วันพฤหัสบดีที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

อุตตริมนุสสธรรม ของ สมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) ตอน ชื่อวัน เดือน ปี มาจากไหน

ชื่อวัน เดือน ปี มาจากไหน
มีคนเป็นอันมาก มีความสงสัยว่า ชื่อ วัน เดือน ปี มาจากไหน ใครเป็นคนคิดตั้งไว้แต่แรกมาแต่ยุคใด สมัยใด จึงนับคล้ายคลึงกันทั้งโลก เช่นวันมี ๗ วัน เดือนมี ๑๒ เดือน ปีมี ๑๒ ปีดังนี้ แม้ว่าจะใช้ภาษาแตกต่างกัน เรื่องนี้สมเด็จท่านเทศนาให้ฟังอย่างละเอียด เมื่อคราวเทศน์เรื่อง ๑๒ นักษัตรที่ตำหนักสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ท่านเทศน์ไว้เป็นใจความว่า
“แท้ที่จริง การตั้งชื่อวัน เดือน ปี นักปราชญ์ผู้รู้วิชาโหราศาตร์แต่ต้นปฐมกาล ก่อนพุทธกาลนานเนกาเลมาแล้ว คือท่านเอาดวงดาวในห้วงเวหา มาตั้งชื่อ วัน เดือน ปี ที่เรียกว่านักษัตร (ภาษาสันสกฤต) ภาษาบาลีใช้ว่า นักขัต ที่ท่านใช้ว่านักขัตฤกษ์ หรือนักขัตมงคล หมายถึงดาวนักขัตฤกษ์บนท้องฟ้า

๑.วัน ท่านเอาดาวนพเคราะห์มาตั้งชื่อวัน เอามาเพียง ๗ วัน คือดาวอาทิตย์ ดาวจันทร์ ดาวอังคาร ดาวพุธ ดาวพฤหัสบดี ดาวศุกร์ ดาวเสาร์ เป็นชื่อวันทั้ง ๗ วัน เป็นหนึ่งสัปดาห์
๒.เดือน ท่านเอาดาวที่รวมกลุ่มกันในท้องฟ้านภากาศไกลออกไปกว่าดาวนพเคราะห์ มาตั้งชื่อตามรูปดาวที่รวมกลุ่มกันเป็นรูปต่างๆ คือ
- ดาวรูปแพะ เดือนเมษายน
- ดาวรูปโคผู้ เดือนพฤษภาคม
- ดาวรูปคนคู่ เดือนมิถุนายน
- ดาวรูปปูป่า เดือนกรกฎาคม
- ดาวรูปราชสีห์ เดือนสิงหาคม
- ดาวรูปสตรี เดือนกันยายน
- ดาวรูปตาชั่ง เดือนตุลาคม
- ดาวรูปแมงป่อง เดือนพฤศจิกายน
- ดาวรูปธนู เดือนธันวาคม
- ดาวรูปมังกร เดือนมกราคม
- ดาวรูปหม้อ เดือนกุมภาพันธ์
- ดาวรูปปลา เดือนมีนาคม

.ปี ท่านเอาดวงดาวในท้องฟ้าไกลออกไปอีก ที่จับกลุ่มกันอยู่เป็นรูปสัตว์มาตั้งชื่อปี คือ
- ดาวรูปหนู ปีชวด
- ดาวรูปวัวตัวผู้ ปีฉลู
- ดาวรูปเสือ ปีขาล
- ดาวรูปกระต่าย ปีเถาะ
- ดาวรูปนาค ปีมะโรง
- ดาวรูปงู ปีมะเส็ง
- ดาวรูปม้า ปีมะเมีย
- ดาวรูปแพะ ปีมะแม
- ดาวรูปลิง ปีวอก
- ดาวรูปไก่ ปีระกา
- ดาวรูปหมา ปีจอ
- ดาวรูปหมู ปีกุน
