วันพฤหัสบดีที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2559

อุตตริมนุสสธรรมของสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) ตอน หลักฐานวันดับขันธ์ของสมเด็จ


หลักฐานวันดับขันธ์ของสมเด็จ
ในหนังสือประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ที่พระครูกัลยานุกูล เจ้าอาวาสวัดกัลยาณมิตรได้รวบรวมไว้ บอกว่าสมเด็จดับขันธ์เมื่อวันเสาร์ แรม ๒ ค่ำ เดือนแปดต้น ปีวอก จ.ศ. ๑๒๓๔ เวลา ๒ ยาม (๑๔.๐๐ น.) ตรงกับวันที่ ๒๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๑๕ คำนวณอายุได้ ๘๕ ปี พรรษา ๖๕

วันดับขันธ์ที่ท่านผูกดวงชะตาไว้ด้วยมีรูปดังนี้  



พระราชทานเพลิงศพที่วัดอรุณราชวราราม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชทานเพลิง พอเสด็จถึงท่าราชวรดิษฐ์ ฝนตกหนัก จึงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระยาบำราบปรปักษ์ (สมัยดำรงยศเป็นกรมขุน) เสด็จแทนพระองค์

วันพฤหัสบดีที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2559

อุตตริมนุสสธรรมของ สมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) ตอน สร้างพระศรีอารยเมตไตรย


สร้างพระศรีอารยเมตไตรย


           สมเด็จฯ นับถือลัทธิพระโพธิสัตว์  คือการบำเพ็ญบารมี ๑๐ ทัศเพื่อบรรลุพระโพธิญาณในอนาคต  วันหนึ่งมีเด็กวัดเข้านวดเฟ้นสมเด็จฯ จับแขนนวด พบว่าแขนสมเด็จฯ มีกระดูกท่อนเดียว  ผิดกับกระดูกแขนของตน  จึงนวดขยำอยู่นาน  สมเด็จฯ ถามว่า"เอ็งเคยพบคนกระดูกแขนท่อนเดียวมั่งไหม"   เด็กตอบว่าไม่เคยเห็น สมเด็จตอบว่าถ้าพบก็รู้เถิดว่านั่นคือพระโพธิสัตว์เกิดมาบำเพ็ญบารมี  บางคนเล่าว่าคนนวดคือรพะผู้ใหญ่องค์หนึ่ง  จึงนำมาบอกเล่าคนอื่นๆต่อไป






พระศรีอารยเมตไตรย 

          สมเด็จฯ สร้างพระศรีอารยเมตไตรยไว้ที่วัดอินทรวิหาร  คือหลวงพ่อโตองค์ยืนสูงใหญ่ในวัดปัจจุบันนี้  เป็นพระยืนอุ้มบาตรโปรดสัตว์  เป็นรูปพระปฎิมากรของพระศรีอารยเมตไตรยที่จะมาตรัสรู่้ต่อจากศาสนาพระสมณโคดม
(โปรดติดตามตอนต่อไป) 

อุตตริมนุสสธรรม ของสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) ตอนพระคาถาชินบัญชร สมเด็จพระพุฒาจารย์(โต)


พระคาถาชินบัญชร สมเด็จพระพุฒาจารย์(โต พรหมรังสี) 


นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต                        สัมมาสัมพุทธัสสะ (๓ จบ)

      ขะยาสะนากะตา           พุทธา                         เชตะวา  มารัง  สะวาหะนัง
จะตุสัจจาสะภัง                   ระสัง                           เย  ปิวิตุ  นะราสะภา
ตัณหังกะราทะโย               พุทธา                         อัฎฐะ  วิสะติ  นายะกา
สัพเพ  ปะติฎฐิโต               มัยหัง                         มัตถะเก  เต มุนิสสะรา
สีเส  ปะติฎฐิโต                  มัยหัง                         อุเร   สัพพะคุณากะโร
หะทะเย  เม  อนุรุทโธ    จะ                                  สารีปุตโต  จะ  ทักขิเณ
โกณฑัญโญ  ปิฎฐิภาคัสมิง                                 โมคคัลลาโน  จะ  วามะเก
ทักขิฌร  สะวะเน  มัยหัง                                      อาสุง  อานันทะราหุุโล
กัสสะโป  จะ  มะหานาโม                                     อุภาสุง  อานันทะราหุโล
กัสสะโป  จะ  มะหานาโม                                     อุภาสุง  วามะโสตะเก
เกสันเต  ปิฎฐิภาคัสมิง                                         สุริโยวะ  ปะภังกะโร
นิสินโน  สิริสัมปันโน                                            โสภิโต  มุนิปุงคะโว
โส  มัยหัง  วะทะเน  นิจจัง                                   ปะติฎฐาสิ  คุณากะโร
ปุณโณ  อังคุลิมาโล  จะ                                       อุปาลี  นันทสีวะลี
เถรา  ปัญจะ  อิเม ชาตา                                       นะลาเต  ติละกา  มะมะ
เสสาสีติ  มะหาเถรา                                             วิชิตา  ชินะสาวะกา
เอเตสีติ  มะหาเถรา                                             ชิตะวันโต  ชิโนระสา
ชะลันตา  สีละเตเชนะ                                          อังคะมังเคสุ  สัณฐิตา
ระตะนัง  ปุระโต  อาสิ                                           ทักขิเณ  เมตตะสุุตตะกัง
ธะชัคคัง  ปัจฉะโต  อาสิ                                       วาเม  อังคุลิมาละกัง
ขันธะโมระปะริตตัญจะ                                         อาฎานาฎิยะสุตตะกัง
อากาเส  ฉะทะนัง  อาสิ                                        เสสา  ปาการะสัณฐิตา
ชินา  นา  วาระสังยุตตา                                        สัตตัปปาการะลังกะตา
วาตะปิตตาทิสัญชาตา                                          พาหิรัชฌัตตุปัททะวา
อะเสสา  วินะยัง   ยันตุุ                                          อะนันตะชินะ  เตชะสา
วะสะโต  เม  สะกิจเจนะ                                        สะทา  สัมพุทธะ ปัญชะเร
ชินะปัญชะระมัชฌัมหิ                                           วิหะรันตัง  มะหิตะเล
สะทา  ปาเลนตุ  มัง  สัพเพ                                   เต  มะหาปุริสาสะภา
อัจเจวะ  มันโต                                                      สุคุตโต  สุรักโข
ชินานุภาเวนะ                                                        ชิตุปัททะโว
ธัมมานุภาเวนะ                                                      ชิตาริสังโฆ
สังฆานุภาเวนะ                                                      ชิตันตะราโย
สัทธัมมานุภาวะ  ปาลิโต                                       จะรามิ  ชินะปัญชะเรติ ฯ

