วันพฤหัสบดีที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

อุตตริมนุสสธรรม ของ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ตอน ขอลาออกจากราชการ



ขอลาออกจากราชการ
ในสมัยก่อนพระมหากษัตริย์ท่านนับถือว่าพระอธิการ เจ้าคณะนั้นรับราชการฝ่ายธรรมจักร ช่วยปกครองพระราชอาณาจักรของฝ่ายอำมาตย์มนตรี ท่านจึงแต่งตั้งสมณศักดิ์ มีตราตั้ง มีพัดยศ มีเงินนิตยภัต มีพระฐานะนุกรม ช่วยปฏิบัติงานทางฝ่ายคณะสงฆ์ ฝ่ายอาณาจักรและฝ่ายธรรมจักร คือข้าราชการสองฝ่ายช่วยกันปกครองบ้านเมืองอาณษประชาราษฎรให้อยู่เย็นเป็นสุข พระสงฆ์เป็นฝ่ายสั่งสอนศีลธรรมจรรยาให้ราษฎรมีคุณธรรม รู้บาปบุญคุณโทษ ถ้าไม่เชื่อฟังจึงเป็นหน้าที่ของฝ่ายบ้านเมืองจัดการลงโทษตามกระบิลเมือง นอกจากตั้งให้ฝ่ายสงฆ์มีตำแหน่งปกครองกันเองตามลำดับจนถึงสมเด็จพระสังฆราชแล้ว ท่านยังมีกรมธรรมการ จัดการศึกษาพระธรรมวินัยให้แก่พระสงฆ์ มีกรมสังฆการี เป็นตำรวจพระ จับพระที่ทำผิดวินัย ผิดกฎหมายบ้านเมืองไปลงโทษ ขังคุก จับสึก และรุนแรงถึงขนาดสักหน้าหรือประหารชีวิตเสียด้วย พระมหากษัตริย์มีอำนาจสูงสุด ปกครองทั้งฝ่ายอาณาจักร และธรรมจักรด้วย ในเรื่องเกี่ยวกับพระสงฆ์แล้วท่านมอบให้สังฆการีจัดการ  ในสมัยรัชกาลที่ ๓ นั้น ทรงตั้งให้กรมหลวงรักษ์รณเรศ (พระองค์เจ้าไกรสร) เป็นเจ้ากรมสังฆการี เมื่อมีอธิกรณ์เกิดขึ้นแก่พระผู้ใหญ่ถึงขั้นปาราชิก จึงตกเป็นหน้าที่ของขุนพิเรนทรเทพ เจ้ากรมตำรวจสนม ไปจับมาสอบสวน กรมหลวงรักษ์รณเรศ เจ้ากรมสังฆการี จึงจับพระมาสึก แล้วกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (พระนั่งเกล้าฯ) เป็นลูกขุนพิจารณาโทษ เมื่อพิจารณารับเป็นสัตย์แล้ว จึงสั่งให้พระผู้ใหญ่สึกเสีย จับไปขังไว้ในตาราง
คราวนั้นเอง กรมหมื่นศรีสุเรนทร์ (พระองค์เจ้าชายคันธรส) ซึ่งเป็นศิษย์พระผู้ใหญ่องค์นั้น จึงแต่งโคลงเป็นบัตรสนเท่ห์ว่า
“ไกรสรพระเสด็จได้       สึกชี
กรมเจษฎาบดี              เร่งไม้
พิเรนทร์แม่นอเวจี          ไป่คลาด
อาจพลิกแผ่นดินได้       แม่นแม้นเมืองมารฯ”
(พระองค์เจ้าไกรสร ตำแหน่งพระเสด็จสุเรนทราธิบดี เจ้ากรมสังฆการี สั่งสึกพระ
กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ลูกขุนสั่งให้เฆี่ยนหลัง
ขุนพิเรนทรเทพ เจ้ากรมตำรวจ จับพระไปขังตาราง
ทั้งสามคนนี้จะต้องตกนรกอเวจีไม่คลาดแน่นอน)
จึงสั่งให้สอบสวนหาคนแต่งโคลงนี้ ในที่สุดได้ร่องรอยว่า กรมหมื่นศรีสุเรนทร์แต่ง จึงให้จับไปขังไว้จนสิ้นพระชนม์ในที่คุมขัง ที่จับได้เพราะใช้สำนวนโคลง ว่า “ไป่” แทนคำว่า “ไม่” ซึ่งพระผู้ใหญ่องค์นั้นท่านเป็นกวี ท่านชอบใช้คำนี้ ลูกศิษย์จึงใช้ตามอาจารย์ ความจึงแดงขึ้น

ที่นำเรื่องนี้มาเล่า เพื่อแสดงหลักฐานการปกครองคณะสงฆ์ในสมัยนั้น
สมเด็จพระพุฒาจารย์ ท่านทราบระเบียบดีว่า การปกครองสงฆ์ขึ้นตรงต่อกรมสังฆการี