รวมดาว ๑๒ กลุ่ม ในท้องฟ้าที่ห่างไกลออกไป มองเห็นเป็นรูปสัตว์อะไร ท่านก็ตั้งชื่อตามรูปสัตว์นั้น แต่ภาษาเป็นภาษาเก่าโบราณมาก เป็นภาษาไทยเมื่อหลายพันปีมาแล้ว
๔.ดาวฤกษ์ คือเวลาตกฟากของคนที่เกิดมาแตกต่างกันไปด้วยอำนาจของดวงดาวในเวลาที่กรรมกำหนดมานั้น ท่านเอาดวงดาวในเวลาเกิดที่จับกลุ่มกัน มีดวงจันทร์ผ่านกลุ่มดาวฤกษ์นั้นไปในเวลาใด ท่านก็เอามาตั้งชื่อกลุ่มดาวนั้น บอกฤกษ์ยามในเวลาเกิด มี ๒๗ กลุ่ม เรียกชื่อตามภาษาบาลี ซึ่งเป็นภาษาโหร พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงเชี่ยวชาญในการคำนวณเวลาดาวฤกษ์อย่างละเอียดนี้ จนทรงทราบว่า พระจันทร์จะโคจรไปทับแสงพระอาทิตย์เวลาใด เห็นได้ในจุดใด จึงบอกเวลาว่า เวลา ๙ นาฬิกา จะเกิดสุริยุปราคา  (พระอาทิตย์มืด เพราะดวงจันทร์บัง) ในวันที่ ๑๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๑๑ ที่ตำบลหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นั่นคือการคำนวณฤกษ์พระจันทร์ผ่านดวงดาวในท้องฟ้าที่โหรเอามาบอกฤกษ์ยาม เป็นเรื่องละเอียดมาก คนธรรมดาไม่ได้เรียนไม่ทราบ
เรื่องนี้แสดงว่าสมเด็จท่านมีความรู้แตกฉานในคดีโลกคดีธรรม ท่านเทศน์ไว้ แต่ประชาชนชาวบ้านไม่ค่อยสนใจ หรือเกินปัญญาที่จะเรียนรู้ จึงเงียบงำไป ไม่ค่อยจดจำมาเล่ากันในเรื่องนี้เท่าไรนัก มักเล่ากันแต่เรื่องพื้นๆ ทั่วไป มิหนำซ้ำยังเรื่องตลกคะนองมาเล่ากัน จนมองว่าสมเด็จท่านเป็นพระแผลงๆ ไปเสีย เรื่องที่ดีไม่ค่อยเล่า เล่าแต่เรื่องตลกคะนอง เช่นเรื่องบอกใบ้ให้หวยนี่ชอบเล่ากันมาก
เรื่องที่ลึกซึ้งในทางวิชาการ หรือทางปรมัตถธรรม ไม่ค่อยมีคนเล่า หรือเล่าก็ไม่มีคนสนใจ เรื่องดีๆ จึงน่าจะสูญไปเสียมาก เพราะตลอดชีวิต ๘๕ ปี ที่ท่านเกิดมาบำเพ็ญบารมีในโลกนี้นั้น น่าจะมีเรื่องราวมากมาย
เล่าตามนิสัยคนเล่าคนเขียน
การเล่าเรื่องของสมเด็จนั้น มันสุดแล้วแต่คนเล่าจะมีทิฏฐิ (ความคิดเห็น) ศรัทธา (ความเชื่อถือ) ปัญญา (ความหยั่งรู้) อารมณ์ (ความรู้สึกรักชัง) นิสัย (ความเคยชิน) วิสัยทัศน์ (การมองโลกตามผลการศึกษาอบรมของคนนั้น) คงไม่เหมือนกัน การเขียนเรื่องของสมเด็จ คงแตกต่างกันด้วยจิตใจของคนเขียน)
๑.เขียนด้วยศรัทธาเลื่อมใส
๒.เขียนจากการศึกษาหาความรู้ แล้วร้อนวิชาอยากเขียนเรื่องที่ตนรู้