     ชินบัญชรปริตรนี้  มีคำแปลอยู่ในหนังสือ "ปุจฉา  วิสัชนา ปริศนาพุทธธรรม"  ของเทพ สุนทรศารทูล                        
           (โปรดติดตามตอนต่อไป)                  

อุตตริมนุสสธรรม ของ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ตอน จุดไต้ไปที่ตำหนักสมเด็จเจ้าพระยา

จุดไต้ไปที่ตำหนักสมเด็จเจ้าพระยา
เมื่อพระจอมเกล้าฯ สวรรคตด้วยไข้มาลาเรีย หลังจากไปทอดพระเนตรสุริยุปราคาจับหมดดวงที่ตำบลหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ ๑๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๑๑ กลับมาถึงกรุงเทพฯ ได้ ๗ วัน ก็ประชวรหนัก พร้อมด้วยพระเจ้าลูกยาเธอ กรมขุนพินิตประชานารถ (คือพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ) ประชวรได้ประมาณเดือนกว่า ก็เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๑๑
พระจอมเกล้าฯ ประสูติวันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีชวด สวรรคตวันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีมะโรง คือประสูติ และสวรรคตในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ตรงกันตามที่ทรงอธิษฐานไว้ (เช่นเดียวกับพระพุทธเจ้า ประสูติและปรินิพพานในวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๖ ตรงกันหมดทั้งวันตรัสรู้ นับว่าเป็นมหาบุรุษ)
ในสมัยนั้นพวกตระกูล บุนนาค กำลังมีอิทธิพลมากมาแต่สมัยรัชกาลที่ ๓ แล้ว พอรัชกาลที่ ๓ สวรรคต พวกตระกูลบุนนาค ก็อัญเชิญพระวชิรญาณภิกขุ คอืพระจอมเกล้าฯ เสวยราชสมบัติ พระจอมเกล้าฯ ยังไม่มีกำลังมากนัก นอกจากกำลังทางพระ แต่อาศัยพระปรีชาสามารถอันสุขุมอย่างวิเศษ จึงสามารถรักษาราชบัลลังก์ไว้ได้ โดยตั้งให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ตั้งให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัศ บุนนาค) เป็นผู้สำเร็จราชการพระนคร ตั้งให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นเจ้าพระยากลาโหม ในสมัยนั้นไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินเลื่องลือกันว่าจักเกิดการผลัดแผ่นดินเป็นวงศ์บุนนาค แต่ไม่มีใครจะเข้ามาแก้ไขเหตุการณ์นี้ได้ ล้วนแต่กลัวตายกันทั้งนั้น สมเด็จพระพุฒาจารย์ท่านก็ร้อนใจกลัวบ้านเมืองจะรบราฆ่าฟันกันด้วยเหตุแย่งราชสมบัติ ท่านจึงลงเรือมาที่ตำหนักสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) พร้อมทั้งจุดไต้ถือมาด้วย
เมื่อได้ขึ้นบนตำหนักของผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแล้ว พบหน้าท่านเจ้าคุณใหญ่เจ้าของตำหนัก ท่านก็กล่าว่า
“เขาลือกันว่าบ้านเมืองมืดมนนัก จึงมาถามข่าวท่านเจ้าคุณ ว่าจะเท็จจริงประการใด...”
“บ้านเมืองไม่มืดมนดอก ตราบใดที่กระผมยังอยู่ รับรองว่าบ้านเมืองไม่มีมืดมน...”
“เมื่อเจ้าคุณรับรองเช่นนี้แล้ว อาตมาก็สบายใจ จึงขอลากลับวัด...”
ว่าแล้วท่านก็ดับไต้ ลงจากตำหนักผู้สำเร็จราชการแผ่นดินไป
ที่ท่านกล้าทำอย่างนี้ เพราะไม่มีใครจะดับไฟนี้ได้เลย ท่านจุดไต้ไปตำหนักของสมเด็จพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เพื่อจะเตือนใจท่านผู้มีอำนาจว่าเทวทูตมาเตือนท่าน ปากพระปากเจ้าอย่างท่านศักดิ์สิทธิ์ อาจจะทำให้เกิดวิบัติแก่ผู้คิดร้ายต่อบ้านเมือง ถ้าหากท่านมีโมหจริตคิดการใหญ่ ก็ขอให้ยุติเสีย หรือหากท่านรับรองกับพระไว้แล้วไม่รักษาสัจวาจา ท่านก็จะมีอันตราย อีกประการหนึ่ง ถ้าหากว่าสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ไม่ได้คิดขบถจริงตามข่าวลือ ก็จะเป็นการดับข่าวลือเสีย ทำให้เจ้านายขุนนางสบายใจ นี่คือการช่วยชาติศาสนาของท่านตามแบบแผนของพระโพธิสัตว์สร้างบารมี
(โปรดติดตามตอนต่อไป)

