วันศุกร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2559

อุตตริมนุสสธรรม ของ สมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) ตอน ต้องบอกลาพระปลัดก่อน


ต้องบอกลาพระปลัดก่อน
ในสมัยหนึ่ง สมเด็จได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์แล้ว ในตราตั้งกำหนดไว้ว่า ให้มีฐานานุศักดิ์ ตั้งพระฐานานุกรมช่วยทำกิจพระศาสนาได้ ๘ องค์ คือ
๑.พระครูปลัดสัมพิพัฒน์
๒.พระครูวินัยธรรม
๓.พระครูธรรมธร
๔.พระครูสัททสุนทร
๕.พระครูอมรโฆษิต
๖.พระครูสมุห์
๗.พระครูใบฎีกา
๘.พระครูธรรมรักขิต
ท่านก็ตั้งพระในวัดระฆังนั้นเป็นพระครูครบตำแหน่งฐานานุกรม ที่ท่านให้ตั้งพระฐานานุกรมนี้ ท่านเลียนแบบในสมัยพุทธกาล เมื่อพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่นั้น ทรงตั้งพระอสีติมหาสาวก ๘๐ องค์ เป็นพระธรรมเสนาและจัดพระให้นั่งเฝ้าเป็นรูปดาวล้อมเดือน ๘ ทิศ ๘ องค์ คือ
๑.สารีปุตโต จะ ทักขิเณ พระสารีบุตรนั่งข้างขวา
๒.ปัจฉิเม จะ อานันโท พระอานนท์นั่งข้างหลัง
๓.อุตตเร จะ โมคคัลลาโน พระโมคคัลลานะ นั่งข้างซ้าย
๔.โกณฑัญโญ ปุรภาเค พระโกณฑัญญะ นั่งข้างหน้า
๕.พายัพเพ จะ ควัมปติ พระควัมปติ นั่งทิศพายัพ
๖.อุบาลี หรติฏฐาเน พระอุบาลี นั่งทิศหรดี
๗.อาคเณยเย จะ กัสสโป พระมหากัสสปะ นั่งทิศอาคเนย์
๘.ราหุโล เจวะ อิสาเณ พระราหุล นั่งทิศอิสาณ

เราตั้งกันมานานเนจนลืมประเพณีที่มาของเรื่องพระฐานานุกรมเสียแล้ว

เวลาสมเด็จท่านไปไหน ท่านจะบอกลาพระปลัดก่อนเสมอ พระในวัดจะไปไหน ให้บอกลาพระปลัดด้วย เวลากลับมาให้มาบอกพระปลัดว่ากลับมาแล้ว

วันหนึ่งท่านได้รับนิมนต์ไปในงานพระราชพิธีในวัง พระปลัดไม่อยู่วัด ท่านจึงรอบอกพระปลัดก่อน จนเลยเวลามาก พอเข้าไปในวัง พระจอมเกล้าฯ ก็ทรงถามว่าทำไมมาช้านัก ท่านทูลว่า ต้องรอบอกพระปลัดก่อน


“กุปปธัมโม อกุปปธัมโม”
“ฌานเสื่อมได้ในบุคคลที่ควรเสื่อม ฌานไม่เสื่อมในบุคคล
(โปรดติดตามตอนต่อไป)

วันพุธที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2559

อุตตริมนุสสธรรม ของ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ตอน โกฎิ จักวะ เฬสุ