๓.เขียนเพื่ออวดรู้
๔.เขียนเพราะอยากดัง
๕.เขียนเพื่อขายหนังสือที่ตนเขียน
๖.เขียนเพื่อขายพระสมเด็จที่ตนมีอยู่
๗.เขียนเพื่อเผยแพร่ธรรมเป็นทาน
๘.เขียนเพื่อฝากชื่อเสียงไว้ในบรรณภพ
๙.เขียนเพราะอยากเขียน เป็นวาสนาตัดไม่ขาดของนักเขียน
คนที่เขียนเรื่องพระสมเด็จพระพุฒาจารย์ คงมีอยู่ ๙ ประการดังนี้
เรื่องสมเด็จพระพุฒาจารย์ จึงมีคนเขียนกันมาก ที่เคยอ่านคือของ “ตรียัมปวาย” นี่เขียนในแนวของคนเลื่อมใสพระสมเด็จ ของ “ฉันพิชัย” หรือคุณฉันทิชย์ กระแสร์สินธ์ นี่เขียนในเชิงประวัติ ของพระยาทิพโกศา (สอน โลหะนันท์) เขียนแบบเล่านิยาย พ.ต.ต.จำลอง มัลลิเกษตริน เขียในทางปาฏิหาริย์พระสมเด็จ น.ต.สันต์ ศุภศรี เขียนค้านดวงชะตาของกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์อาจจะไม่เคยพบดวงชะตา ปูมโหรโบราณ พระครูกัลยาณานุกูล เขียนแบบวิทยานิพนธ์ มีหลักฐานมั่นคงมากกว่าใคร
โดยเฉพาะของพระยาทิพโกศา ท่านเขียนจากรูปภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถวัดระฆังโฆสิตาราม และในอุโบสถวัดอินทรวิหาร หนังสือของท่านทำท่าว่าจะเป็นฉบับอ้างอิงได้ แต่แล้วก็เหลวไหล เพราะท่านอ้าง พ.ศ. ผิดมาก ตัวอย่างเช่น
ครั้นถึง ณ วันพุธ เดือน ๖ ปีวอก พ.ศ. ๒๓๑๙ นางงุด ปั่นป่วนครรภ์จนคลอดบุตร (คือสมเด็จ) นี่อ้างผิดอย่างฉกรรจ์ เพราะสมเด็จเพิ่งเกิดเมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ. ๒๓๓๑
“ปี พ.ศ. ๒๓๓๑ (จ.ศ. ๑๑๕๐) เด็กชายโต อายุได้ ๑๓ ขวบ  “สมควรที่จะทำการโกนจุกแล้ว” นี่อ้างผิดอีก เพราะ พ.ศ. ๒๓๓๑ นั้นสมเด็จท่านพึ่งลืมตาดูโลกอันอลวนนี้
“ปี พ.ศ. ๒๓๓๓ อายุสามเณรโตได้ ๑๕ ปี” นี่ก็อ้างผิดอีกตามเคย เพราะปี พ.ศ. ๒๓๓๓ สมเด็จท่านเพ่งอายุ ๒ ขวบเท่านั้น
นี่คือตัวอย่างที่อ้าง พ.ศ. ผิดพลาด แล้วสำนักพิมพ์แห่งหนึ่ง ไปคัดลอกเอามาทั้งดุ้น โดยมิได้สอบสวนให้แน่ ทำให้ผู้อ่านเข้าใจผิดกัน ในเรื่องที่เขียนไว้ผิดๆ นั้น จนเรื่องราวของสมเด็จพระพุฒาจารญ์โต ทำท่าจะเป็นเรื่องศรีธนญชัยไปเสีย เพียงแต่ผู้เขียนเพียรพยายามจะอ้างว่าสมเด็จเป็นพระราชบุตรของพระพุทธยอดฟ้าเท่านั้น
(โปรดติดตามตอนต่อไป)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น