วันพฤหัสบดีที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2559

อุตตริมนุสธรรม ของ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ตอน มนต์คาถาในพระพุทธศาสนา

มนต์คาถาในพระพุทธศาสนา
พระภิกษุในสมัยโบราณ นับแต่กรุงสุโขทัยถึงสมัยรัชกาลที่ ๓ ท่านมักบวชกันหลายพรรษา จึงมีคำกล่าวในวงพระภิกษุว่า พรรษาหนึ่งกำลังผ่อง พรรษาสองกำลังงาม พรรษาสามกำลังดี พรรษาสี่กำลังกล้า พรรษาห้ากำลังแก่... แม้บิดาของข้าพเจ้าก็บวชนานถึงสามพรรษา ตามอย่างพระโบราณ พระที่บวชนานหลายพรรษาเช่นนี้ ต้องบวชเพื่อเรียน ๔ อย่าง
๑.เรียนสมถวิปัสสนา เรียกว่าเรียนปฏิบัติ
๒.เรียนสวดมนต์ภาวนา เรียกว่าท่องบ่น
๓.เรียนพระปริยัติธรรม เรียกว่าเรียนบาลี
๔.เรียนแสดงธรรมเทศนา เรียกว่าเรียนเทศน์ คือเทศน์แหล่ทำนองเสนาะ
๕.เรียนเทศน์แหล่ สวดเป็นทำนองเสนาะ
พระบวชแล้วต้องเรียน จะเลือกเรียนอย่างไหนก็เลือกเรียนเอาตามถนัดหรือตามนิสัย ตามฉันทะความพอใจของตน หรือเรียกว่าตามแต่วาสนาบารมีของตน จะบวชนั่งนอนฉันเท่านั้นไม่ได้ จะต้องตายไปเกิดเป็นวัวควายทำนาใช้หนี้ข้าวสุกของชาวบ้านที่บิณฑบาตเลี้ยงชีพ
กล่าวโดยเฉพาะ การเรียนสวดมนต์ภาวนานั้น ต้องท่องบ่นสาธยายพระสูตร มนต์ คาถาให้ได้ มนต์คาถาที่ท่านได้ท่องบ่นภาวนาในสมัยโบราณมีมาก กล่าวคือ
๑.   ธชัคคสูตร
๒.   อิสิปตนะสูตร
๓.   มหาสมัยสูตร
๔.  ปรินิพพานสูตร
๕.  รัตนะสูตร
๖.   ปาฏิโมกขสูตร
๗.  มงคลสูตร
๘.  อาการะวัตตสูตร
๙.  ทิพยมนต์
๑๐.          ไชยมงคล
๑๑.         มหาไชยมงคล
๑๒.         อุณหิสวิชชัย
๑๓.         โพชฌงคสูตร
๑๔.        มนต์สาวัง
๑๕.        มนต์มหาสาวัง
๑๖.          รัตนะมาลา
๑๗.        ธารณปริตร
๑๘.        ยอดพระกัณฑ์ไตรปิฎก
๑๙.        ชินบัญชรปริตร
มนต์คาถาดังกล่าวนามมานี้ พระในสมัยโบราณสวดได้หมด เพราะท่านมีเวลาท่องบ่นสาธยายมนต์ โดยเฉพาะสมเด็จท่านเรียนปริยัติธรรมด้วย ท่านจึงรู้ความหมายของมนต์บทนั้นว่ามีความหมายว่าอย่างไร ท่านจึงมีความแตกฉานในธรรมะมาก ในเวลาเดียวกันท่านก็เป็นพระเกจิอาจารย์ (แปลว่าอาจารย์ชั้นยอดเยี่ยม) ด้วย
แต่พอตกถึงสมัยรัชกาลที่ ๔ ท่านตั้งคณะธรรมยุติกนิกายขึ้น ในนิกายนี้ไม่นิยมการสวดมนต์ที่ไม่รู้ความหมาย ท่านส่งเสริมแต่ทางปริยัติธรรม ท่านไม่เชื่อเรื่องอิทธิฤทธ์ปาฏิหาริย์ อันเกิดจากฌานสมาบัติ การสวดมนต์แบบโบราณจึงพล่อยร่วงโรยไป พระสมัยต่อมาไม่นิยมสวดมนต์ตามแบบโบราณเสียแล้ว มนต์คาถาในพุทธศาสนาจึงแทบว่าจะสาบสูญไป

อานิสงส์ของการสวดมนต์ มีมากมายสุดที่จะพร่ำพรรณนานา ผู้มีศรัทธาสวดมนต์ย่อมทราบได้ด้วยตนเองเป็นปัจจัตตัง

