แสดงพระธรรมเทศนาโปรดพระเจ้าแผ่นดินเขมร
ในสมัยรัชกาลที่ ๔
นั้น พระจอมเกล้าฯ ทรงสถาปนานักองค์ด้วง
เชื้อสายเจ้าเขมรที่มาอยู่เมืองไทยแล้วทรงอุปสมบทให้ แล้วส่งไปเป็นพระเจ้าแผ่นดินเขมร
เฉลิมพระนามาภิไธยว่า สมเด็จพระนารายณ์หริรักษ์ ต่อมาพระจอมเกล้าฯ
ยังจัดส่งสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ไปแสดงพระธรรมเทศนาโปรดพระนารายณ์ฯ
ที่กรุงกัมพูชา
เล่าไว้ว่าสมเด็จไปเมืองกัมพูชาด้วยเรือสยามูปถัมภ์
พร้อมด้วยพระฐานานุกรมไปยังเมืองจันทบุรี แล้วขี่เกวียนไปยังเมืองตราด
ไปยังเมืองพระตะบอง (ซึ่งเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (แบน อภัยวงศ์) เป็นเจ้าเมือง)
ไปถึงกรุงกัมพูชา ในการเทศนาครั้งนั้น นักองค์จันทร์
พระราชมารดาพระเจ้ากรุงกัมพูชา ได้นำเอาราชบุตร ราชธิดามาติดกัณฑ์เทศน์ด้วย
(เหมือนที่เจ้าพระยายมราช ถูกติดกัณฑ์เทศน์มาจากเมืองสุพรรณ) แต่สมเด็จคืนให้ไป
ไม่รับมาด้วย ว่ารับมาแต่พระราชบุตร พระธิดาไม่ยอมรับ
เล่าลือกันว่าระหว่างทางมีเสือมาเดินตามเกวียน
ท่านจึงลงมานอนขวางทางเสือเสียคืนหนึ่ง ต่างคนต่างนอนเฝ้ากัน คือเสือนอนเฝ้าพระ
พระนอนเฝ้าเสือ จนรุ่งเช้า ท่านก็บอกเสือว่า “ฉันไปก่อนนะจ๊ะ เพราะมีราชกิจต้องไป”
ต่างก็แยกทางกันไป เรื่องอย่างนี้เล่าได้ เพราะเป็นวิสัยของพระฝ่ายอรัญวาสี
ท่านทำได้จริง
เรื่องเขาเล่าว่า
เรื่องต่อไปนี้เป็นเรื่องเขาเล่าว่า
เป็นเรื่องลับของคนวงใน หรือของคนระดับเจ้านายขุนนางเล่ากันต่อมา เท็จจริงอย่างไร
ไม่มีหลักฐานยืนยัน
เรื่องที่ ๑
เล่าว่าเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๐
พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะแสดงความโปรดปรานพระเจ้าแผ่นดินเขมรเป็นพิเศษ
จึงได้จัดส่งสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ให้ลงเรือกัญญาหลังคาแดง
ไปเทศน์โปรดสมเด็จพระหริรักษ์รามาธิบดี ครั้งยังอยู่ในปกครองของไทย
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) จึงได้ไปเทศน์ให้พระเจ้าแผ่นดินเขมรฟัง
พร้อมกับนำพระสมเด็จฉัพพรรณรังสีไปแจกแก่เจ้านายขุนนางเขมรด้วย
เมื่อกลับมาจึงเข้าเฝ้าทูลราชกิจให้พระจอมเกล้าฯ ทรงทราบ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต)
ได้กราบทูลความลับสุดยอดให้ทรงทราบว่า
“จะเข้าไปเมืองเขมรอย่างมีเกียรติยศเป็นครั้งสุดท้าย
และต่อไปไทยจะเสียแผ่นดินเขมรทั้งประเทศ”
พระจอมเกล้าฯ
ทรงถามว่า เพราะเหตุอะไร
สมเด็จพระพุฒาจารย์
ทูลว่า เป็นบุพกรรม
พระจอมเกล้าฯ ซักถามต่อไปว่า
บุพกรรมอย่างไร
สมเด็จพระพุฒาจารย์
ทูลว่า
“แผ่นดินพระมหาธรรมราชาลือไทย
เสียแผ่นดินแก่กรุงศรีอยุธยา
แผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์เสียแผ่นดินเมืองทะวายให้แก่พม่า
แผ่นดินนี้ก็จะเสียแผ่นดินเขมรให้ฝรั่งเศส”
“มันเกี่ยวกับบุพกรรมของใครเล่า”
“พระมหาธรรมราชาลือไทยกลับชาติมาเกิดเป็นสมเด็จพระนารายณ์
สมเด็จพระนารายณ์กลับชาติมาเกิดในแผ่นดินนี้”
คนที่ทราบระแคะระคายเรื่องนี้
จึงทบทวนว่า สมเด็จพระนารายณ์โปรดเมืองลพบุรี โปรดเล่นกล้องส่องดูดาว
โปรดคบหาสมาคมกับพวกบาทหลวงฝรั่ง พระจอมเกล้าฯ ก็โปรดอย่างเดียวกัน จึงเชื่อกันว่าพระนารายณ์กลับชาติมาเกิดเป็นพระจอมเกล้าฯ
เรื่องที่ ๒
เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๑
สมเด็จพระจอมเกล้าฯ เสด็จไปทอดพระเนตรสุริยุปราคาจนหมดดวงที่ตำบลหว้ากอ
จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยเสด็จทางเรือลงเรือที่ท่าราชวรดิษฐ์
ในคราวนี้สมเด็จพระพุฒาจารย์โต ได้มารอเฝ้าอยู่ที่ท่าราชวรดิษฐ์ เมื่อพระจอมเกล้าฯ
ทอดพระเนตรเห็นก็เสด็จเข้าไปหา สมเด็จพระพุฒาจารย์โตก็ยื่นย่ามถวาย
ในย่ามใบนั้นบรรจุพระสมเด็จอยู่ ๖๕ องค์ แล้วทูลว่า “มหาบพิตรเอาไปแจกเขา”
พระจอมเกล้าฯ จึงทรงนับจำนวนพระสมเด็จได้ ๖๕ องค์ จึงทรงถามว่า
“มีเท่านี้หรือ”
“หมดเท่านี้แหละ
มหาบพิตร”
“ทำไมมีน้อยนัก”
“หมดเพียงเท่านี้แหละ
มหาบพิตร”
สมเด็จพระจอมเกล้าเสด็จไปทอดพระเนตรสุริยปราคาจนหมดดวง
เมื่อวันที่ ๑๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๑๑ ครั้งเสด็จกลับกรุงเทพฯ ก็ประชวรด้วยไข้ป่า
ครั้นแล้วก็สวรรคตเมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๑๑ หลังจากทอดพระเนตรสุริยุปราคาได้เพียง
๑ เดือน ๑๓ วัน มีพระชนมายุได้ ๖๕ พรรษา
สมเด็จพระพุฒาจารย์โต
พยากรณ์พระชนมายุของสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ด้วยพระเครื่องสมเด็จ ๖๕ องค์
ตรงเหมือนตาเห็น นี่คืออุตตริมนุสสธรรมของสมเด็จพระพุฒาจารย์โต