โกฏิ จักวะเฬสุ
ชื่อเสียงของสมเด็จพระพุฒาจารย์โตไม่ใช่ดังอยู่ในพระพุทธศาสนาเท่านั้น ยังดังก้องไปถึงหูพวกบาทหลวงในศาสนาคริสต์ที่เข้ามาเผยแพร่ศาสนาในเมืองสยามด้วย เพราะศาสนาคริสต์ไม่แพร่หลายในหมู่คนไทย ไปเผยแพร่ในหมู่คนจีน คนญวน เพราะในพุทธศาสนามีพระดีพระดังขวางอยู่ วันหนึ่งพวกบาทหลวงจึงมาสืบดูลาดเลาว่า วัดระฆังมีพระดีอย่างไรนักหนา
มาถึงก็สอบถามสมเด็จพระพุฒาจารย์ว่า
“ในศาสนาพุทธ พระพุทธเจ้าสอนว่า โลกกลมหรือโลกแบน”
สมเด็จพระพุฒาจารย์ ตอบว่า
“พระพุทธเจ้าของฉันไม่ได้สอนว่า โลกกลมหรือโลกแบนดอก แต่ทรงสอนว่า “โลเกสุ จักวาเฬสุ โกฏิ จักวาเฬสุ แปลว่า โลกทั้งหลาย อยู่ในจักรวาลทั้งหลาย จักรวาลมีแสนโกฏิจักรวาล ไม่ใช่มีแต่จักรวาลเดียว โลกอยู่ในจักรวาลนี้ มีดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดวงดาวนับล้านดวงเป็นจักรวาลหนึ่ง ยังมีจักรวาลอีกนับล้านจักรวาล...”
“พระพุทธเจ้าสอนว่าใครสร้างโลก”
“พระพุทธเจ้าไม่เคยสอนว่าใครสร้างโลก ขืนคิดค้นหาว่าใครสร้างโลก คนนั้นก็จะบ้าเสียสติไปเปล่า”
“ถ้าเช่นนั้น พระพุทธเจ้าก็ไม่แจ้งโลกจริง เพราะโลกนี้พระเจ้าสร้างขึ้นมาพร้อมทั้งมนุษย์และสัตว์...”
“พระเจ้าของพวกท่านก็เก่งมากนะจ๊ะ ที่สร้างคนบ้า สร้างหมาขี้เรื้อน สร้างหมัดไว้กัดหมา สร้างยุงไว้กัดคน สร้างตัวพยาธิไว้ในท้องหมา...”
“ท่านว่าโลกกลม ลอยอยู่ในจักรวาล ท่านลองชี้ดูซิว่า ศูนย์กลางของโลกอยู่ที่ไหน”
“ตามฉันมาซีจ๊ะ ฉันจะชี้ให้ดู”
ว่าแล้วก็พาบาทหลวงลงจากกุฏิมายืนหน้าบันได เอาไม้เท้าชี้ลงไปที่ดินว่า “นี่ ศูนย์กลางโลกอยู่ตรงนี้แหละจ้ะ”
“ท่านรู้ได้อย่างไร”
“ก็ลองเอาเชือกมาขึงไปให้รอบโลกซีจ๊ะ แล้วมันจะมาจบลงตรงนี้แหละ
พวกบาทหลวงก็เลยต้องกลับไป
(โปรดติดตามตอนต่อไป)  

วันพฤหัสบดีที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2559

อุตตริมนุสสธรรม ของ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ตอน กระต่ายดำ กระต่ายขาว

กระต่ายดำ กระต่ายขาว
ลูกศิษย์สมเด็จพระสังฆราชด่อน ที่ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ให้นั้น มีชื่อเสียงโด่งดังมากอยู่สององค์ องค์แรกบวชเมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๒ มีนามฉายาว่า โต พรหมรังสี องค์ที่สองบวชเมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๗ มีนามฉายาว่า วชิรญาณ คือ เจ้าฟ้ามงกุฎ พระภิกษุทั้งสององค์นี้เก่งคนละด้าน องค์แรกเก่งทางวิปัสสนา เป็นพระฝ่ายอรัญญวาสี เชี่ยวชาญทางสมถวิปัสสนา ถึงขนาดได้ญาณทัศนะเห็นได้ในที่ลี้ลับห่างไกล องค์ที่สองเก่งทางปริบัติ เก่งทางภาษาบาลี ภาษาอังกฤษ โหราศาสตร์ ดาราศาสตร์ แต่ทั้งคู่มีปฏิภาณไหวพริบเฉียบแหลม จึงต่างองค์ต่างนับถือกัน เรียกว่าปราชญ์รู้เชิงปราชญ์