สมเด็จพระพุฒาจารย์โต ท่านสวดมนต์ได้หมดทั้ง ๑๙ มนต์ถาถาที่ออกนามแล้วนั้น โบราณท่านถือว่าเป็นบุญวาสนาที่สั่งสมมาแต่ปางก่อน คือพระภิกษุบางองค์ท่านสวดปาฏิโมกข์ไดในพรรษาแรกที่บวช ท่องมนต์อะไรก็ท่องได้เร็ว จำได้แม่นยำ สมเด็จท่านมีชื่อว่าช้างเผือก เมื่อคราวที่พระอรัญญิก (ด้วง) พาท่านไปฝากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ วัดระฆัง ตกกลางคืนท่านยังฝันว่ามีช้างเผือกมากัดกินพระไตรปิฎกในตู้ของท่านหมด ท่านจึงว่าวันรุ่งขึ้นจะต้องมีคนดีมีปัญญากล้ามาเป็นศิษย์แน่ วันรุ่งขึ้นเจ้าคุณอรัญญิก (ด้วง) ก็นำสมเด็จมาฝากเป็นศิษย์เรียนปริยัติธรรม ท่านว่าเขาแปลพระบาลี เปิดหนังสือพระไตรปิฎก แล้วแปลให้อาจารย์ฟัง จนอาจารย์พูดว่า เขามาแปลพระบาลีให้ฉันฟัง เขามิได้มาเรียนพระบาลีกับฉันดอก นี่คือความแตกฉานของท่าน ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า แตกฉานมี ๔ ประการ
๑. อัตถปฎิสัมภิทา
๒. ธรรมปฎฺิสัมภิทา
๓. นิรุกติปฎิสัมภิทา
๔. ปฎิภาณปฎิสัมภิทา

โบราณเรียกว่า  มุตโตแตก คือแตกฉานได้เอง จากปัญญาบารมีที่่สั่งสมมาแต่ปางก่อน  

วันพฤหัสบดีที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2559

อุตตริมนุสธรรม ของ สมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) ตอนเทศน์โปรดเจ้าพระยาให้หายโศก

เทศน์โปรดเจ้าพระยาให้หายโศก

ควรทราบกันไว้ด้วยว่าการเทศน์ของสมเด็จในสมัยโน้น มี ๓ อย่าง คือ
๑.เทศน์ทำนองอ่านหนังสือธรรมะตามใบลาน ซึ่งเราได้เคยฟังต่อมา เป็นการเทศน์แบบอ่านหนังสืออย่างคนโบราณอ่าน
๒.เทศน์ธรรมาสน์คู่ คือเทศนืแบบปุจฉา วิสัชนา มีการถามของพระฝ่าย “ปรวาที” แล้วตอบของพระฝ่าย “สักวาที” สมมุติให้องค์แรกเป็นพระปุจฉาคือถามปัญหา เรียกว่าพระปรวาที แล้วมีพระสักวาที กล่าวตอบแบบที่มีพวกพราหมณ์ไปปุจฉาธรรมะกับพระพุทธเจ้า แล้วพระพุทธเจ้าทรงตอบปัญหา เรียกว่ากล่าววิสัชนา
๓.เทศน์แหล่ทำนองเสนาะ มักเทศน์ในเรื่องชาดก เช่นมหาเวสสันดรชาดก สมเด็จท่านเทศน์แหล่ได้ไพเราะเพราะพริ้งมีสำนวนโวหารคมคายไม่เหมือนใคร
คราวหนึ่งสมเด็จพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ท่านมีความเศร้าโศกมาก ด้วยเหตุอนุภรรยาของท่านเสียชีวิตลง ท่านจึงให้นิมนต์สมเด็จพระพุฒาจารย์โตมาเทศน์แหล่ให้ท่านฟัง เพื่อดับโศก ในการเทศน์แหล่คราวนี้จึงเรียกกันว่า เทศนาดับโศก สมเด็จจึงต้องหาวิธีดับโศกด้วยการเทศน์ที่ตลกคะนอง ท่านจึงเทศน์เรื่องมหาเวสสันดรชาดก ตอนกัณฑ์ชูชก ซึ่งสมัยนั้นเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ท่านแต่งไว้อย่างดี มีคนนิยมมาก แต่สมเด็จท่านแปลงสำนวนเสียใหม่ตามแบบของท่าน เริ่มด้วย ขอทานชูชกร้องเพลงขอทานตามแบบเพลงขอทานในสมัยนั้น ตอนที่สองพานาง เป็นแหล่ชูชกพานางอมิตดามาเป็นภรรยา เรียกว่าตาแก่พานางเข้าห้อง ตอนสามชูชกลานางไปป่า ขอสองกุมาร สมเด็จท่านเทศน์แหล่ด้วยสำนวนอันขบขัน จนคนฟังหัวเราะกันท้องคัดท้องแข็ง ว่าบางคนถึงแก่เยี่ยวแตก สมเด็จเจ้าพระยาก็หายโศก ขำขันเสียจนหัวร่อลั่นบ้าน นี่คือตัวอย่างของการเทศน์ของสมเด็จที่เลื่องลืในสมัยนั้น ไม่ใช่เทศน์กันอย่างสุภาพราบเรียบอย่างสมัยหลัง ที่พระจอมเกล้าฯ ทรงกำหนดขึ้นในสมัยตั้งธรรมยุติกนิกาย  คาๆ อย่าเข้าใจผิดว่าการเทศน์ของสมเด็จที่เลื่องลือนั้นคือการเทศน์ที่เทศน์ด้วยสำนวนธรรมดาอย่างในสมัยนี้
โปรดติดตามตอนต่อไป)

วันพฤหัสบดีที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2559

อุตตริมนุสสธรรม ของ สมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) ตอน แสดงพระธรรมเทศนาโปรดพระเจ้าแผ่นดินเขมร

