วันพฤหัสบดีที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

อุตตริมนุสสธรรม ของ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ตอน สุนัขขัตตัง สุมังคะลัง

สุนักขัตตัง สุมังคะลัง
มีลูกศิษย์เจ้าปัญหา ถามว่าสุนักข์เป็นมงคลหรือ ได้ยินพระท่านสวดในงานมงคลว่า “สุนักขัตตัง สุมังคะลัง...”
สมเด็จตอบว่า เธอไม่รู้ภาษาบาลี ฉันจะแปลให้ฟัง ฟังเอาบุญนะจ๊ะ
“สุนักขัตตัง สุมังคะลัง (อันว่าดาวนักขัตฤกษ์ทั้งปวงในท้องฟ้านภากาศ ที่นับถือบูชาว่าเป็นมงคลนั้น ก็ดี)
สุปะภาตัง สุหุฏฐิตัง (อันว่าการบูชาไฟแด่พระเจ้าให้สว่างอยู่ ก็ดี)
สุขะโณ สุมุหุตโต จะ (อันว่าการบูชาไฟให้ลุกสว่างอยู่ทุกขณะไม่ให้ไฟดับเลยก็ดี)
สุยิฏฐัง พรัหมะจาริสุ (อันว่าการบูชาพระอรหันต์ผู้อยู่จบพรหมจรรย์ทั้งหลาย)
ปะทักขิณัง กายะกัมมัง (การกระทำประทักษิณด้วยกายกรรม คือเดินวนขวา ๓ รอบ)
วาจากัมมัง ปะทักขิณัง (การประทักษิณด้วยวาจากรรม คือการสวดพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ ไปในขณะเดินเวียนขวาก็ดี)
ปะทักขิณัง มโนกัมมัง (การกระทำประทักษิณด้วยมโนกรรมคือการส่งใจไปจดจ้องเคารพท่านก็ดี)
ปะณิธี เต ปะทักขิณา (ย่อมได้รับผลอันประณีตตามที่ตั้งจิตปรารถนาในการกระทำประทักษิณนั้น)
ปะทักขิณานิ กัตวานะ (การกระทำประทักษิณทั้ง ๓ ประการนี้)
ละภันตัตเถ ปะทักขิเณฯ” (ย่อมได้รับผลจากการกระทำประทักษิณทั้งหลายเหล่านี้)
การกระทำประทักษิณ คือการเดินวนขวา ๓ รอบ ในท่านผู้ที่เคารพแม้ในมิตรสหาย แม้ในภรรยา เช่นชูชกเดินประทักษิณนางอมิตดาเมื่อจะจากไปในป่า เพื่อขอสองกุมาร ชูชกเดินวนสามรอบนางอมิตดา ว่าจะเกิดการสวัสดีแก่ทั้งผู้อยู่และผู้จากไป
ในการเดินวนขวาสามรอบนั้น ท่านให้สำรวมกาย, สำรวมวาจา, สำรวมใจ, สังวรระวัง
ในรอบแรก ให้สวดพระพุทธคุณ ๕๖ (อิติปิโสฯ)
ในรอบที่สอง ให้สวดพระธรรมคุณ ๓๘ (สวากขาโตฯ)
ในรอบสาม ให้สวดพระสังฆคุณ ๑๔ (สุปฏิปันโนฯ)
รวมเป็นคุณพระรัตนตรัย ๑๐๘ ท่านจึงให้สวมพระประคำ ๑๐๘ ลูก หมายถึงสามพระรัตนตรัย ว่าอิติปิโส ๑๐๘ คาบ ท่านหมายถึงประทักษิณ ๓ รอบนี้เอง ท่านนิมนต์พระมาสวดพระพุทธคุณก็ต้องมีพระ ๑๐๘ องค์ นี่แบบโบราณแท้

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น