วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

อุตตริมนุสสธรรม ของ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ตอน สมเด็จทรงไตรจีวร ๓ ผืน

สมเด็จทรงไตรจีวร ๓ ผืน
สมเด็จทรงไตรจีวร ๓ ผืน คือสบง สำหรับนุ่ง จีวร สำหรับห่ม สังฆาฏิสำหรับพาดไหล่ มีผ้ารัดประคต คาดอกกันสังฆาฏิหลุด  เวลาอยู่วัดท่านจะห่มจีวรลดไหล่ เวลาออกนอกเขตวัดท่านจะมีสังฆาฏิพาดไหล่ และห่มคลุม เมื่อเข้าเขตวัด จึงลดไหล่ลงมา  ท่านห่มไตรจีวรแบบมหานิกายมาตลอด เพราะท่านบวชในคณะมหานิกายเดิมที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม สมัยนั้นยังไม่มีคณะธรรมยุติ วัดอินทรวิหารหรือวัดบางขุนพรหมที่เคยจำพรรษา และวัดระฆังเป็นวัดมหานิกายมาแต่เดิม  ท่านไม่เคยบวชแปลงเป็นฝ่ายธรรมยุติกนิกายเพื่อเอาใจพระจอมเกล้าฯ อย่าว่าแต่บวชเพื่อเอาพระทัยพระเจ้าแผ่นดินเลย ท่านกล้าขัดขวาง ท่านกล้าสอนธรรมะทางอ้อมแก่พระราชาธิราชเสียอีก จนพระจอมเกล้าฯ ทรงยกให้เป็นบาปมุติ คือไม่มีบาปไม่มีโทษ พระองค์อื่นไม่มีใครกล้าประพฤติเหมือนท่าน
สมเด็จฯ ท่านบำเพ็ญบารมีเป็นพระโพธิสัตว์ ท่านประพฤติตามใจชอบของท่าน เพื่อปรารถนาพระโพธิญาณ แม้ทุกวันนี้ก็มีพระสมภารเจ้าวัดบำเพ็ญบารมีเป็นพระโพธิสัตว์อยู่อีกมาก คือพระสมภารตามบ้านนอกทั่วไป ต้องบำเพ็ญบารมี สงเคราะห์สัตว์ผู้ยาก ต้องเป็นที่พึ่งของเขายามทุกข์  ตัวอย่างเรื่องนี้มีไม่เฉพาะแต่พระไทยเราเท่านั้น แม้พระมอญก็ต้องปฏิบัติ เช่นพระอุตมะ พระมอญที่อพยพหนีสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มาจากพม่า แทบว่าจะถูกฆ่าตายเสียหลายครั้ง มีชาวมอญมาขอของดีจากท่าน ท่านว่าไม่มีให้ดอก เขาก็จะเอาให้ได้ จึงให้เขาไปเก็บเอาก้อนกรวดมา ท่านก็ตั้งจิตอธิษฐานเอาคุณพระรัตนตรัยมาเป็นที่พึ่ง เอาความสัจจริงมาเป็นที่ตั้ง เสกก้อนกรวดแจกเขาไป พวกมอญก็เอาก้อนกรวดไปเป็นเครื่องรางรักษาตัวก็รอดปลอดภัยอันตราย  หรืออย่างพระภิกษุ พระยานรรัตน์ราชมานิต (ตรึก จินตยานน์) เมื่อพระราชปัญญาโกศล (ทองสุก ขาวผ่อง) สร้างโรงเรียนที่นครนายก สร้างเหรียญรูปของพระธัมมวิตกฺโกภิกขุ (คือพระภิกษุพระยานรรัตน์ราชมานิต) ให้ท่านปลุกเสก ท่านก็ตั้งจิตอธิษฐานปลุกเสกให้ พระนั้นก็ศักดิ์สิทธิ์เป็นที่เลื่อมใสของมหาชนมาก พระอรัญญวาสีนั้นมักไปพบชาวบ้านมาขอของดีจากท่านเสมอ ท่านจึงมักต้องประพฤติตนเป็นพระขลังด้วยการเสกพระเครื่องให้ สมเด็จพระพุฒาจารย์ท่านก็เป็นพระธุดงค์เดินป่ามาก่อน ท่านจึงต้องสร้างพระเครื่องที่เรียกว่าพระสมเด็จแจกไปมากมาย
(โปรดติดตามตอนต่อไป)


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น