แสดงพระธรรมเทศนาโปรดพระเจ้าแผ่นดินเขมร

ในสมัยรัชกาลที่ ๔ นั้น พระจอมเกล้าฯ ทรงสถาปนานักองค์ด้วง เชื้อสายเจ้าเขมรที่มาอยู่เมืองไทยแล้วทรงอุปสมบทให้ แล้วส่งไปเป็นพระเจ้าแผ่นดินเขมร เฉลิมพระนามาภิไธยว่า สมเด็จพระนารายณ์หริรักษ์ ต่อมาพระจอมเกล้าฯ ยังจัดส่งสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ไปแสดงพระธรรมเทศนาโปรดพระนารายณ์ฯ ที่กรุงกัมพูชา
เล่าไว้ว่าสมเด็จไปเมืองกัมพูชาด้วยเรือสยามูปถัมภ์ พร้อมด้วยพระฐานานุกรมไปยังเมืองจันทบุรี แล้วขี่เกวียนไปยังเมืองตราด ไปยังเมืองพระตะบอง (ซึ่งเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (แบน อภัยวงศ์) เป็นเจ้าเมือง) ไปถึงกรุงกัมพูชา ในการเทศนาครั้งนั้น นักองค์จันทร์ พระราชมารดาพระเจ้ากรุงกัมพูชา ได้นำเอาราชบุตร ราชธิดามาติดกัณฑ์เทศน์ด้วย (เหมือนที่เจ้าพระยายมราช ถูกติดกัณฑ์เทศน์มาจากเมืองสุพรรณ) แต่สมเด็จคืนให้ไป ไม่รับมาด้วย ว่ารับมาแต่พระราชบุตร พระธิดาไม่ยอมรับ เล่าลือกันว่าระหว่างทางมีเสือมาเดินตามเกวียน ท่านจึงลงมานอนขวางทางเสือเสียคืนหนึ่ง ต่างคนต่างนอนเฝ้ากัน คือเสือนอนเฝ้าพระ พระนอนเฝ้าเสือ จนรุ่งเช้า ท่านก็บอกเสือว่า “ฉันไปก่อนนะจ๊ะ เพราะมีราชกิจต้องไป” ต่างก็แยกทางกันไป เรื่องอย่างนี้เล่าได้ เพราะเป็นวิสัยของพระฝ่ายอรัญวาสี ท่านทำได้จริง



เรื่องเขาเล่าว่า
เรื่องต่อไปนี้เป็นเรื่องเขาเล่าว่า เป็นเรื่องลับของคนวงใน หรือของคนระดับเจ้านายขุนนางเล่ากันต่อมา เท็จจริงอย่างไร ไม่มีหลักฐานยืนยัน
เรื่องที่ ๑ เล่าว่าเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๐ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะแสดงความโปรดปรานพระเจ้าแผ่นดินเขมรเป็นพิเศษ จึงได้จัดส่งสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ให้ลงเรือกัญญาหลังคาแดง ไปเทศน์โปรดสมเด็จพระหริรักษ์รามาธิบดี ครั้งยังอยู่ในปกครองของไทย สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) จึงได้ไปเทศน์ให้พระเจ้าแผ่นดินเขมรฟัง พร้อมกับนำพระสมเด็จฉัพพรรณรังสีไปแจกแก่เจ้านายขุนนางเขมรด้วย เมื่อกลับมาจึงเข้าเฝ้าทูลราชกิจให้พระจอมเกล้าฯ ทรงทราบ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ได้กราบทูลความลับสุดยอดให้ทรงทราบว่า
“จะเข้าไปเมืองเขมรอย่างมีเกียรติยศเป็นครั้งสุดท้าย และต่อไปไทยจะเสียแผ่นดินเขมรทั้งประเทศ”
พระจอมเกล้าฯ ทรงถามว่า เพราะเหตุอะไร
สมเด็จพระพุฒาจารย์ ทูลว่า เป็นบุพกรรม
พระจอมเกล้าฯ ซักถามต่อไปว่า บุพกรรมอย่างไร
สมเด็จพระพุฒาจารย์ ทูลว่า
“แผ่นดินพระมหาธรรมราชาลือไทย เสียแผ่นดินแก่กรุงศรีอยุธยา แผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์เสียแผ่นดินเมืองทะวายให้แก่พม่า แผ่นดินนี้ก็จะเสียแผ่นดินเขมรให้ฝรั่งเศส”
“มันเกี่ยวกับบุพกรรมของใครเล่า”
“พระมหาธรรมราชาลือไทยกลับชาติมาเกิดเป็นสมเด็จพระนารายณ์ สมเด็จพระนารายณ์กลับชาติมาเกิดในแผ่นดินนี้”
คนที่ทราบระแคะระคายเรื่องนี้ จึงทบทวนว่า สมเด็จพระนารายณ์โปรดเมืองลพบุรี โปรดเล่นกล้องส่องดูดาว โปรดคบหาสมาคมกับพวกบาทหลวงฝรั่ง พระจอมเกล้าฯ ก็โปรดอย่างเดียวกัน จึงเชื่อกันว่าพระนารายณ์กลับชาติมาเกิดเป็นพระจอมเกล้าฯ

