วันพฤหัสบดีที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2558

อุตตริมนุสสธรรมของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ตอน สมเด็จห้ามฝน


สมเด็จห้ามฝน
เมื่อคราวที่พระจอมเกล้าฯ สร้างพระราชวังพระนครคีรี ที่เขาวัง เพชรบุรี เสร็จแล้วมีการฉลอง นิมนต์สมเด็จฯ ไปเจริญพระพุทธมนต์ในคราวนั้นด้วย ท่านไปโดยเรือแจว  เมื่อเสร็จงานแล้ว ท่านก็เดินทางกลับกรุงเทพฯ ด้วยเรือแจว เผอิญมีฝนตั้งเค้ามืดทะมึนอยู่บนท้องฟ้า มีคนห้ามปรามว่าอย่าเพิ่งไปเลยฝนกำลังจะตกใหญ่แล้ว  แต่ท่านมายืนที่ริมฝั่ง ยกมือขึ้นโบกไปมา แหงนหน้ามองฟ้าเบื้องบน แล้วลงเรือให้คนแจวกลับ ข้ามทะเลปากอ่าวบางตะบูน มาขึ้นปากอ่าวแม่กลอง ไม่มีฝนตกเลย ท้องฟ้าขาวกระจ่างจนถึงวัดระฆัง  สมเด็จสำแดงฤทธิ์ห้ามฝนได้ด้วย
เรื่องนี้ไม่ต้องสงสัย อย่าว่าแต่สมเด็จเลย  แม้พระเจ้าตากสินก็เคยห้ามฝนห้ามพายุมาแล้ว เมื่อคราวท่านยกทัพเรือไปตีเมืองนครศรีธรรมราชนั้น เรือรบที่แจวไปถึงบางทะลุ เมืองเพชรบุรี ถูกพายุพัดเรือล่มเรือแตกไปหลายลำ  พระเจ้าตากสินจึงตรัสสั่งให้กองทัพเรือแวะพักพลที่บางทะลุ ให้ตั้งศาลเพียงตาขึ้นที่บนฝั่งแล้วเอาหัวหมูบายศรีมาสังเวย อ้างเอาพระบารมีแต่ชาติปางก่อนและบารมีในชาตินี้ที่จะกู้ชาติศาสานา ขอให้พายุสงบ  ทันใดนั้น พายุก็สงบลง ยกทัพเรือไปจนถึงเมืองนครศรีธรรมราช พบช้างพังผูกเครื่องรบครบ อยู่ที่ประตูเมืองจึงเสด็จขึ้นขี่ช้าง เข้าพังประตูเมืองนครศรีธรรมราชได้ชัยชนะ
อีกคราวหนึ่งไปตีเมืองเชียงใหม่ในฤดูแล้ง ไม่มีน้ำเลี้ยงไพร่พล แม่ทัพนายกองทูลว่า ทหารจะอดน้ำ ท่านตรัสว่า
“อย่าปรารมภ์เลย ค่ำคืนนี้อย่าตีฆ้องกลอง เพลา ๑๑ ทุ่ม เราจะให้ฝนตกลงมาจนได้”
แล้วตรัสสั่งให้ตั้งศาลเพียงตา เอาหัวหมูเหล้ามาสังเวย ตรัสอ้างเอาพระบารมีมาคุ้มครองไพร่พล เวลา ๑๑ ทุ่ม เกิดเมฆมืดครึ้ม แล้วฝนตกลงมามากมายหลายร้อยห่า จนน้ำเจิ่งนองในป่า ขอนไม้ลอยตามน้ำไป ทหารทั้งกองทัพไม่อดน้ำ
นี่คือ ตัวอย่างของคนมีบุญที่เรียกฝนได้
(โปรดติดตามตอนต่อไป) 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น