สิ่งที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ฝากไว้
สมเด็จพระพุฒาจารย์
ล่วงลับดับขันธ์แล้ว ๑๒๕ ปะ แต่ยังฝากสิ่งต่างๆ แทนตัวไว้ในโลกนี้
ทั้งที่เป็นรูปธรรม และนามธรรม คือ
๑.รูปปฏิมากร
ที่ลูกศิษย์หล่อไว้เคารพกราบไหว้ ประดิษฐานไว้ถึง ๓ วัด คือวัดอินทรวิหาร วัดระฆัง
วัดเกศไชโย จังหวัดอ่างทอง
๒.พระเครื่องสมเด็จ
คือพระปฏิมากรองค์น้อย ที่นำติดตัวไปเคารพสักการะได้
เพื่ออธิษฐานจิตยึดเอาเป็นที่พึ่งในยามมีภัยได้ทุกข์
ซึ่งย่อมประจักษ์แก่ใจคนเป็นอันมากว่าศักดิ์สิทธิ์จริง มีผู้เล่าไว้มากมาย
แม้ข้าพเจ้าเองก็ประสบมาด้วยตนเองหลายครั้งหลายหน จึงไม่มีวิจิกิจฉาในเรื่องนี้
๓.พระคาถา พระปริตร
พระสูตร ที่สมเด็จเคยสวด เคยภาวนา เช่น ชินบัญชร ทิพมนต์ไชยมงคล มหาไชยมงคล
เป็นต้น บัดนี้มีคนเป็นอันมากเชื่อถือและนำมาสวดกันอยู่ เช่น
ชินบัญชรปริตรที่กล่าวว่าพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ทอดพระเนตรลงมาจากพระนิพพานวิมานแก้วมาทางบัญชรวิมานแก้ว
ลงมาคอยคุ้มครองป้องกัน อภิบาลรักษาผู้ที่เคารพบูชาอยู่
๔.คำเทศนาสั่งสอน
ที่คนภายหลังยังจดจำกันได้ เป็นคติชีวิต แม้แต่พระราชาก็ยังต้องเชื่อฟัง
๕.ความประพฤติปฏิบัติ
ของท่านตลอดชีวิตอันยาวนาน ย่อมเป็นแบบอย่างของพระสุปฏิปันโน ผู้ปฏิบัติดี
ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติเหมาะ ปฏิบัติควร ปฏิบัติถูกต้องตามพระธรรมวินัยมาจนทุกวันนี้
๖.แบบอย่างการปฏิบัติตนของท่านที่ปรารถนาพระโพธิญาณ
เป็นแบบของพระสงฆ์ฝ่ายนิกายโพธิสัตว์มาจนบัดนี้
ใครได้อ่านประวัติของสมเด็จแล้วพากันเลื่อมใสศรัทธามาก
อยากปฏิบัติตามเป็นเยี่ยงอย่างความประพฤติปฏิบัติของพระสุปฏิปันโน (ปฏิบัติดี)
พระอุชุปฏิปันโน (ปฏิบัติงดงามทุกอิริยาบถ) พระญายะปฏิปันโน
(ปฏิบัติด้วยความรู้ตัวทั่วพร้อม) พระสามีจิปฏิปันโน
(ปฏิบัติด้วยความจงรักภักดีต่อพระผู้มีพระภาคเจ้าอย่างมอบกายถวายชีวิต)
อันเป็นคุณลักษณะของพระอริยสงฆ์มาจนทุกวันนี้
๗.รูปถ่าย
รูปวาดจากรูปถ่าย ในท่าต่างๆ มีอยู่หลายแบบ
ที่ประชาชนนิยมติดตั้งไว้บูชาตามโรงร้านบ้านเรือน วัดวาอารามต่างๆ
มีมากกว่าพระเกจีอาจารย์องค์ใดๆ (เกจิ แปลว่า ยอดเยี่ยม เกจิอาจารย์
แปลว่าอาจารย์ชั้นยอดเยี่ยม)
ในสมัยปัจจุบันนี้ยังนิยมเอารูปของท่านมาทำล็อกเกตห้อยคอหรือติดตั้งไว้ในรถเก๋งส่วนบุคคล
รถแท็กซี่ รถเมล์โดยสารทั่วไป
บางคนก็เอารูปพระอาจารย์องค์อื่นที่มีรูปร่างคล้ายภาพถ่ายของท่านมาสมมุติเป็นรูปของท่านก็มี
ตัวอย่างเช่นรูปพระอาจารย์องค์หนึ่งกำลังสอนศิษย์ ก็เอามาสมมุติว่าเป็นรูปสมเด็จกำลังสอนหนังสือพระปิยมหาราช