เรื่องที่ ๒
เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๑ สมเด็จพระจอมเกล้าฯ เสด็จไปทอดพระเนตรสุริยุปราคาจนหมดดวงที่ตำบลหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยเสด็จทางเรือลงเรือที่ท่าราชวรดิษฐ์ ในคราวนี้สมเด็จพระพุฒาจารย์โต ได้มารอเฝ้าอยู่ที่ท่าราชวรดิษฐ์ เมื่อพระจอมเกล้าฯ ทอดพระเนตรเห็นก็เสด็จเข้าไปหา สมเด็จพระพุฒาจารย์โตก็ยื่นย่ามถวาย ในย่ามใบนั้นบรรจุพระสมเด็จอยู่ ๖๕ องค์ แล้วทูลว่า “มหาบพิตรเอาไปแจกเขา” พระจอมเกล้าฯ จึงทรงนับจำนวนพระสมเด็จได้ ๖๕ องค์ จึงทรงถามว่า
“มีเท่านี้หรือ”
“หมดเท่านี้แหละ มหาบพิตร”
“ทำไมมีน้อยนัก”
“หมดเพียงเท่านี้แหละ มหาบพิตร”
สมเด็จพระจอมเกล้าเสด็จไปทอดพระเนตรสุริยปราคาจนหมดดวง เมื่อวันที่ ๑๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๑๑ ครั้งเสด็จกลับกรุงเทพฯ ก็ประชวรด้วยไข้ป่า ครั้นแล้วก็สวรรคตเมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๑๑ หลังจากทอดพระเนตรสุริยุปราคาได้เพียง ๑ เดือน ๑๓ วัน มีพระชนมายุได้ ๖๕ พรรษา
สมเด็จพระพุฒาจารย์โต พยากรณ์พระชนมายุของสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ด้วยพระเครื่องสมเด็จ ๖๕ องค์ ตรงเหมือนตาเห็น นี่คืออุตตริมนุสสธรรมของสมเด็จพระพุฒาจารย์โต


(โปรดติดตามตอนต่อไป)

วันพฤหัสบดีที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

อุตตริมนุสสธรรม ของ สมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) ตอน ชื่อวัน เดือน ปี มาจากไหน

ชื่อวัน เดือน ปี มาจากไหน
มีคนเป็นอันมาก มีความสงสัยว่า ชื่อ วัน เดือน ปี มาจากไหน ใครเป็นคนคิดตั้งไว้แต่แรกมาแต่ยุคใด สมัยใด จึงนับคล้ายคลึงกันทั้งโลก เช่นวันมี ๗ วัน เดือนมี ๑๒ เดือน ปีมี ๑๒ ปีดังนี้ แม้ว่าจะใช้ภาษาแตกต่างกัน เรื่องนี้สมเด็จท่านเทศนาให้ฟังอย่างละเอียด เมื่อคราวเทศน์เรื่อง ๑๒ นักษัตรที่ตำหนักสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ท่านเทศน์ไว้เป็นใจความว่า
“แท้ที่จริง การตั้งชื่อวัน เดือน ปี นักปราชญ์ผู้รู้วิชาโหราศาตร์แต่ต้นปฐมกาล ก่อนพุทธกาลนานเนกาเลมาแล้ว คือท่านเอาดวงดาวในห้วงเวหา มาตั้งชื่อ วัน เดือน ปี ที่เรียกว่านักษัตร (ภาษาสันสกฤต) ภาษาบาลีใช้ว่า นักขัต ที่ท่านใช้ว่านักขัตฤกษ์ หรือนักขัตมงคล หมายถึงดาวนักขัตฤกษ์บนท้องฟ้า

๑.วัน ท่านเอาดาวนพเคราะห์มาตั้งชื่อวัน เอามาเพียง ๗ วัน คือดาวอาทิตย์ ดาวจันทร์ ดาวอังคาร ดาวพุธ ดาวพฤหัสบดี ดาวศุกร์ ดาวเสาร์ เป็นชื่อวันทั้ง ๗ วัน เป็นหนึ่งสัปดาห์
๒.เดือน ท่านเอาดาวที่รวมกลุ่มกันในท้องฟ้านภากาศไกลออกไปกว่าดาวนพเคราะห์ มาตั้งชื่อตามรูปดาวที่รวมกลุ่มกันเป็นรูปต่างๆ คือ
- ดาวรูปแพะ เดือนเมษายน
- ดาวรูปโคผู้ เดือนพฤษภาคม
- ดาวรูปคนคู่ เดือนมิถุนายน
- ดาวรูปปูป่า เดือนกรกฎาคม
- ดาวรูปราชสีห์ เดือนสิงหาคม
- ดาวรูปสตรี เดือนกันยายน
- ดาวรูปตาชั่ง เดือนตุลาคม
- ดาวรูปแมงป่อง เดือนพฤศจิกายน
- ดาวรูปธนู เดือนธันวาคม
- ดาวรูปมังกร เดือนมกราคม
- ดาวรูปหม้อ เดือนกุมภาพันธ์
- ดาวรูปปลา เดือนมีนาคม