ใน พ.ศ. ๒๔๑๓ สมเด็จท่านมีอายุมากถึง ๘๒ ปีแล้ว ท่านจึงมีลิขิตถึงกรมสังฆการีว่า “จะขอพระบรมราชานุญาตลาออกจากเจ้าอาวาส ขอเป็นแต่กิตติมศักดิ์ จึงทรงอนุญาต แล้วตั้งให้พระภิกษุหม่อมเจ้าทัด พระโอรสในกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข พระองค์เจ้าชายทองอินทร์ กรมพระอนุรักษ์เทเวศร์ เป็นพระราชาคณะมีราชทินนามว่า พระพุทธบาทปิลันธน์ (ม.จ.ทัด เสนีย์วงศ์) เป็นเจ้าอาวาสแทนต่อมา สมเด็จท่านจึงปลดเปลื้องภาระปกครองสงฆ์ และเลิกเทศน์ ท่องเที่ยวไปตามวัดต่างๆ ที่ท่านเคยสร้างพระพุทธรูปไว้ เช่นวัดเกศไชโย จังหวัดอ่างทอง วัดพิตเพียน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในที่สุดท่านก็มาสร้างพระศรีอารยเมตไตรยขึ้นที่วัดอินทรวิหาร เป็นพระพุทธรูปยืนอุ้มบาตร สูงถึง ๑๖ วา อันที่จริงไม่ใช่พระพุทธรูปแทนองค์พระพุทธเจ้า แต่เป็นรูปพระศรีอารยเมตไตรย (คือเจ้าชายอชิต ราชบุตรพระเจ้าอชาตศัตรูกับพระนางกัญจนา ที่มาบวชในสมัยพระพุทธกาล แล้วพระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์ว่าจะได้ตรัสรู้เป็นพระศรีอารยเมตไตรยในอนาคตกาลอีกแสนไกล) สมเด็จท่านบำเพ็ญบารมีพระโพธิสัตว์ ท่านจึงเลื่อมใสศรัทธาพระศรีอารยเมตไตรย ท่านจึงสร้างพระรูปไว้สักการบูชา แต่ยังไม่ทันเสร็จ สร้างไว้ครึ่งองค์ ท่านก็มาดับขันธ์เสียเมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๑๕ ในสมัยรัชกาลที่ ๕

สรีกายมหาภูตรูปของท่านนอนเหยียดยาวอยู่บนศาลาใหญ่ในวัดอินทรวิหารนั้น ดูเหมือนท่านจะทราบว่าศพท่านจะมีคนมาเคารพกราบไหว้กันมาก ท่านจึงนอนเหยียดยาวอยู่บนศาลาการเปรียญนั้น พระเจ้าอยู่หัวซึ่งมีพระชนม์ยังเยาว์พระชันษาเป็นกษัตริย์หนุ่ม พระชันษา ๑๙ ปี ทรงเคารพเลื่อมใสอยู่ ทรงทราบว่าสมเด็จพระพุฒาจารย์ เป็นพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ เป็นพระสงฆ์ที่พระบรมชนกนาถยกเป็นบาปมุติ เป็นคู่บารมีมาตลอดรัชกาล จึงทรงเครื่องภูษาสีขาวเสด็จไปสรงน้ำศพ แล้วพระราชทานโกศเหลี่ยมไม้สิบสอง เป็นเกียรติยศประกอบด้วยเครื่องอภิรมชุมสาย ตามเกียรติยศของสมเด็จพระราชาคณะ แล้วโปรดเกล้าฯ ให้แห่ศพมาทางชลมารค ประกอบด้วยเรือตั้งเรือเขน เรือทรงพระธรรมนำหน้า เรือทรงศพและเรือขนานจำนวนมาก แห่มาทางน้ำตามลำน้ำเจ้าพระยา จากท่าน้ำบางขุนพรหม มาจนถึงวัดระฆังโฆสิตาราม พระอารามหลวงชั้นเอก ตั้งศพที่วัดระฆังโฆสิตาราม ให้ประชาชนไปเคารพกราบไว้ศพ มีประชาชนชาวไทย ชาวลาว ชาวมอญ ชาวเขมร มาเคารพศพกันมากมาย มีการสวดพระอภิธรรม ๗ วัน ๑๕ วัน ๑๐๐ วัน ตามลำดับ จึงพระราชทานเพลิงศพ เพราะมีคนมาเคารพกันไม่ขาดสาย  เมื่อวันพระราชทานเพลิงศพนั้น สมเด็จพระจุลจอมเกลาเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำนเนไปพระราชทานเพลิงในฐานะพระอาจารย์ พระครูปลัดสัมพิพัฒน์ หรือต่อมาคือพระครูธรรมถาวร พระฐานานุกรมของสมเด็จเป็นผู้แจกพระสมเด็จวัดระฆังแก่ทุกคนที่มาประชุมเพลิงศพ เป็นการแจกฟรีแก่ทุกคน เล่าว่าแจกไปในครั้งนั้นประมาณ ๑๕ กระถางหรือโอ่งมังกร เป็นการแจกพระสมเด็จคราวใหญ่ที่สุด นับแต่ท่านสร้างพระสมเด็จมา ดูเหมือนว่าท่านเตรียมไวในงานศพของท่าน เพราะท่านใส่ตุ่มมังกรตั้งไว้ในพระอุโบสถมาก ท่านสั่งให้โยงสายสิญจน์ไปยังโอ่งมังกรนั้น ในเวลาพระสงฆ์ลงอุโบสถ ท่านก็ให้สวดเจริญพระพุทธมนต์ หรือทำพิธีพุทธาภิเษกมาตลอด เหมือนว่าจะประกาศว่าพระสมเด็จของท่าน ได้เข้าพิธีพุทธาภิเษกแล้วหลายครั้งหลายหน เพราะในการสวดมนต์ของพระในสมัยนั้นโดยเฉพาะที่วัดระฆัง จะต้องสวดธชัคคสูตร รัตนสูตร อาฏานาฏิยสูตร ทิพมนต์ ไชยมงคล ด้วยพระสงฆ์ในสมัยนั้นสวดมนต์ยืดยาว หลายพระสูตร พระรุ่นนี้จึงมิได้บรรจุกรุในเจดีย์ ไม่เหมือนที่วัดเกศไชโย วัดอินทรวิหาร ที่สร้างแล้วบรรจุพระเจดีย์ไว้ พึ่งมาขุดพบภายหลัง จึงมีขี้ดินขี้กรุมาก บางองค์จับเกรอกรังจนมองไม่เห็นเนื้อพระ

