วันพฤหัสบดีที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2558

อุตตริมนุสสธรรมของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ตอน หัวล้านหัวเหลือง หัวเฟื้องสองไพ

หัวล้านหัวเหลือง หัวละเฟื้องสองไพ
หัวล้านหัวเหลือง หัวละเฟื้องสองไพ เป็นคำพังเพยโบราณ ท่านแปลว่าคนหัวล้านนี้จ้างทำงานไม่ได้ ถ้าจะจ้างก็จ้างมาไม่ได้ ต้องจ่ายแต่เฟื้องสองไพเท่านั้น เพราะใจน้อย ทำงานไม่ทน เดี๋ยวหลบหนีไป ตรงกับคำว่าคบเด็กสร้างบ้าน คบหัวล้านสร้างเมือง
วันหนึ่งพระธรรมกิตติ (โต) กับพระธรรมอุดม (ถึก) เข้าไปเทศน์ธรรมาสน์คู่ในวัง  แต่ก่อนยังไม่มีวิทยุโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ การแสวงหาความรู้หรือการสั่งสอนคนให้เป็นคนดีมีศีลธรรม อาศัยพระเทศน์อย่างเดียว  พระเจ้าแผ่นดินจึงโปรดให้มีเทศน์ทุกวัน เทศน์แหล่มหาพนบ้าง เทศน์เดี่ยวบ้าง เทศน์คู่บ้าง สลับกันไป พระธรรมกิตติ (โต) พระธรรมอุดม (ถึก) เป็นนักเทศน์ฝีปากดี เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญด้วยกัน (ไม่ใช่พระพิมลธรรม ตามที่บางแห่งว่าไว้)
วันนั้นพระจอมเกล้าฯ ทรงติดกัณฑ์เทศน์ไว้ที่ต้นเทียน หน้าธรรมาสน์เทศน์  พระธรรมกิตติ (โต) มองเห็นกัณฑ์เทศน์ จึงถามพระธรรมอุดมว่า
“พระคุณเจ้าถึก ขอรับ ท่านทราบไหมว่า ทำไมท่านจึงติดกัณฑ์เทศน์มากเช่นนี้”
“ไม่รู้ดอก น้ำใจพระราชา ตานกแร้ง จมูกมด เรารู้ได้ยาก...”
“นี่ท่านติดกัณฑ์เทศน์สลึงเฟื้องเชียวนะขอรับ”
“อ้อ มากโข เรามีลาภมากนะวันนี้...”
“มันมีความหมายนะขอรับ”
“หมายความว่ายังไงไม่รู้” เจ้าคุณถึกตอบ “น้ำจิตพระยากำหนด ยากแท้”
“ก็เจ้าคุณหัวล้าน ผมหัวเหลือง ท่านก็ติดกัณฑ์เทศน์เฟื้องสองไพไงล่ะ...”
พระจอมเกล้าฯ ทรงพระสรวล แล้วสั่งให้สังฆการีมาติดกัณฑ์เทศน์เพิ่มเป็น ๑๐ บาท องค์ละตำลึงกับหนึ่งบาท เลยได้ลาภใหญ่ในวันนั้ น เงินสมัยนั้นแพงมาก แม้เงินนิตยภัต ยังได้กันเพียงองค์ละ ๒ ตำลึงเท่านั้น
(โปรดติดตามตอนต่อไป)


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น