.ปี ท่านเอาดวงดาวในท้องฟ้าไกลออกไปอีก ที่จับกลุ่มกันอยู่เป็นรูปสัตว์มาตั้งชื่อปี คือ
- ดาวรูปหนู ปีชวด
- ดาวรูปวัวตัวผู้ ปีฉลู
- ดาวรูปเสือ ปีขาล
- ดาวรูปกระต่าย ปีเถาะ
- ดาวรูปนาค ปีมะโรง
- ดาวรูปงู ปีมะเส็ง
- ดาวรูปม้า ปีมะเมีย
- ดาวรูปแพะ ปีมะแม
- ดาวรูปลิง ปีวอก
- ดาวรูปไก่ ปีระกา
- ดาวรูปหมา ปีจอ
- ดาวรูปหมู ปีกุน
รวมดาว ๑๒ กลุ่ม ในท้องฟ้าที่ห่างไกลออกไป มองเห็นเป็นรูปสัตว์อะไร ท่านก็ตั้งชื่อตามรูปสัตว์นั้น แต่ภาษาเป็นภาษาเก่าโบราณมาก เป็นภาษาไทยเมื่อหลายพันปีมาแล้ว
๔.ดาวฤกษ์ คือเวลาตกฟากของคนที่เกิดมาแตกต่างกันไปด้วยอำนาจของดวงดาวในเวลาที่กรรมกำหนดมานั้น ท่านเอาดวงดาวในเวลาเกิดที่จับกลุ่มกัน มีดวงจันทร์ผ่านกลุ่มดาวฤกษ์นั้นไปในเวลาใด ท่านก็เอามาตั้งชื่อกลุ่มดาวนั้น บอกฤกษ์ยามในเวลาเกิด มี ๒๗ กลุ่ม เรียกชื่อตามภาษาบาลี ซึ่งเป็นภาษาโหร พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงเชี่ยวชาญในการคำนวณเวลาดาวฤกษ์อย่างละเอียดนี้ จนทรงทราบว่า พระจันทร์จะโคจรไปทับแสงพระอาทิตย์เวลาใด เห็นได้ในจุดใด จึงบอกเวลาว่า เวลา ๙ นาฬิกา จะเกิดสุริยุปราคา  (พระอาทิตย์มืด เพราะดวงจันทร์บัง) ในวันที่ ๑๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๑๑ ที่ตำบลหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นั่นคือการคำนวณฤกษ์พระจันทร์ผ่านดวงดาวในท้องฟ้าที่โหรเอามาบอกฤกษ์ยาม เป็นเรื่องละเอียดมาก คนธรรมดาไม่ได้เรียนไม่ทราบ
เรื่องนี้แสดงว่าสมเด็จท่านมีความรู้แตกฉานในคดีโลกคดีธรรม ท่านเทศน์ไว้ แต่ประชาชนชาวบ้านไม่ค่อยสนใจ หรือเกินปัญญาที่จะเรียนรู้ จึงเงียบงำไป ไม่ค่อยจดจำมาเล่ากันในเรื่องนี้เท่าไรนัก มักเล่ากันแต่เรื่องพื้นๆ ทั่วไป มิหนำซ้ำยังเรื่องตลกคะนองมาเล่ากัน จนมองว่าสมเด็จท่านเป็นพระแผลงๆ ไปเสีย เรื่องที่ดีไม่ค่อยเล่า เล่าแต่เรื่องตลกคะนอง เช่นเรื่องบอกใบ้ให้หวยนี่ชอบเล่ากันมาก
เรื่องที่ลึกซึ้งในทางวิชาการ หรือทางปรมัตถธรรม ไม่ค่อยมีคนเล่า หรือเล่าก็ไม่มีคนสนใจ เรื่องดีๆ จึงน่าจะสูญไปเสียมาก เพราะตลอดชีวิต ๘๕ ปี ที่ท่านเกิดมาบำเพ็ญบารมีในโลกนี้นั้น น่าจะมีเรื่องราวมากมาย
เล่าตามนิสัยคนเล่าคนเขียน
การเล่าเรื่องของสมเด็จนั้น มันสุดแล้วแต่คนเล่าจะมีทิฏฐิ (ความคิดเห็น) ศรัทธา (ความเชื่อถือ) ปัญญา (ความหยั่งรู้) อารมณ์ (ความรู้สึกรักชัง) นิสัย (ความเคยชิน) วิสัยทัศน์ (การมองโลกตามผลการศึกษาอบรมของคนนั้น) คงไม่เหมือนกัน การเขียนเรื่องของสมเด็จ คงแตกต่างกันด้วยจิตใจของคนเขียน)
๑.เขียนด้วยศรัทธาเลื่อมใส
๒.เขียนจากการศึกษาหาความรู้ แล้วร้อนวิชาอยากเขียนเรื่องที่ตนรู้
๓.เขียนเพื่ออวดรู้
๔.เขียนเพราะอยากดัง
๕.เขียนเพื่อขายหนังสือที่ตนเขียน
๖.เขียนเพื่อขายพระสมเด็จที่ตนมีอยู่
๗.เขียนเพื่อเผยแพร่ธรรมเป็นทาน
๘.เขียนเพื่อฝากชื่อเสียงไว้ในบรรณภพ
๙.เขียนเพราะอยากเขียน เป็นวาสนาตัดไม่ขาดของนักเขียน
คนที่เขียนเรื่องพระสมเด็จพระพุฒาจารย์ คงมีอยู่ ๙ ประการดังนี้
เรื่องสมเด็จพระพุฒาจารย์ จึงมีคนเขียนกันมาก ที่เคยอ่านคือของ “ตรียัมปวาย” นี่เขียนในแนวของคนเลื่อมใสพระสมเด็จ ของ “ฉันพิชัย” หรือคุณฉันทิชย์ กระแสร์สินธ์ นี่เขียนในเชิงประวัติ ของพระยาทิพโกศา (สอน โลหะนันท์) เขียนแบบเล่านิยาย พ.ต.ต.จำลอง มัลลิเกษตริน เขียในทางปาฏิหาริย์พระสมเด็จ น.ต.สันต์ ศุภศรี เขียนค้านดวงชะตาของกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์อาจจะไม่เคยพบดวงชะตา ปูมโหรโบราณ พระครูกัลยาณานุกูล เขียนแบบวิทยานิพนธ์ มีหลักฐานมั่นคงมากกว่าใคร
โดยเฉพาะของพระยาทิพโกศา ท่านเขียนจากรูปภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถวัดระฆังโฆสิตาราม และในอุโบสถวัดอินทรวิหาร หนังสือของท่านทำท่าว่าจะเป็นฉบับอ้างอิงได้ แต่แล้วก็เหลวไหล เพราะท่านอ้าง พ.ศ. ผิดมาก ตัวอย่างเช่น
ครั้นถึง ณ วันพุธ เดือน ๖ ปีวอก พ.ศ. ๒๓๑๙ นางงุด ปั่นป่วนครรภ์จนคลอดบุตร (คือสมเด็จ) นี่อ้างผิดอย่างฉกรรจ์ เพราะสมเด็จเพิ่งเกิดเมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ. ๒๓๓๑
“ปี พ.ศ. ๒๓๓๑ (จ.ศ. ๑๑๕๐) เด็กชายโต อายุได้ ๑๓ ขวบ  “สมควรที่จะทำการโกนจุกแล้ว” นี่อ้างผิดอีก เพราะ พ.ศ. ๒๓๓๑ นั้นสมเด็จท่านพึ่งลืมตาดูโลกอันอลวนนี้
“ปี พ.ศ. ๒๓๓๓ อายุสามเณรโตได้ ๑๕ ปี” นี่ก็อ้างผิดอีกตามเคย เพราะปี พ.ศ. ๒๓๓๓ สมเด็จท่านเพ่งอายุ ๒ ขวบเท่านั้น
นี่คือตัวอย่างที่อ้าง พ.ศ. ผิดพลาด แล้วสำนักพิมพ์แห่งหนึ่ง ไปคัดลอกเอามาทั้งดุ้น โดยมิได้สอบสวนให้แน่ ทำให้ผู้อ่านเข้าใจผิดกัน ในเรื่องที่เขียนไว้ผิดๆ นั้น จนเรื่องราวของสมเด็จพระพุฒาจารญ์โต ทำท่าจะเป็นเรื่องศรีธนญชัยไปเสีย เพียงแต่ผู้เขียนเพียรพยายามจะอ้างว่าสมเด็จเป็นพระราชบุตรของพระพุทธยอดฟ้าเท่านั้น
(โปรดติดตามตอนต่อไป)