พระพิมพ์แบบสมเด็จวัดระฆังนี้ เมื่อพ.ศ.๒๔๑๑ รัชกาลที่ ๕ ครองราชสมบัติจึงมีการสร้างพระสมเด็จเป็นพิธีหลวงครั้งสำคัญ  มีการสร้างอีกครั้งหนึ่ง  โดยใช้แบบพิมพ์วัดระฆังทังหมด  ๑๘ แบบมาสร้างใหม่  โดยให้เจ้าพระยาภาณุพงศ์ มหาโกศาธิบดีเป็นประธานฝ่ายฆราวาส  สมเด็จพระพุฒาจารย์(โต)  เป็นประธานฝ่ายสงฆ์  มีพระพุทธบาทปิลันธน์ (ม.จ. ทัต เสนีย์วงศ์)  ซึ่งต่อมาเป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดพระเชตุพน ฯ และพระเกจิอาจารย์อื่นอีก รวม ๑๐๘ รูป เป็นผู้สวดพุทธาภิเษก  เรียกสมเด็จรุ่นนี้ว่า  สมเด็จฉัพพรรณรังสี เพราะผสมสีด้วยกันถึง  ๖ สี เท่ากับรัศมีของพระผู้มีพระภาคเจ้า  แต่พระรุ่นนี้เผยแพร่อยู่ในวงการเจ้านายขุนนางชั้นสูงเท่านั้น  นอกจากนั้น สมเด็จพระพุฒาจารย์(ม.จ.ทัต เสนีย์วงศ์)  ท่านยังไ้ด้สร้างพระสมเด็จทองนพคุณขึ้นถวายอาจารย์ของท่านคือ สมเด็จพระพุฒาจารย์(โต)  สร้างด้วยทองคำเนื้อเก้าที่เรียกว่า ทองนพคุณ  จากเมืองกำเนิดนพคุณ ที่ตำบลบางสะพาน  เมืองประจวบคีรีขันธ์  อีกจำนวนหนึ่ง  พระสมเด็จทองคำนพคุณนี้ไม่ค่อยแพร่หลายเป็นที่รู้จัก  แต่เป็นของดีมีค่ามาก   เท่าเทียมพระสมเด็จวัดระฆัง รุ่นที่แจกในงานศพของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)   ในปี พ.ศ. ๒๔๒๕ นั้น 

     พระสมเด็จที่สร้างไว้เป็นหลักฐาน  มีอยู่  ๕ รุ่น คือ 

    ๑. พระสมเด็จวัดระฆัง  ที่แจกในงานศฑสมเด็จปี พ.ศ.ฦ ๒๔๑๕ เรียก สมเด็จวัดระฆัง

     ๒. พระสมเด็จวัดพระแก้ว  สร้างปีพ.ศ. ๒๔๑๑ ในพระอุโบสถวัดพระแก้ว ในงานฉลองรัชกาลที่ ๕ เสวยราชย์

     ๓. พระสมเด็จเนื้อทองนพคุณ  ที่สมเด็จพระพุฒาจารย์( ม.จ.ทัต เสนีย์วงศ์)  สร้างถวายอาจารย์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๑๑ 

     ๔. พระสมเด็จวัดอินทรวิหาร สร้างคราวที่สร้างพระศรีอารยเมตไตรย  บรรจุเจดีย์ 

     ๕. สมเด็จวัดเกศไชโย  สร้างคราวสร้างพระพุทธไสยาสน์ ที่ัวัดเกศไชโย  ซึ่งเจ้าพระยานิกรบดี (โต กัลยาณมิตร )  ไปช่วยสร้าง ในสมัยรัชกาลที่ ๔

(โปรดติดตามตอนต่อไป)  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น