เมื่อพระวชิรญาณ ตั้งคณะธรรมยุติกนิกายขึ้นเพื่อกุศโลบายอันลึกซึ้ง ๒ ประการ คือ ๑.เพื่อปฏิรูปพระพุทธศาสนาให้เรียบร้อยขึ้น ๒.เพื่อหาสมัครพรรคพวกทางการเมืองในการที่จะขึ้นครองราชสมบัติแบบพระพิมลธรรมในสมัยกรุงศรีอยุธยา ที่ขึ้นครองราชย์สมบัติเป็นพระเจ้าทรงธรรม มีคนเข้ามาถวายตัวเป็นศิษย์กันมาก เมื่อทราบว่าพระมหาโต เก่งมาก มีคนเคารพนับถือมาก จึงให้คนมานิมนต์พระมหาโตไปพบที่วัดสมอราย

“มีบุรุษสองคน เดินทางมาด้วยกัน ต่างคนต่างแบกปอมาพบผ้าไหมเข้า คนหนึ่งจึงทิ้งป่านปอที่แบกมาทอเป็นผู้นุ่งห่ม จึงทิ้งป่านปอนั้นลงเสีย เอาผ้าไหมไป อีกคนหนึ่งไม่ยอมทิ้งป่านปอ คงแบกปอต่อไป ท่านเห็นว่า คนแบกปอหรือคนแบกไหมใครฉลาดกว่า...”
พระจอมเกล้าหรือพระวชิรญาณ กล่าวเป็นปริศนาธรรม
มหาโต ฟังแล้วรู้เท่าทันว่า จะชักชวนเข้าบวชใหม่ในธรรมยุติกนิกาย จึงตอบเฉไฉว่า
“ยังมีกระต่ายสองตัว หากินอยู่ในป่าด้วยกัน ตัวหนึ่งขาว ตัวหนึ่งดำ วันหนึ่งกระต่ายขาวชักชวนกระต่ายดำว่า หญ้าฝั่งน้ำข้างโน้นมีมากกว่าฝั่งนี้ ควรว่ายน้ำข้ามฟากไปหากินฝั่งโน้นหญ้าอุดมสมบูรณ์กว่า กระต่ายดำไม่ยอมไป กระต่ายขาวจึงว่ายน้ำข้ามฝั่งไปหากินแต่ตัวเดียว ว่ายน้ำข้ามไปมาอยู่เสมอ วันหนึ่งเกิดลมพายุพัดจัด มีคลื่นลมปั่นป่วน พัดเอากระต่ายขาวจมน้ำตาย แต่กระต่ายดำยังอยู่ดี ฝ่าบาทลองทำนายดูว่ากระต่ายตัวไหนฉลาด...”
เรื่องก็จบลง ไม่มีการโต้ตอบกันไป มหาโต ก็คงอยู่ในคณะมหานิกายต่อมา ไม่ยอมเปลี่ยนนิกายจนกระทั่งมรณภาพ ในตำแหน่งพระราชาคณะชั้นสมเด็จพระพุฒาจารย์

(โปรดติดตามตอนต่อไป)


วันพฤหัสบดีที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2559

อุตตริมนุสสธรรม ชองสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) ตอน ภัตตาหารชาววัง