อันที่จริงไม่ใช่ เพราะเจ้าฟ้านั้นจะต้องสวมพระเกี้ยว (ปิ่นปักพระเกศ)
แต่รูปนั้นเป็นเด็กวัดธรรมดา ไม่ใช่รูปเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์
๘.พระพุทธรูป
ที่ท่านสร้างไว้ คือพระพุทธรูปปางมารวิชัย วัดพิตเพียน (วัดกุฎีทอง)
จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พระมหาพุทธพิมพ์ ในวิหารวัดเกศไชโย จังหวัดอ่างทอง
พระศรีอารยเมตไตรย วัดอินทรวิหาร กรุงเทพฯ
๙.รูปหล่อโยมบิดา
โยมมารดาของท่าน ในวัดอินทรวิหาร
๑๐.รูปลูกศิษย์ของท่านที่มีชื่อเสียง
คือสมเด็จพระพุฒาจารย์ (ม.จ.ทัด เสนีย์วงศ์) หรือที่รู้จักกันแพร่หลายในนามของพระพุทธบาทปิลันธน์
พระธรรมถาวร (ช่วง จันทโชติ) พระครูธรรมานุกูล (หลวงปู่ภู)
ท่านเหล่านี้พลอยมีชื่อเสียง มีรูปถ่าย แพร่หลาย
เพราะเป็นลูกศิษย์ของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)
๑๑.คำเทศนาของท่านเบ็ดเตล็ด
ที่มีผู้จดจำไว้ นำมาเล่ากันอยู่ในหนังสือที่มีผู้เขียนเล่ากันตามประสาชาวบ้าน
ผิดบ้าง ถูกบ้าง ขาดบ้าง เกินบ้าง เปลี่ยนสำนวนไปบ้าง
๑๒.คำเทศนาของท่านที่เป็นหลักฐาน
เช่นเทศนาเรื่องนักษัตรแทนเรื่องอริยสัจ ท่านกล่าวถึงเรื่องนักษัตรต่างๆ
ต่อดาวนักขัตฤกษ์ในท้องฟ้า ที่โหรแต่โบราณเอามาตั้งชื่อวัน ชื่อเดือน ชื่อปี
ชื่อฤกษ์ยาม แสดงว่าท่านมีความรู้อย่างดีในเรื่องนี้
อันที่จริงมีอยู่ในทิพยมนต์ที่ท่านสวด มีชื่อดาวนักขัตฤกษ์เหล่านี้อยู่
ซึ่งพระภิกษุสงฆ์ในสมัยปัจจุบัน ไม่สวดมนต์ทิพยมนต์นี้แล้ว จึงไม่รู้เรื่องนี้
๑๓.*เทศน์แหล่กลอนสวด
ที่แต่งเป็นกาพย์ยานี กาพย์ฉบัง กาพย์สุรางคนางค์ ที่ท่านเรียกว่ากลอนสวด
นิยมเทศน์กันในสมัยนั้น
เช่นแหล่ชูชกที่ท่านแต่งขึ้นไปเทศน์ในงานทำศพอนุภรรยาของสมเด็จเจ้าพระยาบรมหาศรีสุริยวงศ์
(ช่วง บุนนาค) ที่เรียกว่า “แหล่พระยาหายโศก” (ไม่ใช่เพลงพระยาโศกตามสมัยก่อน)
แหล่นี้สมเด็จพระยาฯ หัวร่อจนลืมคิดถึงเมียน้อยคนงาม
น่าเสียดายที่แหล่กลอนสวดอย่างนี้ไม่มีหลักฐานปรากฏไว้
แต่แสดงว่าพระสงฆ์ในสมัยนั้นท่านไปสวดอภิธรรมในงานศพนั้น
ท่านเทศน์แหล่กลอนสวดเป็นทำนองอันเสนาะเพราะพริ้ง
ตัวอย่างเช่นกลอนสวดเรื่องพระมาลัย ที่สมเด็จพระสังฆราชมี ท่านแต่งขึ้นในสมัยรัชกาลที่
๒ แล้วสังให้หัววัดสวดแหล่พระมาลัยต่อมา หรือกลอนสวดเรื่องสังข์ศิลปะชัย
ที่พระนั่งเกล้าแต่งจากชาดก หรือกลอนสวดเรื่องพระสุธนมโนราห์ ที่พระนั่งเกล้าฯ
ทรงนิพนธ์ขึ้น กลอนสวดหรือกาพย์เหล่านี้ ยังมีหลักฐานปรากฏอยู่จนทุกวันนี้
พึ่งมาเสื่อมความนิยมลงไปในสมัยรัชกาลที่ ๔ เนื่องด้วยไม่ต้องพระราชนิยม
การที่พระสวดทำนองเสนาะเหมือนพระร้องเพลงนั้น ท่านว่าเสียสมณสารูป
แต่สมเด็จท่านสวดจนพระยาลืมโศกมาแล้ว