วันพฤหัสบดีที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2559

อุตตริมนุสสธรรม ชองสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) ตอน ภัตตาหารชาววัง


ภัตตาหารชาววัง

พระอารามหลวงสมัยนั้น มีโรงครัวของวัด วันใดได้รับอาหารบิณฑบาตน้อย หรือพระภิกษุอาพาธก็มีพระจัดภัตตาหาร เรียกว่า พระภัตตุเทศก์ (ภัตต+อุเทศก์) พระผู้แนะนำอาหาร สำหรับวัดระฆังนั้น พระจุลจอมเกล้าทรงเคารพเป็นพิเศษ จึงพระราชทานอาหารจากวังไปถวายเสมอ
วันหนึ่งสมเด็จท่านได้รับพระราชทานภัตตาหารมาจากในวัง ท่านก็ไม่ฉัน แต่เอาภัตตาหารนั้นมาใส่กระทะเอาผักบุ้งสายบัวมาหั่นใส่ลงไปให้มาก จะเรียกว่าแกงส้มก็ไม่ได้ จะเรียกว่าแกงเผ็ดก็ไม่เชิง เพราะไม่มีเนื้อหมู เนื้อปลา มีแต่ผักกับอาหารที่พระราชทานมา พอทำครัวเสร็จก็ตีกลองเพล ให้พระมารับภัตตาหารในโรงครัว สมเด็จท่านตักแจกด้วยตนเองเลย พระเณรก็มารับอาหารกันทั่วหน้า ท่านบอกว่าอาหารชาววังนะจ๊ะ ฉันได้รับพระราชทานมา จึงเอามาแบ่งให้ท่านฉันกันพอรู้รสชาติ แต่ฉันปรุงเสียใหม่นะจ๊ะ เพราะของมีน้อยเอาอาหารในวังมาเป็นเชื้อกระสาย
วันนั้นเป็นวันธรรมสวนะ พระทั้ง ๕๐ รูปก็ลงโบสถ์ตอนเย็น สมเด็จก็ไปนั่งอยู่ที่บันไดประตูโบสถ์ องค์ไหนผ่านมา ท่านก็ทักทายถามว่าอาหารมื้อนี้อร่อยมากไหม
“อร่อยมากขอรับ”
“พอฉันได้ขอรับ”
“รสชาติดีขอรับ”
“อาหารพระจะเอาอร่อยมากไม่ได้ดอกขอรับ เราฉันเพื่ออยู่ มิใช่อยู่เพื่อฉัน” ต่างองค์ต่างตอบไปคนละอย่าง
พอมาถึงหลวงตาองค์หนึ่ง ท่านตอบว่า “ไม่ไหวขอรับพระเดชพระคุณ เทให้สุนัขมันยังไม่กิน”
สมเด็จท่านยกมือไว้พระหลวงตาองค์นั้น พูดว่า “สาธุ หลวงตานี่แหละศีลบริสุทธิ์ ควรเคารพนบไหว้...”
หลังจากทำวัตรเย็นแล้ว สมเด็จก็เทศน์อบรมพระ ยกย่องหลวงตาว่าเป็นพระศีลบริสุทธิ์ แล้วอธิบายต่อไปว่า
“นี่แหละท่านเรียกว่าอาการสำรวม คือเมื่อพระเราฉันอาหาร ท่านให้สำรวม ๓ อย่าง คือ สำรวมกิริยา อย่าฉันอาหารเสียงดับจั๊บๆ อย่าซดน้ำแกงดัง สำรวมวาจา อย่าคุยกันในเวลาฉันอาหาร สามสำรวมใจ พิจารณาว่าเราฉันเพื่อมีชีวิตอยู่ปฏิบัติธรรม ไม่ติดในรสอาหาร ฉันเพียงเพื่ออิ่มไปมือหนึ่ง เมื่ออาหารลงไปในท้องแล้วเหมือนกันหมด รากออกมาก็เหม็น ถ่ายออกมาก็เหม็นเหมือนกันทุกคน อย่าลืมอาหารสำรวมของผมเสียนะ...”

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น