ภัตตาหารชาววัง

พระอารามหลวงสมัยนั้น มีโรงครัวของวัด วันใดได้รับอาหารบิณฑบาตน้อย หรือพระภิกษุอาพาธก็มีพระจัดภัตตาหาร เรียกว่า พระภัตตุเทศก์ (ภัตต+อุเทศก์) พระผู้แนะนำอาหาร สำหรับวัดระฆังนั้น พระจุลจอมเกล้าทรงเคารพเป็นพิเศษ จึงพระราชทานอาหารจากวังไปถวายเสมอ
วันหนึ่งสมเด็จท่านได้รับพระราชทานภัตตาหารมาจากในวัง ท่านก็ไม่ฉัน แต่เอาภัตตาหารนั้นมาใส่กระทะเอาผักบุ้งสายบัวมาหั่นใส่ลงไปให้มาก จะเรียกว่าแกงส้มก็ไม่ได้ จะเรียกว่าแกงเผ็ดก็ไม่เชิง เพราะไม่มีเนื้อหมู เนื้อปลา มีแต่ผักกับอาหารที่พระราชทานมา พอทำครัวเสร็จก็ตีกลองเพล ให้พระมารับภัตตาหารในโรงครัว สมเด็จท่านตักแจกด้วยตนเองเลย พระเณรก็มารับอาหารกันทั่วหน้า ท่านบอกว่าอาหารชาววังนะจ๊ะ ฉันได้รับพระราชทานมา จึงเอามาแบ่งให้ท่านฉันกันพอรู้รสชาติ แต่ฉันปรุงเสียใหม่นะจ๊ะ เพราะของมีน้อยเอาอาหารในวังมาเป็นเชื้อกระสาย
วันนั้นเป็นวันธรรมสวนะ พระทั้ง ๕๐ รูปก็ลงโบสถ์ตอนเย็น สมเด็จก็ไปนั่งอยู่ที่บันไดประตูโบสถ์ องค์ไหนผ่านมา ท่านก็ทักทายถามว่าอาหารมื้อนี้อร่อยมากไหม
“อร่อยมากขอรับ”
“พอฉันได้ขอรับ”
“รสชาติดีขอรับ”
“อาหารพระจะเอาอร่อยมากไม่ได้ดอกขอรับ เราฉันเพื่ออยู่ มิใช่อยู่เพื่อฉัน” ต่างองค์ต่างตอบไปคนละอย่าง
พอมาถึงหลวงตาองค์หนึ่ง ท่านตอบว่า “ไม่ไหวขอรับพระเดชพระคุณ เทให้สุนัขมันยังไม่กิน”
สมเด็จท่านยกมือไว้พระหลวงตาองค์นั้น พูดว่า “สาธุ หลวงตานี่แหละศีลบริสุทธิ์ ควรเคารพนบไหว้...”
หลังจากทำวัตรเย็นแล้ว สมเด็จก็เทศน์อบรมพระ ยกย่องหลวงตาว่าเป็นพระศีลบริสุทธิ์ แล้วอธิบายต่อไปว่า
“นี่แหละท่านเรียกว่าอาการสำรวม คือเมื่อพระเราฉันอาหาร ท่านให้สำรวม ๓ อย่าง คือ สำรวมกิริยา อย่าฉันอาหารเสียงดับจั๊บๆ อย่าซดน้ำแกงดัง สำรวมวาจา อย่าคุยกันในเวลาฉันอาหาร สามสำรวมใจ พิจารณาว่าเราฉันเพื่อมีชีวิตอยู่ปฏิบัติธรรม ไม่ติดในรสอาหาร ฉันเพียงเพื่ออิ่มไปมือหนึ่ง เมื่ออาหารลงไปในท้องแล้วเหมือนกันหมด รากออกมาก็เหม็น ถ่ายออกมาก็เหม็นเหมือนกันทุกคน อย่าลืมอาหารสำรวมของผมเสียนะ...”

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

วันพฤหัสบดีที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2559

อุตตริมนุสสธรรม ของ สมเด็จพระพุฒจารย์ (โต) ตอน คำตรีชา

คำตรีชา

คำตรีชา แปลว่า คำนินทา คนที่ไม่ถูกนินทาไม่มีในโลก ดีก็ถูกนินทา ชั่วก็ถูกนินทา คำว่า ตรีชา แปลว่า รู้สามอย่าง รู้อะไรบ้าง ตอบว่า
๑.รู้ จริง
๒.รู้ ไม่จริง
๓.รู้ จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง
คำนินทาย่อมประกอบด้วยปัจจัย ๓ อย่างนี้ ที่คนพูดนินทากัน
นี่คือคำสอนของสมเด็จพระพุฒาจารย์
สุนทรภู่ คนในยุคเดียวกัน จึงแต่สุภาษิตสอนใจคนว่า

"อันนินทากาเลเหมือนเทน้ำ
ไม่ชอกช้ำเหมือนเอามีมากรีดหิน
ดูแต่พระปฏิมายังราคิน
คนเดินดินหรือจะพ้นคนนินทา"

(โปรดติดตามตอนต่อไป)