วันพฤหัสบดีที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

อุตตริมนุสสธรรม ของ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ตอน สุนัขขัตตัง สุมังคะลัง

สุนักขัตตัง สุมังคะลัง
มีลูกศิษย์เจ้าปัญหา ถามว่าสุนักข์เป็นมงคลหรือ ได้ยินพระท่านสวดในงานมงคลว่า “สุนักขัตตัง สุมังคะลัง...”
สมเด็จตอบว่า เธอไม่รู้ภาษาบาลี ฉันจะแปลให้ฟัง ฟังเอาบุญนะจ๊ะ
“สุนักขัตตัง สุมังคะลัง (อันว่าดาวนักขัตฤกษ์ทั้งปวงในท้องฟ้านภากาศ ที่นับถือบูชาว่าเป็นมงคลนั้น ก็ดี)
สุปะภาตัง สุหุฏฐิตัง (อันว่าการบูชาไฟแด่พระเจ้าให้สว่างอยู่ ก็ดี)
สุขะโณ สุมุหุตโต จะ (อันว่าการบูชาไฟให้ลุกสว่างอยู่ทุกขณะไม่ให้ไฟดับเลยก็ดี)
สุยิฏฐัง พรัหมะจาริสุ (อันว่าการบูชาพระอรหันต์ผู้อยู่จบพรหมจรรย์ทั้งหลาย)
ปะทักขิณัง กายะกัมมัง (การกระทำประทักษิณด้วยกายกรรม คือเดินวนขวา ๓ รอบ)
วาจากัมมัง ปะทักขิณัง (การประทักษิณด้วยวาจากรรม คือการสวดพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ ไปในขณะเดินเวียนขวาก็ดี)
ปะทักขิณัง มโนกัมมัง (การกระทำประทักษิณด้วยมโนกรรมคือการส่งใจไปจดจ้องเคารพท่านก็ดี)
ปะณิธี เต ปะทักขิณา (ย่อมได้รับผลอันประณีตตามที่ตั้งจิตปรารถนาในการกระทำประทักษิณนั้น)
ปะทักขิณานิ กัตวานะ (การกระทำประทักษิณทั้ง ๓ ประการนี้)
ละภันตัตเถ ปะทักขิเณฯ” (ย่อมได้รับผลจากการกระทำประทักษิณทั้งหลายเหล่านี้)
การกระทำประทักษิณ คือการเดินวนขวา ๓ รอบ ในท่านผู้ที่เคารพแม้ในมิตรสหาย แม้ในภรรยา เช่นชูชกเดินประทักษิณนางอมิตดาเมื่อจะจากไปในป่า เพื่อขอสองกุมาร ชูชกเดินวนสามรอบนางอมิตดา ว่าจะเกิดการสวัสดีแก่ทั้งผู้อยู่และผู้จากไป
ในการเดินวนขวาสามรอบนั้น ท่านให้สำรวมกาย, สำรวมวาจา, สำรวมใจ, สังวรระวัง
ในรอบแรก ให้สวดพระพุทธคุณ ๕๖ (อิติปิโสฯ)
ในรอบที่สอง ให้สวดพระธรรมคุณ ๓๘ (สวากขาโตฯ)
ในรอบสาม ให้สวดพระสังฆคุณ ๑๔ (สุปฏิปันโนฯ)
รวมเป็นคุณพระรัตนตรัย ๑๐๘ ท่านจึงให้สวมพระประคำ ๑๐๘ ลูก หมายถึงสามพระรัตนตรัย ว่าอิติปิโส ๑๐๘ คาบ ท่านหมายถึงประทักษิณ ๓ รอบนี้เอง ท่านนิมนต์พระมาสวดพระพุทธคุณก็ต้องมีพระ ๑๐๘ องค์ นี่แบบโบราณแท้

(โปรดติดตามตอนต่อไป)