  แต่ก่อนยังไม่มีวิทยุโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ การแสวงหาความรู้หรือการสั่งสอนคนให้เป็นคนดีมีศีลธรรม อาศัยพระเทศน์อย่างเดียว  พระเจ้าแผ่นดินจึงโปรดให้มีเทศน์ทุกวัน เทศน์แหล่มหาพนบ้าง เทศน์เดี่ยวบ้าง เทศน์คู่บ้าง สลับกันไป พระธรรมกิตติ (โต) พระธรรมอุดม (ถึก) เป็นนักเทศน์ฝีปากดี เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญด้วยกัน (ไม่ใช่พระพิมลธรรม ตามที่บางแห่งว่าไว้)
วันนั้นพระจอมเกล้าฯ ทรงติดกัณฑ์เทศน์ไว้ที่ต้นเทียน หน้าธรรมาสน์เทศน์  พระธรรมกิตติ (โต) มองเห็นกัณฑ์เทศน์ จึงถามพระธรรมอุดมว่า
“พระคุณเจ้าถึก ขอรับ ท่านทราบไหมว่า ทำไมท่านจึงติดกัณฑ์เทศน์มากเช่นนี้”
“ไม่รู้ดอก น้ำใจพระราชา ตานกแร้ง จมูกมด เรารู้ได้ยาก...”
“นี่ท่านติดกัณฑ์เทศน์สลึงเฟื้องเชียวนะขอรับ”
“อ้อ มากโข เรามีลาภมากนะวันนี้...”
“มันมีความหมายนะขอรับ”
“หมายความว่ายังไงไม่รู้” เจ้าคุณถึกตอบ “น้ำจิตพระยากำหนด ยากแท้”
“ก็เจ้าคุณหัวล้าน ผมหัวเหลือง ท่านก็ติดกัณฑ์เทศน์เฟื้องสองไพไงล่ะ...”
พระจอมเกล้าฯ ทรงพระสรวล แล้วสั่งให้สังฆการีมาติดกัณฑ์เทศน์เพิ่มเป็น ๑๐ บาท องค์ละตำลึงกับหนึ่งบาท เลยได้ลาภใหญ่ในวันนั้ น เงินสมัยนั้นแพงมาก แม้เงินนิตยภัต ยังได้กันเพียงองค์ละ ๒ ตำลึงเท่านั้น
(โปรดติดตามตอนต่อไป)