เทศน์โปรดเจ้าพระยาให้หายโศก
ควรทราบกันไว้ด้วยว่าการเทศน์ของสมเด็จในสมัยโน้น มี ๓ อย่าง คือ
๑.เทศน์ทำนองอ่านหนังสือธรรมะตามใบลาน ซึ่งเราได้เคยฟังต่อมา เป็นการเทศน์แบบอ่านหนังสืออย่างคนโบราณอ่าน
๒.เทศน์ธรรมาสน์คู่ คือเทศนืแบบปุจฉา วิสัชนา มีการถามของพระฝ่าย “ปรวาที” แล้วตอบของพระฝ่าย “สักวาที” สมมุติให้องค์แรกเป็นพระปุจฉาคือถามปัญหา เรียกว่าพระปรวาที แล้วมีพระสักวาที กล่าวตอบแบบที่มีพวกพราหมณ์ไปปุจฉาธรรมะกับพระพุทธเจ้า แล้วพระพุทธเจ้าทรงตอบปัญหา เรียกว่ากล่าววิสัชนา
๓.เทศน์แหล่ทำนองเสนาะ มักเทศน์ในเรื่องชาดก เช่นมหาเวสสันดรชาดก สมเด็จท่านเทศน์แหล่ได้ไพเราะเพราะพริ้งมีสำนวนโวหารคมคายไม่เหมือนใคร
คราวหนึ่งสมเด็จพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ท่านมีความเศร้าโศกมาก ด้วยเหตุอนุภรรยาของท่านเสียชีวิตลง ท่านจึงให้นิมนต์สมเด็จพระพุฒาจารย์โตมาเทศน์แหล่ให้ท่านฟัง เพื่อดับโศก ในการเทศน์แหล่คราวนี้จึงเรียกกันว่า เทศนาดับโศก สมเด็จจึงต้องหาวิธีดับโศกด้วยการเทศน์ที่ตลกคะนอง ท่านจึงเทศน์เรื่องมหาเวสสันดรชาดก ตอนกัณฑ์ชูชก ซึ่งสมัยนั้นเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ท่านแต่งไว้อย่างดี มีคนนิยมมาก แต่สมเด็จท่านแปลงสำนวนเสียใหม่ตามแบบของท่าน เริ่มด้วย ขอทานชูชกร้องเพลงขอทานตามแบบเพลงขอทานในสมัยนั้น ตอนที่สองพานาง เป็นแหล่ชูชกพานางอมิตดามาเป็นภรรยา เรียกว่าตาแก่พานางเข้าห้อง ตอนสามชูชกลานางไปป่า ขอสองกุมาร สมเด็จท่านเทศน์แหล่ด้วยสำนวนอันขบขัน จนคนฟังหัวเราะกันท้องคัดท้องแข็ง ว่าบางคนถึงแก่เยี่ยวแตก สมเด็จเจ้าพระยาก็หายโศก ขำขันเสียจนหัวร่อลั่นบ้าน นี่คือตัวอย่างของการเทศน์ของสมเด็จที่เลื่องลืในสมัยนั้น ไม่ใช่เทศน์กันอย่างสุภาพราบเรียบอย่างสมัยหลัง ที่พระจอมเกล้าฯ ทรงกำหนดขึ้นในสมัยตั้งธรรมยุติกนิกาย คาๆ อย่าเข้าใจผิดว่าการเทศน์ของสมเด็จที่เลื่องลือนั้นคือการเทศน์ที่เทศน์ด้วยสำนวนธรรมดาอย่างในสมัยนี้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น