ห้ามคลื่นลม
ในสมัยรัชกาลที่
๔ พระจอมเกล้าฯ เคยเสด็จไปธุดงค์ที่เขาย้อยและเขามหาสมณะ ที่เรียกว่าเขาวัง
เมื่อท่านเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติ ท่านจึงไปสร้างพระราชวังบนเขามหาสมณะ
แล้วสร้างวัดมหาสมณารามไว้ที่เชิงเขา สร้างมณฑปครอบพระพุทธไสยาสน์
ซึ่งพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดให้สร้างขึ้นไว้ตอนปลายรัชกาล เมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๕
ในคราวประชวร มาประทับแรมที่หาดบางทะลุ (ซึ่งพระมงกุฎเกล้าฯ
ทรงพระราชทานชื่อใหม่ว่า หาดเจ้าสำราญ เนื่องจากพระพุทธเลิศหล้ามาประทับที่นั่นแล้วหายประชวร)
เมื่อหายประชวรแล้วจึงโปรดให้สร้างพระพุทธรูปปางไสยาสน์ไว้บนเชิงเขามหาสมณะนั้น
ยาว ๒๑ วา เป็นพระพุทธรูปที่งดงามมาก เนื่องจากใช้ช่างหลวงสร้าง
เมื่อสร้างแล้วก็สวรรคต ใน พ.ศ. ๒๓๖๗ ยังไม่ทันได้สร้างมณฑป เมื่อรัชกาลที่ ๔ มาสร้างพระราชวังบนเขามหาสมณะนั้น
ทรงเปลี่ยนชื่อเขาว่า เขามหาสมณะ โปรดให้เฉลิมพระราชมณเฑียรเขานั้น
พระราชทานนามว่า พระราชวังพระนครคีรี สร้างพระเจดีย์บรรจุพระธาตุ
และสร้างหอดูดาวไว้บนเขามหาสมณะนั้นด้วย
เสร็จแล้วให้สร้างมณฑปครอบพระพุทธไสยาสน์ด้วยไม้มุงสังกะสี แล้วมีงานฉลองเมื่อเดือนพฤษภาคม
พ.ศ. ๒๔๐๕ นิมนต์สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต)
ไปในงานสวดพระพุทธมนต์ฉลองพระราชมณเฑียรด้วย
ตอนขากลับวัด
เป็นเวลาบ่าย มีคลื่นลมแรงกล้า
สมเด็จท่านเตรียมออกเรือจากปากอ่าวบ้านแหลมจะข้ามมาปากอ่าวแม่กลอง
ชาวบ้านห้ามว่าอย่าไปเลย คลื่นลมจัด ท่านก็ไม่เชื่อฟัง
ออกมายืนที่หน้าเก๋งเรือโบกมือไปมา ไม่ช้าคลื่นลมก็สงบ
ท่านจึงเดินทางข้ามอ่าวบ้านแหลม เพชรบุรี มายังอ่าวแม่กลอง เมืองสมุทรสงคราม
เข้าคลองสุนัขหอน เข้าแม่น้ำท่าจีนมาจนถึงวัดระฆังในคืนนั้น
(โปรดติดตามตอนต่อไป)